“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า”

เชื่อว่าหลายคนน่าจะยังจำประโยคท่องจำก่อนทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนสมัยยังเป็นเด็กได้เป็นอย่างดี คำกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะสอนให้เราเห็นคุณค่าของอาหารในจานที่วางข้างหน้าแล้ว

มันยังเป็นการปลูกฝังไม่ให้เรากินเหลือทิ้งขว้าง ซึ่งแม้จะไม่รู้ตัว แต่การสร้าง “ขยะอาหาร” ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน เนื่องจากกระบวนการกำจัดขยะอาหารทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีกด้วย

ผลกระทบที่ตามมาคือเกษตรกรเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาก อาหารจึงมีราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ การกำจัดขยะอาหารแบบไม่ถูกวิธียังก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย โดยค่าใช้จ่ายด้านอาหารและสุขภาพที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในความเป็นจริงแล้ว ขยะอาหาร (food waste) คือเศษอาหารเน่าเสียที่ไม่สามารถนำมาบริโภคต่อได้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบ การปรุงและตกแต่งจานอาหาร ไปจนถึงการบริโภคอาหารพร้อมทาน

ทีมงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) ได้ประเมินว่าปริมาณขยะอาหารที่ถูกทิ้งโดยครัวเรือน ธุรกิจที่ให้บริการด้านอาหาร เช่น โรงแรมหรือภัตตาคาร และร้านค้าปลีกในประเทศไทยมีมากถึง 8.5 ล้านตันต่อปี สูงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก และอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

โดย 65% ของปริมาณขยะอาหารมาจากครัวเรือน ขณะที่อีก 23% และ 13% มาจากธุรกิจที่ให้บริการด้านอาหาร และร้านค้าปลีก ตามลำดับ สะท้อนว่าครัวเรือนไทยมีอาหารส่วนเกิน (food surplus) หรืออาหารที่ซื้อมาเกินกว่าความต้องการบริโภคอยู่ไม่น้อย หากไม่สามารถบริโภคได้ทันวันหมดอายุ อาหารส่วนเกินเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะอาหารในที่สุด

ผู้บริโภคประเภทไหนที่มีแนวโน้มสร้างขยะอาหาร

งานศึกษาในอดีตชี้ว่าพฤติกรรมการสร้างขยะอาหารขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

ปัจจัยเฉพาะตัวของผู้บริโภค (individual factors)

คุณลักษณะของตัวผู้บริโภคเองมีผลต่อพฤติกรรมการสร้างขยะอาหารอย่างมาก แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ถึงผลเสียของการสร้างขยะอาหารต่อโลกใบนี้ ตัวอย่างเช่น

- ทัศนคติที่มีต่ออาหาร

ผู้บริโภคที่เห็นคุณค่าของอาหารมีแนวโน้มจะกินทิ้งกินขว้างน้อยกว่า ขณะที่ผู้บริโภคที่ชอบทานอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย อาจสร้างขยะอาหารมากกว่า

- อายุ

ยิ่งผู้บริโภคมีอายุมากเท่าขึ้น ก็มีทักษะในการบริหารจัดการวัตถุดิบและเศษอาหารตกค้างในครัวเรือนได้ดีมากกว่า นอกจากนี้ คนอายุมากที่เคยผ่านช่วงเวลาอดมื้อกินมื้อจะเห็นคุณค่าของการบริโภคอาหารที่มีอยู่ให้หมดมากกว่าคนอายุน้อยที่ยังไม่มีประสบการณ์แบบนั้น

- อาชีพ

คนที่ทำงานประจำแบบเต็มเวลามีแนวโน้มสร้างขยะอาหารมากกว่า เนื่องจากยุ่งจนไม่มีเวลามาใส่ใจเรื่องอาหารการกินในบ้าน

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (economic factors)

งานศึกษาหลายงานใช้ข้อมูลรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนมาหาความสัมพันธ์กับปริมาณขยะอาหาร เช่น การคำนวณสัดส่วนรายจ่ายด้านอาหารต่อรายได้ เพื่อซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการครองชีพ (living standards) โดยสัดส่วนรายจ่ายด้านอาหารต่อรายได้ที่ต่ำสะท้อนถึงมาตรฐานการครองชีพที่สูง ซึ่งอาจส่งผลให้คนในครัวเรือนเห็นคุณค่าของอาหารลดลงและสร้างขยะอาหารมากขึ้น

นอกจากนี้ การระบาดของ COVID-19 ที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมการสร้างขยะอาหารเช่นกัน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเห็นแค่ผลในระยะสั้นที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงพยายามป้องกันไม่ให้มีขยะอาหาร ขณะที่ชาวอิตาลีเร่งซื้ออาหารในช่วงที่มีการระบาด เพราะกลัวว่าของจะขาดตลาด ส่งผลให้ขยะอาหารเพิ่มขึ้น

ปัจจัยทางสังคม (social factors)

องค์ประกอบของสมาชิกในครอบครัวที่ต่างกันอาจทำให้ครัวเรือนสร้างปริมาณขยะอาหารมากน้อยไม่เท่ากัน เช่น งานศึกษาในประเทศตุรกีพบว่าครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกอายุน้อยที่มีการศึกษาสูง ทำงานประจำ และไม่มีลูก จะไม่ค่อยสนใจเรื่องการวางแผนมื้ออาหาร ทำให้สร้างขยะอาหารมากกว่า อย่างไรก็ตาม งานศึกษาในประเทศอังกฤษกลับพบว่าครอบครัวที่มีเด็กอาศัยอยู่ด้วยมีแนวโน้มสร้างขยะอาหารมากกว่า เพราะเด็ก ๆ มักจะทานอาหารในจานไม่หมด

ปัจจัยทางวัฒนธรรม (cultural factors)

วัฒนธรรมการกินและการเฉลิมฉลองมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดขยะอาหารทั่วโลก เช่น การจัดงานแต่งงานอย่างหรูหราที่มีอาหารจำนวนมากไว้ต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน การทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่มักจะมีการสั่งอาหารจานกลางมาแบ่งกัน หรือแนวคิดที่ว่าอาหารเต็มโต๊ะบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมที่มีระดับ ซึ่งวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานนั้นยากที่จะเปลี่ยนแปลง

โดยสรุป การสร้างขยะอาหารไม่ได้ถูกกำหนดโดยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่เกิดจากปัจจัยมากมายที่หลอมรวมกันเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม การทำความเข้าใจกลไกความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภค รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบายสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายและลดการสร้างขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เราจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้อย่างไรบ้าง

วิธีการลดปริมาณขยะอาหารที่ทำได้ง่ายและสามารถทำได้ทุกคนคือการลดปริมาณอาหารส่วนเกินในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการลดอาหารส่วนเกินในชีวิตประจำวันมากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นแอปพลิเคชันที่ช่วยวางแผนการซื้อวัตถุดิบเฉพาะที่จำเป็นสำหรับทำอาหารแต่ละมื้อ หรือแอปพลิเคชันที่ช่วยเตือนความจำว่ามีวัตถุดิบหรืออาหารในตู้เย็นอันไหนบ้างที่กำลังจะหมดอายุ

แม้กระทั่งแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ผู้ขายที่ขายอาหารไม่หมดกับผู้ซื้อที่ยินดีซื้ออาหารเหล่านั้นในราคาที่ถูกลง ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น เทคโนโลยีจึงมีส่วนช่วยผู้บริโภคในการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดรายจ่ายด้านอาหารที่ไม่จำเป็นไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยแล้ว ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฉลากอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยผู้บริโภคจำนวนมากยังสับสนระหว่างคำว่า “Best Before” และ “Expired Date” ซึ่ง “Best Before” ใช้ระบุวันที่ควรบริโภคก่อนที่คุณภาพของอาหารจะลดลง ขณะที่ “Expired Date” คือวันที่บอกว่าอาหารเริ่มเน่าเสียแล้ว หากนำมาบริโภคจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย

ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็สามารถปรับพฤติกรรมด้วยการตักอาหารให้น้อยลง หรือลดขนาดจานเพื่อลดปริมาณอาหารที่ทานเหลือในแต่ละมื้อลง ทั้งนี้ การเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับฉลากอาหารควรทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม เพื่อลดปริมาณอาหารส่วนเกินในครัวเรือนอย่างยั่งยืนมากขึ้น

สิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากถึงผู้อ่านทุกท่านคืออย่าคิดแค่ว่าวันนี้เรายังทำงานอยู่ มีรายได้เข้ามาตลอด จะกินบ้าง ทิ้งบ้างก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะขยะอาหารที่เราร่วมกันทิ้งคนละนิดอาจสร้างผลกระทบต่อตัวเราและลูกหลานในวันข้างหน้า และมันจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราจะประหยัดเงินในกระเป๋าด้วยการบริโภคเท่าที่จำเป็น เพื่อเก็บออมไว้ใช้จ่ายในยามที่ล้มป่วยหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

=======================
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ
เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย
Email: PirayaR@bot.or.th
=======================