“ความตาย กับ ภาษี คือ 2 สิ่งที่ไม่มีใครหลีกหนีได้” ประโยคอมตะของ Benjamin Frankin หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มักจะถูกกล่าวอ้างถึงอยู่เสมอ แต่แม้ทั้งความตาย ภาษี จะหนีไม่ได้ แต่เราก็ยังสามารถบริหารได้

อย่างเช่น ในเรื่องภาษี เราสามารถบริหารภาษีให้เสียภาษีน้อยลงหรือไม่เสียได้ แต่ต้องถูกกฎหมาย โดยก่อนอื่น เราต้องเข้าใจความหมายของการวางแผนภาษีให้ดีก่อน

การวางแผนภาษี (Tax Planning)

คือ การนำสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง โดยไม่ผิดกฎหมาย

การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance)

คือ การใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง โดยเข้าใจว่าไม่ผิดกฎหมาย (ซึ่งอาจจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมายก็ได้)

การหนีภาษี (Tax Evasion)

คือ การหลบเลี่ยงไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง โดยฝ่าฝืนกฎหมาย

จากหลักการคิดภาษีของสรรพากร จะคิดจาก “เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี”
และเงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

ดังนั้น การบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง มี 3 กลยุทธ์หลักๆ (1) ทำลายเงินได้พึงประเมิน (2) เพิ่มค่าใช้จ่าย (3) เพิ่มค่าลดหย่อน ซึ่งค่าลดหย่อนเป็นสิ่งที่เราเลือกเองได้ว่าจะลือกใช้ตัวช่วยไหนดี

ในส่วนค่าลดหย่อนทั้งหมด ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการออมเพื่อเกษียณ เป็นค่าลดหย่อนที่น่าสนใจที่สุดเพราะเงินที่จ่ายเพื่อซื้อประกันหรือออมเพื่อเกษียณ มันไม่ได้หายไปไหน ยังเป็นเงินของเราอยู่ และประโยชน์ก็เกิดกับเราและคนที่เรารัก นอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้เพิ่มก็คือ ประโยชน์ทางภาษีแบบ 2 เด้ง คือ เงินที่ออมลดหย่อนภาษีได้ ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี

ซึ่งหากเรามีกำลังทรัพย์ที่เพียงพอ เราก็ควรใช้สิทธิทางภาษีของประกันและการออมเพื่อเกษียณให้เต็มเพดานที่สรรพากรให้ แต่หากเรามีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ ต้องเลือกเพียงอย่างเดียว เราควรเลือกอย่างไรดี คำถามที่มักจะพบบ่อยๆ ก็คือ

“ถ้ามีเงินจำกัด ต้องเลือกเพียงอย่างเดียว ระหว่าง RMF กับ ประกันชีวิต ควรซื้อตัวไหน”

การจะตอบคำถามนี้ เราก็ต้องพิจารณถึงความสำคัญของ RMF กับ ประกันชีวิต ว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

ในชีวิตคนเรามีความกลัวมากมาย แต่ความกลัวหนึ่งที่ทุกคนมี คือ

➡️ กลัวว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต
เช่น การเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร

➡️ กลัวว่าถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต
เช่น การมีชีวิตยืนยาวกว่าเวลาอันควร

ทั้ง 2 อย่างมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกคน และมีความเสียหายที่มากเช่นกัน แต่หากถามว่าระหว่างความกลัวทั้ง 2 อย่างนี้ เรากังวลหรือกลัวเหตุการณ์ไหนมากกว่ากัน

คนส่วนใหญ่จะกลัวว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตมากกว่า เพราะแทบทุกคนมักมีความห่วงใยคนที่ข้างหลัง ไม่ว่าจะห่วงการศึกษาของลูกว่าจะหาค่าเทอมจากไหน ครอบครัวจะมีเงินใช้จ่ายได้อย่างไร ฯลฯ

ภาระทางการเงินเหล่านี้ย่อมใช้เงินจำนวนที่สูงมาก หากเรามีชีวิตอยู่ การทำงาน การออม หรือ การลงทุน อาจช่วยให้เราสามารถจัดการภาระทางการเงินเหล่านี้ได้ แต่ต้องใช้เวลา หากเรามีเวลา RMF จะตอบโจทย์ได้ดี ดังนั้น RMF หรือการลงทุนจะตอบโจทย์ “ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา” ได้ดี

แต่ “ถ้ามีอะไรเกิด” ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า เหมือนอย่างสุภาษิตธิเบตที่กล่าวว่า “พรุ่งนี้ กับ ชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรมาถึงก่อน” ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเดียวที่สามารถสร้างเงินที่ต้องการได้ในวันเดียว หากชาติหน้ามาถึงก่อน คือ “ประกันชีวิต”

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ปิรามิดการเงิน จึงจัดให้การบริหารความเสี่ยง อยู่ฐานของปิรามิดทางการเงิน และไม่แปลกที่รายงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า เศรษฐีไทยซื้อประกันชีวิตเพื่อรองรับ “ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต” ดังนี้

(1) ให้ธุรกิจดำเนินการต่อเนื่องได้
(2) วางแผนส่งต่อมรดก
(3) เป็นหลักประกันให้กับครอบครัว

ดังนั้น หากถามว่าระหว่าง “ประกันชีวิต กับ RMF” อะไรควรซื้อ คำตอบก็น่าจะเป็น “RMF” ส่วนประกันชีวิต “จำเป็น” ต้องซื้อ