“ไปกินอาหารญี่ปุ่นร้าน xxx กันไหมมึง?”

แชตของเพื่อนคนหนึ่งเด้งเข้ามาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

ผมมองชื่อร้านแล้วก็คิดในใจว่า “อื่อหือ...ไปร้านนี้ต่ำ ๆ คือหลักพันขึ้นไปแน่นอน”

สักพักก็พิมพ์ตอบกลับไป “ช่วงนี้งานเยอะมึง ต้องเตรียมโปรเจกต์ใหม่ด้วย เดี๋ยวไว้นัดกันอีกทีนะ”

เพื่อนก็ยกนิ้วโป้งมาให้เชิงรับรู้ว่าเราคงไม่ได้เจอ

เอาตามความจริง งานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พอเราโตขึ้น ความสัมพันธ์กับเพื่อนก็เริ่มห่างกันไป จังหวะชีวิตไม่ตรงกัน แต่อีกสาเหตุหนึ่งหลัก ๆ อีกอย่าง พูดได้อย่างไม่อายคือเรื่องเงิน เราใช้ชีวิตวิ่งตามไลฟ์สไตล์ของคนอื่นไม่ได้แล้ว แม้จะรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ไปนั่งทานข้าวคุยกัน แต่ในขณะเดียวกันก็สงสารเงินในกระเป๋าตัวเองเหมือนกัน

ขาดเพื่อนเรายังพออยู่ได้นะ แต่ขาดเงินนี่จะอยู่ยากเอา

ผมไม่เป็นหนึ่งในชาวมิลเลนเนียลที่ (ถ้าจำเป็น) ก็พร้อมที่ตัดความสัมพันธ์ของเพื่อนบางคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ใช้เงินอย่างร่ำรวยกว่าตัวเองมาก ๆ ออกไป เพื่อความปลอดภัยของเงินในกระเป๋าตังค์และบัญชี

ถ้าเพื่อนชวนไปกินหรู อยู่แพง จนทำให้เรารู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ผมรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แปลกอะไรที่จะปฏิเสธไป เพราะแม้มิตรภาพจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำให้เงินในบัญชีหายไปด้วย ต้องเริ่มชั่งแล้วครับว่าคุ้มกันไหม

ที่จริงประเด็นนี้มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทำโดย Credit Karma (บริษัทการเงินส่วนบุคคลสัญชาติอเมริกัน) เมื่อไม่นานมานี้รองรับด้วยเช่นกัน ในรายงานนี้บอกว่า 1/3 (36%) ของคน Gen Z และ Millennial จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คน บอกว่ามีเพื่อนที่มักจะชวนไปใช้เงินมากเกินไปเสมอ หลายคนต้องก่อหนี้เพื่อให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์ตามเพื่อน สุดท้ายตัวเองก็ไม่ไหวต้องเลิกคบเพื่อนกลุ่มนั้นอยู่ดี

ว่าไปแล้วในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ มนุษย์เงินเดือนมากมายใช้เงินแบบเดือนชนเดือน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าคนส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงความกังวลและใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

สำหรับคนรุ่นผมแล้วสถานการณ์ดูจะยิ่งเลวร้ายกว่าสักเล็กน้อย เพราะอย่าลืมว่าด้วยอายุที่มากขึ้น นั่นหมายความว่าเพื่อนหลาย ๆ คนนั้นอาจจะอยู่ในตำแหน่งหัวหน้า ผู้บริหาร หรือเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โตไปแล้ว เพราะฉะนั้นช่องว่างของไลฟ์สไตล์ก็อาจจะแตกต่างกันเยอะมาก ๆ ด้วย จากการศึกษาชิ้นเดียวกันก็บอกว่ามิลเลนเนียลกว่า 88% บอกว่าเพื่อนที่ใช้เงินเก่ง มีไลฟ์สไตล์หรูหรานั้นพาพวกเขาติดหนี้ไปด้วย (สำหรับ Gen Z ตัวเลขนี้จะอยู่ที่ราว ๆ 80%)

แถมไม่พอ ชาวมิลเลนเนียลในเวลานี้คือกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิต บางคนอาจจะเปลี่ยนงาน แต่งงานสร้างครอบครัว วางแผนเกษียณ หรือบางคนกำลังจะมีลูก เพราะฉะนั้นเรื่องเงินบอกเลยครับว่าช่วงนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทุกคนต้องหันกลับมาจริงจังกับเรื่องเงินมากขึ้น บางทีเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อุบัติเหตุ ล้มป่วย หรือตกงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบกับความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนได้ทั้งสิ้น

เศรษฐกิจแบบนี้ รายได้ก็ไม่ได้มาก ของก็แพง หนี้บ้าน หนี้รถ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่ยิ่งถูกถ่างออกมาขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกครับที่เราจะรู้สึกกดดันและเหนื่อยเกินไปในการวิ่งไล่ตามไลฟ์สไตล์คนอื่นที่ร่ำรวยกว่าเรา

คนที่ตอบแบบสอบถามส่วนหนึ่งบอกว่าเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธการชักชวนได้เพราะไม่อยากเสียเพื่อน ไม่อยากทำตัวแปลกแยก อยากรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ไปกินเลี้ยง แฮงเอาต์ ชอปปิงกัน อีกบางส่วนก็บอกปฏิเสธไม่เป็น อาจจะด้วยความอาย ไม่อยากให้เพื่อนรู้ว่าตัวเองไม่มีเงินด้วยเช่นกัน

กลายเป็นว่าสำหรับหลายคนสิ่งที่ง่ายกว่าการบอกปฏิเสธหรือหาข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการเชิญชวน คือการตัดสายสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ร่ำรวยกว่าไปเลย และหันไปใช้เวลากับกลุ่มเพื่อนที่มีฐานะการเงินหรือความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยคล้ายกันดีกว่า

โดยกลุ่ม​ Gen Z กว่า 47% และมิลเลนเนียลกว่า 36% บอกว่า (ถ้าจำเป็น) ก็พร้อมจะตัดความสัมพันธ์ของเพื่อนที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่จะพาไปจน ซึ่ง Gen Z 33% และมิลเลนเนียล 29% รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญที่เพื่อนของพวกเขาจะมีรายได้ใกล้เคียงกันด้วย

การใช้เงินเพื่อพยายามตามคนอื่นหรือเข้าสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ เราอาจจะเคยได้ยินสำนวนภาษาอังกฤษที่พูดว่า ‘Keep up with the joneses’ หรือหมายถึงการพยายามทำตัวใช้เงินเพื่อให้เหมือนกับครอบครัวอื่น ๆ นั่นเอง

ที่จริงเรื่องนี้วิธีแก้ก็พอจะมีอยู่ ถ้าเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกัน ก็บอกไปเลยตรง ๆ ว่าไม่ใช่ไม่อยากใช้เวลาด้วยกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์การเงินไม่เอื้ออำนวยสักเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้ก็ค่อนข้างละเอียดอ่อนอีก เพราะส่วนใหญ่แล้วพอเป็นเรื่องเงิน คนส่วนใหญ่ก็จะไม่อยากแชร์สักเท่าไหร่เพราะไม่อยากโดนคนอื่นตัดสิน

การตัดเพื่อนสักคนออกจากชีวิตเพราะนิสัยการเงินหรือไลฟ์สไตล์การใช้เงินไม่เหมือนกันนั้นอาจจะฟังดูดราม่าสักหน่อย บางคนอาจจะคิดว่าต้องถึงขั้นตัดเพื่อนเลยเหรอ แต่อย่าลืมว่าเป้าหมายการเงินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าการใช้ชีวิตตามเพื่อน กิน ใช้ มากเกินกว่าที่เราวางแผนเอาไว้ ระยะยาวแล้วความเสียหายจะเกิดขึ้นกับเราเอง เพื่อนไม่ได้มาแบกรับภาระตรงนี้ด้วยสักนิด

เพราะฉะนั้นจำไว้ว่าปฏิเสธให้เป็น ถ้าอันไหนอึดอัดก็อย่าทำ ไม่ต้องไปคิดว่าเดี๋ยวจะเสียเพื่อน เพื่อนจะไม่คบ ปล่อยเขาไปเหอะ เราใช้ชีวิตในแบบของเราที่มีความสุขดีกว่า และที่สำคัญอย่าลืมว่าเราไม่มีทางรู้หรอกว่าเพื่อนที่มาชวนนั้นกระเป๋าลึกจริง ๆ ไหม หรือก็เดือนชนเดือน ใช้บัตรนู้นโป๊ะบัตรนี้อยู่ตลอดเวลาอยู่รึเปล่าเราก็ไม่มีทางรู้ได้

ถ้าโดนชวนทำอะไรแล้วรู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด เราอาจจะต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธคนอื่นให้เป็น

ขาดเพื่อนเราไม่ตายหรอก แต่ถ้าขาดเงินเราเองนี่แหละจะลำบาก