“วันหนึ่งทุกอย่างโอเค แต่พออาทิตย์ต่อมาทุกอย่างก็หายไปหมดเลย บ้าน งาน เงิน ทุกอย่างเลย...หายไปหมดเลย”

นั่นคือสิ่งที่ ‘เรย์’ ชายวัย 50 กว่า เล่าถึงสถานการณ์ของตัวเองเมื่อกลายเป็นบุคคลไร้บ้าน (Homeless) ในเมืองแวนคูเวอร์ประเทศแคนาดา

เขาไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง หาเศษเงินได้แต่ละวันก็ต้องเอาไว้ซื้ออาหารเพื่อความอยู่รอด ตอนเย็นก็ไปอาศัยนอนที่สถานสงเคราะห์คนไร้บ้านฉุกเฉินของเมือง

แล้ววันหนึ่งโลกของเขาก็เปลี่ยนไป

เรย์เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่เรียกว่า “The New Leaf Project” ที่จัดร่วมกันโดยองค์กรการกุศลมูลนิธิเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Foundations for Social Change) กับมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (The University of British Columbia) จนเขาสามารถหาบ้านพักให้ตัวเองได้ ลงเรียนเสริมความรู้ และหางานใหม่สำหรับตัวเอง

งานวิจัยนี้เกิดขึ้นในปี 2018 โดยจะหาคนที่กลายเป็นบุคคลไร้บ้านในช่วงสองปีที่ผ่านมาจำนวน 50 คนในแวนคูเวอร์ แล้วให้เงินสดก้อนใหญ่ 7,500 เหรียญแคนาดา หรือประมาณ 200,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข ให้ใช้แบบที่ต้องการได้เลย

“ตอนแรกผมว่ามันดูเกินจริง ดีเกินไปที่จะเป็นเรื่องจริง” เรย์บอก “ผมก็ไปธนาคารกับตัวแทนของโปรแกรมเพื่อจะเปิดบัญชีธนาคารสำหรับผม แม้เงินจะอยู่ในบัญชีแล้วก็เหอะ ผมต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์เลยกว่าจะเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ”

สิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ

เราเคยได้ยินและเชื่อมาตลอดคือ ‘อย่าให้เงินกับคนไร้บ้าน’ ถ้าเจอคนไร้บ้านก็เลือกให้อาหาร, เสื้อผ้า หรือ พวกยารักษาโรคต่างๆจะดีกว่า เพราะถ้าให้เงินไปคนเหล่านี้จะเอาไปซื้อยาเสพติด แอลกอฮอล์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นการทำร้ายตัวเองให้แย่ลงไปอีก

คำถามคือความเชื่อนี้มันจริงรึเปล่านะ?

และนั่นคือสิ่งที่โครงการ “The New Leaf Project” พยายามจะตอบครับ
ตลอดปีต่อมานักวิจัยก็จะมีไปสอบถามคนที่เข้าร่วมในการศึกษาชิ้นนี้เป็นระยะๆ ถามความเป็นไปสารทุกข์สุกดิบทั่วไป ชีวิตเป็นยังไงบ้าง และแน่นอนว่าใช้เงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง

ที่ทำแบบนี้ก็เพราะว่านี่เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นคนไร้บ้านอีก 65 คนที่ไม่ได้รับเงินสด โดยทั้งสองกลุ่มนี้จะได้รับสิ่งที่เหมือนกันก็คือการเข้าถึงเวิร์กช็อปและการฝึกสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะและการวางแผนชีวิต

พูดง่ายคือกลุ่มที่เรย์อยู่ได้ทั้งเงินและการพัฒนาทักษะความสามารถ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้แค่ชุดความรู้ใหม่ๆ เท่านั้น

หลังจากนั้นนักวิจัยก็ทำแบบสอบถามแยกออกมาอีกชุดหนึ่ง ไปถามคนประมาณ 1,100 คนให้เดาว่ากลุ่มที่ได้รับเงิน 200,000 จะใช้เงินไปกับอะไร คนที่ตอบแบบสอบถามกว่า 81% บอกว่าคนไร้บ้านจะเอาไปซื้อ “สินค้าที่ล่อใจ” (temptation goods) เช่นแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือ บุหรี่ เหมือนที่ความเชื่อของคนส่วนใหญ่

แต่ผลที่ดีกลับไม่ได้เป็นแบบนั้นครับ

รูปแบบการใช้จ่ายเงินของคนไร้บ้านที่ได้เงินไปหักล้างความเชื่อตรงนั้นไปเลย

แทนที่จะไปซื้อยาเสพติด แอลกอฮอล์ หรือ บุหรี่แบบที่คนเชื่อกัน พวกเขาเอาไปซื้ออาหาร เสื้อผ้า และจ่ายเงินค่าเช่าบ้านแทน มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง มีงานที่มั่นคงมากขึ้น มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองต่อไปแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเป็นปีก็ตาม

ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างการรับรู้ของสาธารณชนและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การวิจัยนี้เป็นเครื่องมือทรงพลังในการท้าทายและเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางสังคมที่ยึดติดมาโดยตลอด และยังส่งเสริมมุมมองของชุมชนให้มีความเห็นอกเห็นใจและได้รับข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ของคนไร้บ้านด้วย

ตามรายงานแล้วเงินที่ได้รับมาถึงนำไปใช้สำหรับ

1. ที่อยู่อาศัย

ส่วนใหญ่จะไปลงตรงนี้เพื่อให้ตัวเองมีหลักแหล่งที่มั่นคง การมีบ้านให้กลับไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกอุ่นใจเท่านั้น ปลูกฝังความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย

2. อาหาร

สิ่งที่ร่างกายขาดไม่ได้ การได้รับอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะสม ทำให้ร่างกายได้ฟื้นกำลังและพร้อมจะออกไปสู้กับปัญหาในชีวิตได้ ซึ่งตอนที่เป็นคนไร้บ้านแทบจะไม่เคยเกิดขึ้น

3. เสื้อผ้า

บางส่วนของเงินตรงนี้ถูกใช้ไปสำหรับเครื่องแต่งกาย ไม่ใช่ของแพงอะไร แต่เป็นเสื้อผ้าที่ใส่แล้วสะอาดสะอ้าน สร้างความมั่นใจเมื่ออยู่ในสังคม

4. การพัฒนาตัวเอง

ส่วนนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เงินบางส่วนจะถูกนำไปเพื่อพัฒนาตัวเอง การศึกษา สร้างทักษะใหม่ๆ ปูทางไปสู่อาชีพใหม่ๆ ในอนาคตด้วย

แคลร์ วิลเลียมส์ (Claire Williams) ซีอีโอของมูลนิธิเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้สัมภาษณ์กับสื่อ Vox ว่า

“นี่เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับทัศนคติแบบเหมารวมที่เป็นอันตรายมากๆ เราพบว่าผู้คนตัดสินใจเลือกทางการเงินอย่างชาญฉลาดเลย”

จริงอยู่ว่าการศึกษาชิ้นนี้จะค่อนข้างเล็ก แต่มันก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราเชื่อๆ กันมาว่าคนที่ยากจนหรือเป็นคนไร้บ้านเป็นแบบนั้นเพราะตัดสินใจแย่ๆ ในชีวิต ไม่มีทักษะในการใช้เหตุผล หรือไม่มีความสามารถในการควบคุมตัวเอง กลายเป็นผู้ร้ายในสถานการณ์อันเลวร้าย ‘ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะตัวเองทั้งนั้นแหละ’

นั่นอาจจะเป็นเรื่องจริงในบางส่วน, แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด
คนจนหรือคนไร้บ้านทุกคนจึงถูกเหมารวมว่าถ้าได้เงินฟรีๆ 200,000 ต้องเอาไปใช้กับของไร้สาระและทำให้ชีวิตแย่ลงอย่างแน่นอน

ธนาคารโลก (The World Bank) บอกว่ามีงานวิจัยอื่นๆหลายชิ้นที่บอกว่าการให้เงินกับคนจนหรือคนไร้บ้านไม่ได้เพิ่มการซื้อ “สินค้าที่ล่อใจ” อย่างที่เราคิดเอาไว้ แต่มันอาจจะลดลงหรือไม่ได้สร้างความแตกต่างจากเดิมเลยด้วยซ้ำ

แกรี่ บล็อก (Gary Bloch) แพทย์ชาวแคนาดาที่ไม่ใช่แค่รักษาคนไข้ยากจนและไร้บ้านด้วยยาเพียงเท่านั้น แต่ยังมอบการช่วยเหลือให้คนเหล่านี้มีเงินมากขึ้น เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ สอนเรื่องการยื่นภาษีเพื่อรับเงินช่วยเหลือต่างๆ บอกว่า

“ผมทำงานกับคนที่ประสบกับเหตุการณ์ไร้บ้านในฐานะแพทย์มานานหลายปีและไม่ตกใจเลยว่าคนที่ได้รับเงินสดไปนั้นจะใช้มันอย่างฉลาด มันน่าจะเป็นหลักฐานในตัวเองอยู่แล้วที่การมอบเงินให้กับคนที่รายได้น้อยจะสร้างผลกระทบในทางบวก”

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือว่าเงินทั้งหมดที่ให้คนไร้บ้านไปในงานวิจัยนี้อยู่ที่ราวๆ 375,000 เหรียญ หรือประมาณ 9.7 ล้านบาท ซึ่งเราอาจจะคิดว่ามันดูเยอะ แต่ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบอกว่า ตามปกติแล้วเมืองแวนคูเวอร์จะใช้จ่ายเงินประมาณ 8,277 เหรียญต่อปีในการดูแลคนไร้บ้านหนึ่งคนในระบบสถานสงเคราะห์ ซึ่งถ้าต้องดูแล 50 คน ก็คือเงินของรัฐราวๆ 413,850 หรือประมาณ 10.7 ล้านบาท

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การให้เงินก้อนแบบนี้ในระยะเวลาหนึ่งปี คุ้มกว่าให้คนไร้บ้านไปอยู่ในระบบซะอีก

แบบนี้ก็ควรให้เงินคนไร้บ้านทุกคนไปเลยสิ?

ไอเดียของโปรเจกต์การทดลองนี้เกิดขึ้นหลังจากที่วิลเลียมส์ได้ดู TED Talk ชื่อ “Why we should give everyone a basic income” ที่การอภิปรายว่าวิธีที่จะช่วยคนได้ดีที่สุดคือการให้เงิน พื้นฐานของไอเดียสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐบาลให้เงินรายเดือนค่าใช้จ่ายขั้นต่ำกับประชาชนทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขนั่นแหละครับ

แต่แทนที่จะให้เงินเป็นเดือนๆ วิลเลียมส์มองว่าการให้เงินเป็นก้อนจะช่วยทำให้คนสามารถวางแผนในระยะยาวได้ไกลขึ้น มากกว่าการเอาตัวรอดเป็นเดือนๆ ไป เธอบอกว่า “คุณไม่สามารถคิดจะลงทะเบียนเรียนเพื่อพัฒนาชีวิตตัวเองได้เมื่อไม่มีเงินเพียงพอมาซื้ออาหารทาน การได้เงินเป็นก้อนเลยจะช่วยทำให้คุณมีกำลังเยอะขึ้น”

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรย์ และคนอื่นๆ ในโปรเจกต์นี้

เขาใช้เงินเพื่อหาบ้านอยู่ และสมัครเรียนเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเอง การได้รับเงินก้อนนั้นมาเหมือนการได้รับความไว้วางใจอีกครั้งหนึ่งว่าเขาไม่ใช่คนล้มเหลว “มันมอบความมั่นใจให้กับคนคนนั้น ว่ามีคนเชื่อเขาอยู่นะ” เรย์กล่าว

แต่อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นครับว่าโปรเจกต์นี้ยังถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น กลุ่มคนที่เข้ามาร่วมก็ถือว่าถูกคัดกรองมาแล้วไม่น้อย ต้องเป็นคนไร้บ้านมาน้อยกว่าสองปี ไม่มีภาวะทางจิตหรือปัญหาเรื่องการเสพติดยา

วิลเลียมส์อธิบายว่าที่ทำแบบนี้ไม่ใช่การแบ่งแยกว่าคนไร้บ้านคนไหนที่ ‘สมควรได้รับเงิน’ แต่เป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสของผลลัพธ์ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนที่ได้รับเงินก้อนนั้นไปมากกว่า

“ถ้ามันไม่มีผลอะไรกลับมาเลยจากคนที่ได้รับเงินไป จากมุมของนักลงทุนก็จะมองว่าเป็นการ ‘เสียเงินเปล่า’ เพราะไม่ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตใครเลย” วิลเลียมส์อธิบาย ‘เราอยากจะเริ่มเล็กๆ และไอเดียก็คือรอบต่อๆ ไป เราจะเริ่มผ่อนข้อแม้เหล่านี้ลงให้มากขึ้น”

แผนต่อจากนี้คือการขยายกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น มีการกระจายไปยังประเทศและกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น เช่นคนที่เพิ่งออกมาจากคุก หรือ ผู้ให้บริการทางเพศที่อยากหางานอื่น

แต่การให้เงินเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาคนไร้บ้านในมุมมองของบล็อก

“แม้ว่าผมจะไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการให้เงินกับคนที่จำเป็นต้องใช้ แต่ทางแก้ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านก็คือการมีบ้าน โดยเฉพาะในเมืองอย่างแวนคูเวอร์ที่จำนวนห้องเช่ามีน้อยและราคาค่าเช่าก็สูงเสียดฟ้า มันจะยากมากเลยที่จะแก้ปัญหาคนไร้บ้านโดยที่ไม่มีที่พักที่ราคาเอื้อมถึง ผมไม่อยากให้การค้นพบครั้งนี้ไปลดน้ำหนักประเด็นสำคัญของการทำให้มีที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพงในระยะยาวและความมั่นคงทางรายได้ในระยะยาว”

ถึงอย่างนั้นก็ตาม บล็อกเสริมว่า “ถ้าการศึกษาชิ้นนี้ได้ลดระดับการรับรู้ของคนบางคนที่เชื่อว่าคนไร้บ้านและ/หรือผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถไว้วางใจให้มีเงินได้ นั่นก็เป็นเรื่องที่เยี่ยมมากแล้ว มันเป็นความเชื่อที่ควรถูกฝังไปตลอดกาลเลย”

แคทเธอรีน (Katherine) หญิงสาววัยยี่สิบกว่า คนไร้บ้านอีกคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้บอกว่า

“เงินก้อนนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันได้กลับมาเติบโตและได้มีความฝัน เป็นโอกาสในชีวิตที่จะได้เดินไปข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง”

การศึกษาชิ้นนี้แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ 100% ว่าการให้เงินคนไร้บ้านทุกคนจะช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างได้ และคนไร้บ้านทุกคนที่ได้เงินไปจะนำไปใช้เพื่อให้ชีวิตตัวเองกลับมาดีอีกครั้ง แต่มันก็ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อที่คนไร้บ้านทุกคนหรือคนจนนั้นเชื่อถือไม่ได้ ไม่มีเหตุผล ตัดสินใจไม่ดี หรือไม่รักตัวเอง ไม่ใช่เรื่องจริง 100% เช่นเดียวกัน

มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ผู้เขียนหนังสือ “The Psychology of Money” อันโด่งดังเคยกล่าวเอาไว้ว่า

“จงจำเอาไว้ว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มาจากการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว และความยากจนก็ไม่ได้มาจากความเกียจคร้าน จำเรื่องนี้เอาไว้เสมอตอนที่ตัดสินคนอื่น และตัวเองด้วย”