เคยคิดไหมว่า ถ้าวันหนึ่งได้ “เงินหลักหมื่น” มาแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น เจ้านายให้โบนัส, ได้เงินพิเศษจากบริษัท, แฟนให้ของขวัญวันครบรอบ หรือ ถูกหวย เราจะเอาเงินไปใช้อะไรดีให้เกิดประโยชน์สูงสุด?

วันนี้ aomMONEY มีแนวทางในการใช้เงิน “10,000 บาท” ตามหลักทฤษฎีอันโด่งดัง อย่าง “พีระมิดทางการเงิน” หรือ “Financial Pyramid” ที่ว่าด้วยเรื่องของการไล่ลำดับความสำคัญของการวางแผนการเงิน จากความจำเป็นขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูงสุด โดยในบทความนี้ขอแบ่งทั้งหมดเป็น 5 ลำดับ ดังนี้

1. เก็บไว้เป็น “เงินสำรองฉุกเฉิน”

➡️[Basic Need : ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน]

สำหรับเงิน 10,000 บาท ถือว่าไม่มากและไม่น้อยในการนำมาใช้เป็น “เงินสำรองฉุกเฉิน” เพราะถ้าเรามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน เงินที่ได้มาสามารถกลายเป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้ 1 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าน้อย เพราะจริงๆ แล้วเราควรจะมีอย่างต่ำเท่ากับ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือกรณีนี้ก็เท่ากับ 30,000 บาท

แต่ถ้าคนที่มีรายจ่ายไม่มากอยู่ที่เดือนละ 3,000 บาท เงินจำนวน 10,000 บาทก็สามารถเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินไว้ได้ถึง 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนเลย ซึ่งก็ถือว่าครบตามหลักการ แต่อาจจะเป็นคนส่วนน้อยที่มีรายจ่ายอยู่ในระดับนี้ เพราะหากพิจารณาจากค่าครองชีพในปัจจุบันรายจ่ายครัวเรือนไทยจะอยู่ที่ระดับหมื่นบาทขึ้นไป

มาดูกันต่อว่า ถ้ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาทต่อเดือนจริงๆ ต้องเก็บ “เงินสำรองฉุกเฉิน” เท่าไร?

เก็บ 3 เท่า = เงินฉุกเฉิน 30,000 บาท
เก็บ 6 เท่า =เงินฉุกเฉิน 60,000 บาท
เก็บ 10 เท่า = เงินฉุกเฉิน 100,000 บาท
เก็บ 12 เท่า = เงินฉุกเฉิน 120,000 บาท

2. นำไป “โปะหนี้ดอกเบี้ยสูง”

➡️[Liquidity : สภาพคล่อง]

สำหรับคนเป็นหนี้อยู่ สามารถเลือกนำเงิน 10,000 บาทไป “โปะหนี้” ได้ โดยให้เลือกโปะหนี้ที่มี “ดอกเบี้ยสูง” ก่อน เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เพราะถ้าไม่โปะจะทำให้เราเสียดอกเบี้ยเยอะ

เช่น เรามีหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 20% ต่อปี สมมุติคำนวณแบบง่ายๆ โดยที่เราไม่โปะเลย 1 ปี เราจะเสียดอกเบี้ยประมาณ 2,000 บาท (=10,000 x 0.2) ดังนั้น บางคนมองว่า ถ้าเราไม่ยอมโปะหนี้ใน 1 ปีและเสียดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ เราต้องเสียเงินไปฟรีๆ อย่างน้อย 2,000 บาท และเงินที่ได้มานั้น ถ้าคิดตามหลักค่าเสียโอกาส จะเหลือแค่ 8,000 บาทจาก 10,000 บาท เพราะได้หักสิ่งที่ต้องจ่ายไป นั่นก็คือ “ดอกเบี้ย” ไปแล้วนั่นเอง ทางที่ดีรีบเอาเงินไปโปะก่อนดีกว่า

3. ซื้อ “ประกัน” คุ้มครองความเสี่ยง

➡️[Protection : การโอนย้ายความเสี่ยง]

ปัจจุบันเงินหลัก 10,000 บาท สามารถเลือกซื้อประกันได้หลากหลายประเภท โดยเฉพาะประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มมากถึงหลัก 100,000 - 200,000 บาท เพียงแค่แลกกับการจ่ายเบี้ยประกันหลัก 10,000 บาทต่อปี หรือ ถ้าหารเฉลี่ยต่อเดือนก็จะตกอยู่ที่เดือนละ 800 กว่าบาทเท่านั้น

ดังนั้น การทำประกันจึงถือว่าเป็นการโอนย้ายความเสี่ยงที่คุ้มค่าและเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีไว้อย่างน้อย 1-2 ฉบับ เพราะหากเกิดเหตุเจ็บป่วยขึ้นมา จะได้ไม่ต้องวิ่งหาเงินหรือดึงเงินเก็บหลักแสนเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่างๆ นั่นเอง

4. ลงทุนใน “ธุรกิจหรือสินทรัพย์”

➡️[Investment : การลงทุน]

เมื่อเงินสำรองฉุกเฉินพร้อมแล้ว ซื้อประกันแล้ว หนี้ดอกเบี้ยสูงๆ ก็ไม่มี คนที่มีเงินก้อนหลักหมื่นสามารถเลือกนำเงินไปลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทำธุรกิจเอง หรือเรียกว่า “Real Investment” เช่น การเปิดร้านขายของออนไลน์ เปิดขายอาหาร Food Delivery เป็นต้น

แต่ถ้าใครไม่มีเวลาลงทุนเองก็สามารถลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางการเงินได้ หรือเรียกว่า “Financial Investment” คือการลงทุนผ่าน หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล หรือ กองทุนรวมต่างๆ นั่นเอง ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ก็จะเป็นไปตามระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ลงทุนนั้น

สมมติ นำเงิน 10,000 บาท ไปเริ่มต้นลงทุนหุ้น และสามารถลงทุนต่อได้ทุกเดือนอีก 10,000 บาท ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี จะมีเงิน 122,788 บาท แต่ถ้าลงทุนให้นานขึ้นเป็น 10 ปี จะมีเงิน 1,552,822 บาท

แต่ถ้าลงทุนเดือนละ 10,000 บาท ไม่ไหวอาจจะลองลด “0” ออกสัก 1 ตัว เหลือเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งผลตอบแทนรวมเงินต้นที่ได้ก็จะลดลงเหลือ 12,278 บาท และ 155,282 บาท เมื่อลงทุน 1 ปี และ 10 ปี ตามลำดับ ถึงแม้จะน้อยลง แต่ก็ยังกว่าที่ไม่ลงทุนอะไรเลย

5. ลงทุนใน “ความรู้”

➡️[Transfer : การส่งต่อ]

ตามหลักของ Wealth Transfer คือการส่งต่อความมั่งคั่ง เมื่อเราอยู่ในจุดที่พอใจกับทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว การส่งต่อไม่ใช่เพียงเรื่องของ “Wealth” หรือความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรู้ ประสบการณ์ และทักษะต่างๆ ที่มีได้ด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนต้องการเป็นคนที่เก่งขึ้นในทุกๆ วัน เพื่อก้าวไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุดของชีวิตที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” ดังนั้น การมี “ความรู้และทักษะ” จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ไม่ผิดเลยที่จะบอกว่า “มีเงิน 10,000 บาทแล้วจะเอาไปลงทุนในความรู้” เช่น การซื้อคอร์สเรียน การซื้อหนังสือ หรือการออกไปหาประสบการณ์ เพราะการพัฒนาที่มีค่าและมีประโยชน์ที่สุดคือการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ให้เรากลายเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการในสายงานนั้นๆ เชื่อว่าสิ่งที่ได้กลับคืนมาจากเงิน 10,000 บาท นั้นคุ้มค่ากว่าที่คิดแน่นอน

เขียนโดย: วัฒนา มะสันเทียะ