แม้ว่าตอนนี้ Gen Z และ Millennials ที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานจะมีโอกาสสร้างรายได้มากกว่ารุ่นก่อนๆ แต่กลับกำลังเผชิญปัญหาว่าเงินที่ได้มา ไม่เพียงพอที่จะเอาไปลงทุน แม้จะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ควรทำสำหรับอนาคตก็ตาม

แบบสอบถาม “Youth & Money” ที่ทำโดยเว็บไซต์ CNBC กับ Generation Labs ที่สำรวจคนรุ่นใหม่อายุ 18-34 ปีในอเมริกากว่า 1,013 คน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่า

63% ของคนรุ่นใหม่เชื่อว่าการลงทุนในตลาดหุ้นคือหนทางที่ดีในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ได้ไปมีส่วนร่วมในการลงทุนตรงนั้นเลย และ 61% ไม่มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนด้วยซ้ำ

เหตุผล/ปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อความสามารถในการเก็บออม/ลงทุนในแต่ละเดือนของพวกเขาลง

มีเพียง 11% เท่านั้นที่บอกว่ามีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายอีกหนึ่งปี ถ้าวันนี้เกิดตกงานและไม่มีรายได้เข้ามาเลย

และที่น่าตกใจคือเกือบครึ่ง (48%) บอกว่าถ้าตกงานวันนี้ ไม่มีรายได้เลย จะมีเงินใช้จ่ายไม่เพียงพอสำหรับสองเดือนด้วยซ้ำ

“เราไม่สามารถมองข้าม [ความสำคัญของ] ประเด็นนี้ได้” ไซรัส เบสชลอส (Cyrus Beschloss) ผู้ก่อตั้ง Generation Lab (บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล ศึกษาคนหนุ่มสาว และแนวโน้มที่กำหนดอนาคต) บอก

หากเราจะโทษว่าเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถลงทุนหรือออมเงินสำหรับช่วงเวลาฉุกเฉินมากพอมาจากนิสัยการเงินที่ไม่ดี ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอย่างเดียวคงไม่ถูกต้องนัก เพราะอย่างที่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราสูงขึ้นมากในปัจจุบัน

เบสชลอสเล่าต่อว่า “พวกเขาทั้งตัดค่าใช้จ่าย ทิปน้อยลง ใช้เงินในการกินข้าวนอกบ้านน้อยลง อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้ทำตัวเหมือนว่าเศรษฐกิจกำลังดีอยู่เลย” แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ

พวกเขาอยากลงทุน…เพียงแต่แค่ยังทำไม่ได้

จากแบบสอบถามเดียวกันพบว่า หากดูเพียงแค่รายได้ของคนกลุ่มนี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่า 32% มีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 10% เพิ่มขึ้นเยอะมาก ส่วนที่เหลือก็เท่าๆ เดิม

เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนี้แทบไม่มีเงินสดเหลือเก็บเลยเมื่อถึงสิ้นเดือน

คลิฟฟอร์ด คอร์เนล (Clifford Cornell) นักวางแผนทางการเงินและที่ปรึกษาทางการเงินที่ Bone Fide Wealth ในนิวยอร์ก บอกว่า “นี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าทำไมคนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เก็บออมสำหรับวัยเกษียณเลย ทำไมคนอยากจะลงทุนเพียงแต่แค่ทำไม่ได้ในตอนนี้”

3% บอกว่าหาเงินได้มากพอที่จะ ‘อยู่ได้อย่างสบายเลย’ อีก 18% บอกว่ามีมากพอที่จะ ‘อยู่ได้สบาย’ และมีมากถึง 38% (4 ใน 10 คน) บอกว่าต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือนในเวลานี้

คอร์เนลบอกว่า “พวกเขารู้ว่าตัวเองต้องมีเงินสำรอง รู้ว่าต้องมีเงินสำรองสองสามเดือนสำหรับใช้จ่ายก่อนที่จะมองหาการลงทุนในบัญชีเพื่อการเกษียณ”

เมื่อไปมองเรื่องที่อยู่อาศัย 40% บอกว่าพวกเขาอาศัยอยู่กับครอบครัว (บ้านพ่อแม่ผู้ปกครอง) 27% อยู่กับเพื่อนร่วมห้อง (roommate) และมีเพียง 13% เท่านั้นที่อาศัยอยู่ด้วยตัวเอง

สำหรับคนไทยที่โครงสร้างสังคมเป็นแบบครอบครัวขยาย เรื่องนี้อาจจะไม่ได้แปลกมาก แต่สำหรับในสังคมตะวันตกที่ส่วนใหญ่พอเป็นผู้ใหญ่ (18-20 ปี) หลังจากเริ่มทำงาน หาเงิน เมื่อก่อนก็จะย้ายออกไปอาศัยอยู่ด้วยตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว

ด้วยค่าเช่าบ้านที่แพงมากขึ้น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่าตอนนี้คนใช้เงินมากกว่า 30% จากรายได้ไปกับค่าที่อยู่อาศัย (ค่าเช่าบ้าน/ผ่อนบ้าน) ซึ่งทำให้เงินที่เหลือสำหรับใช้จ่ายอื่นๆ น้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย

ซูซาน เอ็ม. วอคเตอร์ (Susan M. Wachter) ศาสตราจารย์ด้านอสังหาริมทรัพย์และการเงินที่ The Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย บอกว่าหากเทียบตามสถิติกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ยังอาศัยอยู่บ้านพ่อแม่ตอนนี้มันคล้ายกับช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงปี 1940 เลยทีเดียว

โดยวอคเตอร์อธิบายว่าตอนนี้ราคาบ้านแพงขึ้นมาก คนที่เคยคิดว่าจะซื้อบ้านก็ซื้อไม่ได้ สุดท้ายเลยต้องตัดสินใจเช่าบ้านอยู่ก่อน ตรงนี้ทำให้ตลาดห้องเช่ามีลูกค้าเยอะขึ้น (Demand สูง) แต่จำนวนห้องเช่าไม่พอ (Supply ต่ำ)​ ดันให้ราคาในตลาดสูงขึ้นไปอีก

คนที่เคยเช่าบ้านอยู่บางคนก็ต้องตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่จนกว่าจะหารายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม หรือรอให้หาห้องเช่าที่พอจะจ่ายไหวถึงจะค่อยตัดสินใจย้ายออกอีกที

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าคนรุ่นใหม่รู้ไหมว่าควรเก็บเงินเผื่อฉุกเฉินและลงทุนสำหรับ คำตอบคือ ‘รู้’ เพียงแต่ตอนนี้สถานการณ์มันไม่เอื้ออำนวย และเงินที่หาได้…ก็แค่ไม่มากพอ