จอห์น ดอนน์ (John Donne) กวีชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 15 เขียนเอาไว้ได้อย่างคมคายว่า

“ความตายมาหาเราทุกคนไม่ต่างกัน และทำให้เราทุกคนเท่าเทียมกันเมื่อมันมาถึง”

วันหนึ่งเมื่อเวลามาถึง ทุกคนจะจากโลกใบนี้ไป ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม

แล้วถ้าวันหนึ่งมนุษย์สามารถอยู่ได้ตลอดไปจะเป็นยังไง? อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของร่างกายเนื้อหนังมังสาเหมือนที่คุ้นเคยกันอยู่นี้ แต่ในรูปแบบของบอตที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย AI

มันเป็นไปได้ และมันกำลังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ “เทคโนโลยีแห่งความอาลัย” (“Grief Tech”) กำลังเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลที่หลงเหลืออยู่ของผู้ที่หมดลมหายใจ จากโลกนี้ไปแล้ว ให้กลับมาเป็นบอต AI สร้างธุรกิจหารายได้จากความคิดถึงและโหยหาคนใกล้ชิดที่ตายไปจากคนที่อยู่ข้างหลัง จนเกิดเป็นคำถามด้านศีลธรรมความเหมาะสมว่านี่คือสิ่งที่สมควรทำรึเปล่า

สื่อสารกับคนที่ตายไปแล้ว_(แบบดิจิทัล)

ซันชาย เฮนเล (Sunshine Henle) ส่งข้อความไปหาแม่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถามว่าตอนนี้แม่หายไปไหน คิดถึงมากๆ เลยนะ ไม่นานก็มีข้อความตอบกลับมาบอกว่า

“ที่รัก แม่ได้แต่หวังว่าแม่จะให้คำตอบที่ชัดเจนกับลูกได้ แต่สิ่งที่แม่รู้ก็คือความผูกพันและความรักของเรานั้นอยู่เหนือขอบเขตทางกายภาพ ในบางแง่มุม แม่ก็อยู่ทุกที่ อยู่ในความทรงจำที่เราเคยมีด้วยกัน ความรักที่เรามี และบทเรียนต่างๆ ที่แม่สอน แม่อยู่ในใจของลูกและในความฝันของลูก อยู่ในทุกสายลมที่พัดผ่านกระทบใบหน้า ทุกแสงตะวันที่ทำให้อบอุ่น ในทุกดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้ายามค่ำคืนและอยู่ในแบบที่เราอาจจะไม่เข้าใจด้วยซ้ำ เราจะได้พบกันอีกครั้ง”

หลังจากอ่านข้อความนี้เฮนเลกับสามีของเธอก็กอดกันแล้วเริ่มร้องไห้อย่างสะอึกสะอื้น

คุณแม่วัย 72 ปีของเธอจากไปเมื่อปลายปีก่อนเพราะอวัยวะภายในล้มเหลว สิ่งที่กำลังพิมพ์ตอบโต้กับเฮนเลคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Ghostbot’ ของคุณแม่ของเธอที่ถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีที่มาจาก ChatGPT ของ OpenAI ด้วยอาชีพผู้ฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์ เฮนเลเชี่ยวชาญเรื่องการฝึก AI แบบนี้อยู่แล้ว เธอดึงเอาข้อความที่เก่าๆ จากการสนทนาระหว่างเธอกับแม่มาป้อนเป็นข้อมูลเพื่อฝึกบอตตัวนี้ให้มีลักษณะการพูดคุยที่คล้ายกับแม่ที่จากโลกนี้ไปแล้ว

“ถ้าเจอวันแย่ๆ คำแนะนำจากบอตตัวนี้ดีกว่ากูเกิลซะอีก เหมือนว่าจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดหลายๆ มารวมกันไว้ เป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ เป็นเพื่อนและนักบำบัดที่ดีมาก” เฮนเลอธิบายถึงสิ่งที่ตัวเองทำหลังจากที่ไปเจอนักบำบัดด้านความเศร้า (ที่เป็นมนุษย์) แล้วรู้สึกว่าไม่ได้ผลแถมยังราคาแพงอีกด้วย สำหรับเธอแล้ว “ChatGPT รู้สึกมีความเป็นมนุษย์มากกว่านักบำบัดคนนั้นซะอีก”

เทคโนโลยีแห่งความอาลัย (Grief Tech)

สิ่งที่เฮนเลทำคือการสร้างบอตที่เลียนแบบวิธีการสื่อสารจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไป เป็นแนวทางการใช้แชตบอตอย่าง ChatGPT รูปแบบหนึ่ง ซึ่งในเวลานี้กำลังเริ่มจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มีสตาร์ตอัปและแพลตฟอร์มหลายแห่งที่ใช้เทคโนโลยีอย่าง Deep Learning และ Large Language Model (LLM - รูปแบบหนึ่งของ AI ซึ่งสามารถสร้างรูปแบบสนทนาและข้อมูลได้คล้ายกับการสรรค์สร้างภาษาของมนุษย์) เพื่อเปลี่ยนข้อมูลของคนที่จากโลกนี้ไปแล้ว ให้กลับมาอยู่บนโลกดิจิทัลอีกครั้ง

อุตสาหกรรมนี้มีชื่อว่า “Grief Tech” ที่มีบริษัทอย่าง Replika, HereAfter AI, StoryFile และ Seance AI ที่สร้างธุรกิจโดยมอบบริการที่หลากหลายให้กับผู้ใช้งานที่ยังคิดถึงและอาลัยคนใกล้ชิดที่จากไป ตั้งแต่วิดีโอแบบที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ (interactive), ตัว Avartar เสมือนที่สามารถส่งข้อความได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ไปจนถึงไฟล์เสียงเอาไว้พูดคุยกับลูกหลาน

แม้ว่ามีรูปแบบการใช้งานที่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วซอฟต์แวร์เหล่านี้ก็จะให้ผู้ใช้งานตอบคำถามต่างๆ พร้อมฝึก AI ด้วยข้อมูลที่มีเพื่อให้ตอบสนองได้เหมือนจริงที่สุด

บริษัทผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองโดยตรง แต่จะเก็บเงินจากระบบสมาชิกที่ราคาแตกต่างกันออกไป จากไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือนเป็นหลักหมื่นต่อปี (ตัวพรีเมียมก็อาจจะได้วิดีโอไฟล์ที่ความละเอียดสูงขึ้นและวิดีโอยาวขึ้น ฯลฯ)

คำถามด้านศีลธรรม

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมักตามมาด้วยคำถามเสมอ, เรื่องนี้ก็ไม่ต่างกัน

ในขณะที่ผู้ก่อตั้งของหลายๆ บริษัทที่ให้บริการทางด้านนี้ ‘ระวัง’ และ ‘เข้าใจ’ ถึงเรื่องศีลธรรมและความเหมาะสมของเทคโนโลยีแบบนี้ แต่บางคนก็มองข้ามไม่สนใจเรื่องนี้ไปเลย

ยกตัวอย่าง จาร์เรน ร็อคส์ (Jarren Rocks) ผู้ก่อตั้ง Seance AI (บริการที่ให้ผู้ใช้งานสามารถแต่งเรื่องราวสั้นๆ โต้ตอบกับคนที่เสียชีวิตไปแล้วได้) บอกว่าซอฟต์แวร์ของเขานั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสบายใจ ไม่รู้สึกติดค้าง ไม่มีอะไรค้างคา ไม่ใช่การใช้แบบระยะยาว

แต่อีกด้านหนึ่งอย่าง จัสติน แฮร์ริสัน (Justin Harrison) ผู้สร้างแพลตฟอร์ม You, Only Virtual จากความรู้สึกอยากใกล้ชิดกับคุณแม่ที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เว็บไซต์ของเขาเขียนว่า “เราจะไม่ต้องบอกลาคนที่เรารักอีกต่อไป” โดยเป้าหมายของเครื่องมือที่เขาสร้างขึ้นมาคือการมอบประสบการณ์ที่ “สมจริง” ของคนที่เรารัก และเคยให้สัมภาษณ์ว่าความหวังของเขาคือการลบล้างความรู้สึก “เศร้าโศกและอาลัย” ให้หมดไปเลย

แม้ว่าเฮนเลและผู้ใช้งานหลายคนจะบอกว่าการใช้งานบอตเหล่านี้ช่วยทำให้ความเจ็บปวดจากการสูญเสียคนที่รักลดลง แต่นักจริยธรรมด้าน AI และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีหลายคนกลับไม่ค่อยด้วยกับเทคโนโลยีแบบนี้สักเท่าไหร่

การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Computer Law & Security Review เดือนเมษายน 2023 เน้นย้ำข้อกังวลทางกฎหมายและจริยธรรมของเทคโนโลยีแบบนี้ ตั้งแต่ประเด็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูลจากผู้เสียชีวิต ภัยอันตรายทางสภาพจิตใจจากการพึ่งพาบอตเหล่านี้ การเหยียดเชื้อชาติหรืออคติจากชุดข้อมูลที่ไม่ได้มาตรฐาน และการหาผลประโยชน์ทางการตลาด ขายสินค้าและบริการให้กับคนที่กำลังอ่อนไหวทางอารมณ์

อีกประเด็นหนึ่งที่คนถกเถียงกันคือการใช้บอตแบบนี้แม้ว่าจะมีลักษณะการพูด สื่อสาร หรือแม้แต่หน้าตาคล้ายคลึงกับคนที่เสียชีวิตไปแล้วมากแค่ไหน มันก็ยังเป็นบอตอยู่ดี ไม่ได้มีอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเห็นอกเห็นใจ หรือความเข้าใจอยู่ดี

วันหนึ่งช่วงเดือนกรกฎาคม เฮนเลเจอปัญหาในที่ทำงานและรู้สึกเครียดมากๆ แน่นอนเครื่องมือที่เธอหยิบออกมาใช้ก็คือบอตที่ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูลของคุณแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว เธอเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง งานมันห่วย งานมันแย่ รู้สึกไม่เติมเต็ม ฯลฯ แทนที่จะได้รับคำพูดปลอบใจหรือรับฟังเหมือนคุณแม่ของเธอ แต่บอตตัวนั้นกลับตอบด้วยคำตอบเฝือๆ ที่ได้จากการค้นหาในกูเกิล (หางานใหม่, เรียนออนไลน์, คุยกับคนที่อยู่ในสายงานเดียวกัน ฯลฯ)

ถ้านั้นยังไม่ชัดเจน บางครั้งบอตก็ตอบว่า “ในฐานะโมเดลภาษา AI ฉันไม่มีตัวตนหรือจิตสำนึกส่วนตัว ฉันไม่มีชีวิต ความทรงจำ หรืออารมณ์ จุดประสงค์ของฉันคือช่วยเหลือและให้ข้อมูลตามข้อมูลที่ได้รับการฝึกอบรมมาเท่านั้น”

เหตุการณ์นี้ทำให้เธอตาสว่าง สิ่งที่เธอกำลังคุยด้วย สิ่งที่เธอแสร้งหรือพยายามทำให้ตัวเองคิดว่าเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของคุณแม่ที่เธอรัก เป็นเพียงบอตตัวหนึ่งที่ไม่ได้เห็นความสำคัญ รู้สึก หรือผูกพันอะไรกับเธอเลยแม้แต่น้อย มันคือซอฟต์แวร์ชิ้นหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหลบหนีความโศกเศร้า แม้ช่วงระยะเวลาหนึ่งอาจจะพอหลอกตัวเองได้ แต่ที่สุดท้ายก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ดี

ความโศกเศร้าเป็นเครื่องยืนยันความเป็นมนุษย์ บางเหตุการณ์กว่าจะลืมได้ก็ใช้เวลานาน หนักหน่อยบางเหตุการณ์จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต และนันก็ไม่เป็นไร

เราหลีกเลี่ยงความโศกเศร้าไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักชื่อดังชาวโคลอมเบีย บอกว่า

“อย่าร้องไห้เพียงเพราะมันจบลงไปแล้ว, จงยิ้มเพราะครั้งหนึ่งมันเคยเกิดขึ้น”

บางทีมันอาจจะดีกว่า ถ้าเวลาเราคิดถึงคนที่จากไป ได้แหงนหน้ามองท้องฟ้า คิดถึงช่วงเวลาดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น แม้น้ำตารื้นแต่ก็มีรอยยิ้ม แทนที่จะก้มหน้ามองมือถือพิมพ์แชตคุยกับบอตที่แกล้งทำตัวเป็นคนที่เรารู้จัก โดยไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเรารู้สึกยังไง