“ถ้าคิดว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ แปลว่าเรายังหาเงินได้ไม่มากพอ
— แต่ที่สุดแล้วความต้องการของเรามันจะไปจบตรงไหน?”

หลายคนอาจจะจับทางได้จากประโยคด้านบนแล้วว่าที่เราใช้เงินซื้อความสุขไม่ได้เพราะจริง ๆ แล้ว “ความสุขของเรามันไม่เคยมีเพียงพอ”

“เพียงพอ” น่าจะเป็นคำที่นิยามเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ และความสุขได้ยากที่สุด เพราะแม้คุณจะมีรายได้ที่มากขึ้นและเยอะเกินพอที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวัน แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันได้เลยว่าคุณจะมีความสุขเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์ likehacker ได้ไปสัมภาษณ์ ลินด์ซีย์ ไบรอัน-พอดวิน (Lindsay Bryan-Podvin) นักจิตวิทยาบำบัดด้านการเงินเพื่อทำความเข้าใจว่าในแต่ละบุคคลเขานิยามคำว่า “เพียงพอ” ในเรื่องของการเงินไว้อย่างไร และสำหรับทุกคนเองเราจะหาจุดสมดุลทางการเงินของพวกเราได้จากตรงไหน

ความสุขเป็นเรื่องของ ‘ปัจเจก’

เมื่อพูดถึงความสุขคนเรามักจะมองว่ามันเป็นขาวกับดำ สุขกับทุกข์แยกกันโดยสิ้นเชิง แท้ที่จริงแล้วความสุขไม่ได้หมายความว่ามีความสุขทั้งหมด เพราะความสุขล้วนผสมผสานไปกับความทุกข์เสมอ

ไม่มีอะไรที่ทุกข์ตลอดไปและสุขตลอดกาลไม่ว่าจะกับใครก็ตาม

เงินที่เคยพอดีก็ไม่พอดีอีกต่อไป

ถ้าถามว่าต้องมีกี่บาทถึงจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุข มันคือตัวเลขประมาณ 3.5 ล้านบาท (100,000 เหรียญ) ตัวเลขนี้เป็นการศึกษาล่าสุดในปี 2021จาก แมตต์ คิลลิงส์เวิร์ธ (Matt Killingsworth) เขาเป็นนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องธรรมชาติและสาเหตุของความสุขของมนุษย์โดยเฉพาะ แต่ไม่ใช่คนแรกที่ค้นพบตัวเลขนี้ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ ในปี 2010 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสองคน (Daniel Kahneman และ Angus Deaton) พวกเขาได้ศึกษาระดับรายได้ที่สัมพันธ์กับความสุขของมนุษย์ เขาพบว่าระดับรายได้ที่พอดีที่คนหนึ่งคนจะมีความสุขได้อยู่ที่ราวๆ 75,000 เหรียญ/ปี หรือ 2.6 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการศึกษาครั้งล่าของ คิลลิงส์เวิร์ธ ตอนนี้ระดับรายได้ที่พอดีมันพุ่งสูงขึ้นจากการศึกษาครั้งแรกราว ๆ 25,000 เหรียญ

แม้ว่าระดับรายได้ที่เพียงพอต่อความสุขของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่จุดร่วมของ 2 งานวิจัยเรื่องนี้คือ ‘ถ้าเรามีเงินประมาณหนึ่งมันจะทำให้เรามีความสุข แต่หากมีเงินมากขึ้นกว่านั้นมาหน่อยมันก็ไม่ได้การันตีว่าความสุขในชีวิตของคุณจะมากขึ้น’

เพราะ “มีมากขึ้นไปอีก” ไม่ได้แปลว่ามากพอ

มันเป็นเรื่องปกติถ้าเราจะโหยหาทางออกจากความเครียดของตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมายการเงินของเราเพื่อให้ถึงไปถึงจุดนั้น “จุดที่เพียงพอ” แต่พอเอาเข้าจริงเราก็เผลอเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับทรัพย์สินและจำนวนเงินในบัญชีธนาคาร เนื่องจากคุณค่าในตัวเองประเมินมูลค่าไม่ได้ตามธรรมชาติ คนเราจึงยึดเอา “ทรัพย์สินในชีวิตเป็นตัวชี้วัด”

การกำหนดกฎเกณฑ์ให้ทรัพย์สินเป็นตัวชี้วัดคุณค่าในตัวเอง ยิ่งทำให้เราประเมินคุณค่าในตัวเองผิดไป

ความสุขของเราที่มีมากขึ้นไม่จำเป็นต้องมีรายได้มากขึ้นเสมอไป ไบรอัน-พอดวิน กล่าวว่า พวกเราหลายคนมักเชื่อผิดๆ ว่าถ้าเรามีเงินมากขึ้น สิ่งดีๆ บางอย่างก็จะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างจากประสบการณ์การทำงานเป็นนักจิตบำบัดของเธอ เธอบอกว่าผู้คนที่เข้ามารับคำปรึกษามักจะบอกว่า “ถ้ามีเงินมากกว่านี้ ฉันจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น” หรือ “ถ้ามีรายได้มากขึ้น ฉันจะมีแวดวงเพื่อนสนิทมากขึ้น”

ซึ่งมันไม่แปลกถ้าเราจะหลงเชื่อว่าหากคนคนหนึ่งมีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทานข้าวนอกบ้าน เดินทางเที่ยวรอบโลกและใช้เงินซื้อ “ความพึงพอใจ” จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความสุขชั่วครั้งชั่วคราวได้บ่อยเท่าที่ต้องการ เพราะเขามีเงินมากพอที่จะก้าวไปไกลกว่าการทำงานเพื่อความอยู่รอดทางการเงิน

เราไม่ปฏิเสธหรอกว่า เงินช่วยลดปัญหาได้จริง ๆ แต่มากแค่ไหนถึงจะเพียงพอให้เรามีความสุข?

วิธีค้นพบจุดที่ “เพียงพอทางการเงิน” สำหรับชีวิตของตัวเอง (โดยไม่เอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับมัน)

เพื่อจะได้คำตอบเราอาจต้องไตร่ตรองว่า "เพียงพอ" โดยส่วนตัวแล้วคุณให้ความหมายกับมันว่าอย่างไร แล้วหาวิธีปรับเป้าหมายทางการเงินให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณให้คุณค่าและลำดับความสำคัญของคุณ

ไบรอัน-พอดวินแนะนำว่าเพื่อจะให้พบคำว่า “เพียงพอ” ต้องเริ่มต้นด้วยการแยกคุณค่าในตัวเองออกจากเรื่องเงิน

คุณต้องบอกกับตัวเองและย้ำมันด้วยการพูดหรือเขียนออกมาว่า “ฉันเป็นมากกว่าสิ่งที่ฉันมีหรือเป็นเจ้าของมัน”

ที่ตรงนั้นคุณจะพบว่า “สิ่งที่เพียงพอที่จะทำให้คุณมีความสุข” คืออะไร

อาจเป็นแค่การนัดทานอาหารเย็นทุกเดือนกับใครสักคน และมีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าค่ายฤดูร้อนของลูก

จากตรงนั้นเราจะได้พบต้นทุนที่แท้จริงของความสุข และจำนวนเงินที่เพียงพอกับความต้องการของคุณ กับบางคนคุณอาจพบว่าสิ่งที่คุณต้องการมันไม่เห็นจำเป็นต้องใช้เงินมากขนาดนั้นเลยก็ได้

จำนวนเงินที่ “เพียงพอ” ในด้านของการใช้จ่ายคำนวณได้จากพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ เพื่อนิยามคำว่า "เพียงพอ" ในด้านการออมเงินสิ่งที่กูรูทางการเงินหลายต่อหลายคนพยายามบอกกับเราเสมอก็คือ “ถ้าอยากมีความสุขมากขึ้น ก็ให้เริ่มเก็บเงิน” เพราะการมีเงินเก็บออมมันสามารถเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตของเราได้

สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน คุณอาจต้องสังเกตพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบันของตัวเอง คำนวณค่าใช้จ่ายรายปีออกมาคร่าว ๆ และบวกความเป็นไปได้ของอัตราเงินเฟ้อ—อาจจะ 10-20% ของรายได้—และดูว่าคุณจะทำอะไรเพื่อเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายของตัวเองได้บ้าง

มันเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่คุณจะต้องมีเงินมากพอที่จะสามารถสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของตัวเองให้ได้ แต่….

“อย่าลืมว่าเงินซื้ออะไรได้หลายอย่าง แต่เงินไม่สามารถซื้อ “ความหมาย” ได้”

เมื่อคุณมีเงินมากขึ้น คุณก็มีแนวโน้มที่จะใช้เงินไปกับการตอบสนองความต้องการมากกว่าความจำเป็น และคุ้นชินกับความสุขที่ได้รับจากการพักผ่อนอย่างฟุ่มเฟือย รถยนต์หรูๆ และบ้านราคาแพง ตีตัวออกหากจากการสร้างความสุขที่ยั่งยืน แม้จำนวนเงินที่ต้องการเพื่อให้เพียงพอต่อการมีความสุขของแต่ละคนนั้นจะเป็นเรื่องที่ปัจเจกมาก ๆ แต่สูตรลับของการค้นพบความสุขคือการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย มีความเอื้ออาทรต่อผู้คนในสังคมของคุณ (งานวิจัยที่เป็นการศึกษาความสุขของมนุษย์ที่ยาวนานที่สุด ชี้ให้เห็นว่าเคล็ดลับของชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีนั้นอยู่ที่การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับผู้อื่น)

เมื่อมันไม่มีจำนวนเงินตายตัวที่การันตีความสุขตลอดชีวิตของคุณได้ นี่อาจเป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะได้ไตร่ตรองต่อว่าแล้วอะไรละที่จะสร้างสมดุลที่เหมาะสมและคู่ควรกับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณเอง

เขียนและเรียบเรียงโดย : กนกจันทร์ เรืองวัฒนานนท์