ย้อนกลับไปเมื่อปี 1987 โลกมีประชากรเพียง 5,000 ล้านคน ภายใน 35 ปีถัดมา เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านคน แต่ปริมาณทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น พื้นที่อยู่อาศัย หรือผลผลิตทางการเกษตร กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเช่นเดียวกับจำนวนประชากร

ส่งผลให้คนรุ่นถัดไปอาจต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดมากกว่าคนรุ่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกภูมิภาคบนโลกที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้

องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ประเมินว่าภายในปี 2050 หรืออีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า ยุโรปจะเป็นภูมิภาคเดียวที่มีประชากรลดลง ขณะที่แอฟริกาจะมีประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

หรือแม้กระทั่งประเทศในภูมิภาคเดียวกันก็ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น จำนวนประชากรในไทยคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2033) จะเริ่มลดลง แต่ในขณะเดียวกันจำนวนประชากรในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันสูงกว่าไทยเกือบ 4 เท่า จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเริ่มลดลงในปี 2063 หรือช้ากว่าไทยถึง 30 ปี

ดังนั้น การออกนโยบายเพื่อการบรรเทาสถานการณ์ด้านประชากรที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละประเทศจึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ประชากรแออัด : บ่อเกิดของปัญหาทางสังคม

บทเรียนจากอดีตมากมายสะท้อนถึงความยากลำบากของการใช้ชีวิตในประเทศที่มีประชากรแออัด

ยกตัวอย่างกรณีของจีนที่ครองอันดับ 1 ของประเทศมีประชากรมากที่สุดและแออัดที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน (ก่อนจะถูกแซงหน้าโดยอินเดียที่ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนในปี 2023) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 จีนต้องประสบกับภาวะความอดอยากครั้งใหญ่ (Great Chinese Famine) ที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

เป็นผลจากการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาลภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสนับสนุนให้ชาวบ้านมีลูกมาก ๆ เพื่อมาช่วยกันทำมาหากิน ขณะเดียวกันก็ต้องการส่งออกข้าวเพื่อนำเงินมาพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงเกณฑ์ชาวนาให้มาทำงานในอุตสาหกรรมเหล็กแทน

ส่งผลให้ปริมาณอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศที่มีมากถึง 600 กว่าล้านคนในช่วงเวลานั้น ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องการแจกจ่ายอาหารที่ไม่ทั่วถึง สุดท้ายมีผู้คนล้มตายไปถึง 55 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรของสหราชอาณาจักรทั้งประเทศในเวลานั้น ซึ่งความผิดพลาดดังกล่าวมีส่วนทำให้รัฐบาลของเติ้งเสี่ยวผิงบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียว (One-child Policy) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980

แม้นโยบายลูกคนเดียวที่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดจะทำให้จีนประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราการเกิด แต่ตัวเลขประชากรสะสมที่เกินระดับ 1,000 ล้านคนมาตั้งแต่ปี 1982 กลับส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมในเวลาต่อมา

โดยคนจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงตั้งแต่ในวัยเรียน สะท้อนจากโอกาสในการสอบติดมหาวิทยาลัยที่มีไม่ถึง 10% อีกทั้งบัณฑิตจบใหม่ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่งานหายากแต่ค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวชาวจีนยุคใหม่มีลูกเพียงคนเดียว จึงทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้ลูกมีการศึกษาและอนาคตที่ดี ซึ่งเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะย่อมมีทางเลือกมากกว่า โดยพ่อแม่บางส่วนเลือกที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ หรือส่งเสียให้ลูกเรียนต่อจนจบปริญญาโทหรือเอกก่อนแล้วถึงค่อยเข้าสู่ตลาดแรงงาน

จะเห็นได้ว่าการบังคับใช้นโยบายด้านประชากรที่ควบคุมเฉพาะ “จำนวน” อย่างเดียวได้ผลแค่ในระยะสั้น ขณะที่ปัญหาทางสังคมที่เกิดจากความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรต้องอาศัยนโยบายอื่นมาช่วยแก้ไขในระยะยาว เช่น การกระจายความเจริญจากเมืองสู่ชนบทเพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานทำ

เด็กเกิดน้อย คนแก่ตายช้า : แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่หายไป

ในอีกด้านหนึ่ง พลเมืองของประเทศพัฒนาแล้วและประชากรกลุ่มรายได้สูงในหลายประเทศกลับสมัครใจที่จะอยู่เป็นโสด หรือแต่งงานแต่เลือกที่จะไม่มีลูกด้วยเหตุผลนานาประการ เช่น ทำงานหนักจนไม่มีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัว ไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในเลี้ยงดูลูก หรือไม่อยากให้ลูกต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้อัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าก็ช่วยให้คนแก่มีอายุยืนยาวขึ้น ผลที่ตามมาคือการขาดแคลนประชากรวัยทำงานที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ มีกำลังซื้อ และมีความสามารถในการจ่ายภาษีให้รัฐบาลนำไปลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับคนชราจำนวนมากที่ไม่มีรายได้และเงินออมที่เพียงพอ ทำให้เกิดความกังวลว่าประเทศที่มีแต่ผู้สูงอายุจะขาดแรงขับเคลื่อนจนนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐบาลของประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) พยายามออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนประชากรวัยแรงงานในหลายรูปแบบ ซึ่งหลายนโยบายก็ไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่ดีนัก

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกธรรมนูญสำหรับสร้างความสมดุลระหว่างงานและชีวิต (work-life balance) มาตั้งแต่ปี 2009 รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ชายใช้เวลาเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้านมากขึ้น และกำหนดยุทธศาสตร์ฟื้นฟูญี่ปุ่นขึ้นในปี 2015 โดยตั้งเป้าให้ผู้ชายใช้วันลาเพื่อเลี้ยงดูลูกมากขึ้น แต่นโยบายเหล่านี้กลับไม่ช่วยให้อัตราการเกิดในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเลย

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังเปิดรับแรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเปิดรับเฉพาะแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง เช่น แพทย์ นักกฎหมาย และวิศวกร รวมถึงแรงงานที่เป็นคู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น และเปิดรับแรงงานไร้ฝีมือเฉพาะกลุ่มที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวญี่ปุ่นเท่านั้น

ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหันไปแก้กฎหมายเพื่อขยายอายุเกษียณแทน ซึ่งอนุญาตให้แรงงานทำงานจนถึงอายุ 70 ปี อย่างไรก็ตาม การขยายอายุเกษียณจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ก็ต่อเมื่อแรงงานสูงอายุยังมีสุขภาพแข็งแรง และมีทักษะที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานในยุคปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนอยากฝากถึงทุกท่านคือ ณ เวลานี้ ปัญหาด้านประชากรไม่ได้อยู่ที่ “จำนวน” ว่ามากหรือน้อยเกินไป แต่อยู่ที่ว่าจะทำให้ “คุณภาพ” ของประชากรเพิ่มขึ้นได้อย่างไรมากกว่า

แม้ประเทศจะเต็มไปผู้สูงอายุแต่ถ้าเราส่งเสริมให้คนแก่ตัวลงอย่างมีคุณภาพได้ ผ่านการปลูกฝังให้คนเรียนรู้ตลอดชีวิต ดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย และปรับตัวให้เข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตในยามชราง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนด้วย

-----------------------------------
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ
เจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย
Email: PirayaR@bot.or.th