เชื่อว่าทุกคนต่างก็เคยมีวันที่แย่ ๆ ด้วยกันทั้งสิ้น อาจจะทะเลาะกับภรรยา ไม่พอใจสามี ลูกไม่ได้ดั่งใจ หัวหน้าจิกเหมือนชาติก่อนเป็นไก่ รถติดอยู่บนถนนเป็นชั่วโมง เห็นออฟฟิศข้างหน้าแต่ก็ไปไม่ถึงสักที หรือบางทีก็เป็นเรื่องชวนหงุดหงิดใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมความเครียดเพิ่มขึ้นระหว่างวัน

แล้วจู่ ๆ ระหว่างที่กำลังไถฟีดโซเชียลมีเดียก็มีโฆษณาสินค้าที่กำลังอยากได้อยู่พอดี มีส่วนลดด้วย 20% ถ้าซื้อตอนนี้ (คือที่จริงมันก็ลดตลอดแหละนะ) ส่งฟรีต่างหาก เฮ้ย...กดใส่ตะกร้า คลิกจ่าย....อ้าาา....ฟิ-นา-เล่!

แม้ว่านี่อาจจะเป็นภาพจำลองที่ดูสุดโต่งไปสักนิด แต่ในความเป็นจริงแล้วเราหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ก็อาจจะเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ชอปปิงเพราะอารมณ์เครียดหรือหงุดหงิดพาไปอยู่บ่อยครั้ง มีคำศัพท์ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “Emotional Spending” หรือ “Stress Spending” หรือการจ่ายเงินเมื่อมีอารมณ์นั่นแหละครับ

อารมณ์ที่ว่าก็มีตั้งแต่ เศร้า, อิจฉา, ไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้, ขาดความมั่นใจในตัวเอง, กังวล, ซึมเศร้า, เครียด (รวมถึงเครียดเรื่องเงินด้วย), ตัดขาดจากสังคม หรือบางทีก็แค่เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต

ทำไมเวลาเครียดแล้วใช้เงินถึงรู้สึกดี?

แล้วทำไมเราถึงเป็นแบบนั้น? เวลาเครียดทำไมต้องรูดปื้ด ๆ กด ‘Buy Now’ เหมือนเงินในบัญชีมีเหลือใช้เหลือจ่าย (ทั้ง ๆ ที่สิ้นเดือนนี้ก็คงต้องพึ่งมาม่าอีกแล้ว)

1. มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าการชอปปิงกระตุ้นสมองส่วนที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นคล้ายกับความสุข โดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องอารมณ์ความสุข (มีชื่อเล่นว่าสาร “รู้สึกดี” ) จะถูกปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจนั่นเอง (ระหว่างมีเซ็กส์ เสพยา หรือกินอาหารอร่อย ๆ ก็มีโดพามีนหลั่งออกมาเช่นเดียวกัน)

2. ตอนเราเครียด ๆ หรือรู้สึกเศร้า เหงา ท้อแท้ สิ้นหวัง ความรู้สึกเหล่านี้จะกดให้เรารู้สึกอึดอัด ทำอะไรไม่ได้ เหมือนตัวเองไม่ดีพอ การใช้เงินหรือซื้อของเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้อีกครั้ง เหมือนได้บางอย่างคืนมาและทำให้ความเครียดลดลง

3. การใช้เงินเพื่อซื้อของหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เป็นการเทคนิคในการเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากปัญหาที่อยู่ตรงหน้า บางอย่างที่ก่อความเครียดแต่เรายังไม่อยากไปเผชิญ

เมื่อความสุขเล็ก ๆ กลายเป็นเสพติดการชอปปิง

ซึ่งพอแจกแจงเหตุผลแบบนี้ออกมา ก็พอเข้าใจได้ว่าการใช้เงินเพื่อลดความเครียด หรือซื้อความสุขให้ตัวเอง อย่างที่บางคนเรียกว่า “Retail Therapy” นั้นก็มีประโยชน์บ้างในบางสถานการณ์ เป็นวิธีการยกระดับอารมณ์และผ่อนคลายโดยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และที่สำคัญสนุกมาก ๆ ด้วย

จนกระทั่ง...เราเริ่มควบคุมไม่อยู่ เศร้าเมื่อไหร่ก็ซื้อ เครียดเมื่อไหร่ก็ชอปปิง เหงาเมื่อไหร่ก็ต้องจ่ายเงิน จนสุดท้ายกลายเป็นเสพติดการชอปปิง (Compulsive Buying) ไปโดยไม่รู้ตัว และนั่นก็นำไปสู่ความเสียหายทางด้านการเงินที่เลวร้าย ถ้ามีครอบครัวก็อาจจะกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่คนอื่นต้องมารับผิดชอบ ลักษณะโดยทั่วไปคือความอยากที่จะซื้อของแบบที่ไม่สามารถควบคุมได้ แม้ว่าจะไม่มีความจำเป็น ไม่มีเงิน หรือแม้แต่ความต้องการที่แท้จะซื้อจริง ๆ ก็ตาม

จากสถิติแล้วทั่วโลกมีคนประมาณ 5%-8% ที่เสพติดการชอปปิง ตีเป็นตัวเลขประชากรในบ้านเราก็ประมาณ 3.6 ล้านคน - 5.7 ล้านคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้อยู่

คนที่เสพติดการช้อปปิ้งมักหมกมุ่นอยู่กับการซื้อของชิ้นต่อไป และอาจใช้เงินจำนวนมากไปกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น บางอย่างไม่เคยใช้หรือเสื้อผ้าที่ไม่เคยใส่เลยด้วยซ้ำ จะควบคุมตัวเองให้หยุดซื้อไม่ได้ แม้จะไม่มีเงินและเป็นหนี้บัตรเครดิตใบแล้วใบเล่าก็ตาม ยิ่งเครียดยิ่งใช้ ยิ่งจ่ายยิ่งจนลงไปเรื่อย ๆ

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณเสพติดการชอปปิง

สัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าบางคนอาจมีอาการเสพติดการช้อปปิ้ง ได้แก่ :

  • ซื้อของเพื่อตอบสนองต่อความเศร้า ความเครียด ความกังวล หรือความเบื่อหน่าย
  • รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจเมื่อช้อปปิ้ง
  • รู้สึกผิดหรือละอายใจหลังจากซื้อของ
  • ซ่อนการซื้อจากเพื่อนและคนที่คุณรัก
  • ไม่ใช้ของที่ซื้อมาหรือแม้กระทั่งลืมไปเลยว่าซื้อมา
  • ไม่สามารถต้านทานของลดราคาได้
  • ใช้จ่ายเกินตัว

กล่าวโดยสรุป การเสพติดการชอปปิงแตกต่างจากการช้อปปิ้งทั่วไปตรงที่การเสพติดการชอปปิงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยควบคุมไม่ได้และอาจส่งผลเสียตามมาในภายหลัง แม้ว่าการชอปปิงเพื่อเพิ่มความสุขจะเป็นวิธีที่สนุกในการผ่อนคลายและทำให้อารมณ์ดีขึ้น แต่การเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างสมองและเงินในกระเป๋าจะช่วยระบุอาการเสพติดการชอปปิงได้ (อย่างการอ่านบทความนี้) และนั่นเป็นขั้นตอนแรกในการควบคุมการใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยและซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเงินให้กลับมาดีอีกครั้งได้

แล้วจะแก้ยังไงดี?

ถ้าเริ่มรู้สึกว่าตอนนี้ใช้เงินเยอะ ควบคุมไม่ได้ อย่างแรกต้องสำรวจตัวเองว่ากำลังใช้เงินด้วยอารมณ์อยู่รึเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องยอมรับก่อนว่าตอนนี้กำลังมีปัญหาและหาทางแก้ไขโดยด่วนก่อนที่จะสายเกินไป ดึงสติตัวเองกลับมาโฟกัสที่เรื่องการใช้เงินอีกครั้ง แล้วเริ่มสังเกตครับว่าอารมณ์แบบไหนคือ “Trigger” หรือตัวกระตุ้นให้เราซื้อของ

เช่นว่าวันนี้เจอหัวหน้าไลน์จิกงานตั้งแต่เช้ายันหัวจะถึงหมอน แล้วตอนนั้นที่คุณกำลังจะกดซื้อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ที่ไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไหร่เพราะไม่เคยวิ่งหรือออกกำลังกายเลย ให้สังเกตอารมณ์ตัวเองว่ากำลังรู้สึกแบบไหนอยู่กันแน่? เครียดเหรอ? เศร้าเหรอ? โกรธ?​ กังวล? ไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้? ฯลฯ แล้วก็ถามตัวเองว่าการซื้อของนี้จะช่วยอะไรคุณได้? เรากำลังวิ่งหนีความรู้สึกแย่ ๆ อยู่รึเปล่า?

เมื่อเริ่มมีสติ ก็จะเริ่มมีสตางค์ครับ ค่อย ๆ หาวิธีรับมือกับอารมณ์เชิงลบตรงนี้ให้ได้ด้วยวิธีอื่น ๆ (ถ้าใครเคยดูการ์ตูนชินจังอาจจะยังจำแม่ของน้องเนเน่ที่หยิบตุ๊กตาหมีมาต่อยท้องตุ๊บๆๆ) อาจจะเอาน้องหมาไปเดิน ปิดมือถือแล้วไปเปิดทีวีดูซีรีส์เรื่องโปรด นั่งสมาธิ อาบน้ำอุ่น ๆ ให้สบายตัว หรือบางทีก็แค่หลับตาแล้วก็นอน

กลยุทธ์ส่วนตัวที่ผมใช้แล้วสามารถลดโอกาสในการใช้เงินแบบไม่ตั้งใจได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ลองเอาไปใช้กันดูได้นะครับ

  • ทำบัญชีรายรับรายจ่าย รายเดือน รายหกเดือน และ รายปี สิ่งนี้จะทำให้เห็นเลยว่าทำไมสิ้นเดือนมาเราถึงได้กินแต่มาม่า เงินมันหายไปไหนหมด สำคัญมาก
  • แบ่งเงินไว้สำหรับใช้ซื้อของตามอารมณ์​ (“Emotional Spending Budget”) เช่นเดือนละ 2,000 จะซื้ออะไรก็ซื้อ อารมณ์เสียก็ซื้อจากกองนี้แหละ หมดแล้วห้ามเติมจนกว่าจะถึงเดือนใหม่ (แต่ต้องเป็นเงินที่เหลือจริง ๆ นะครับ ไม่ใช่ว่าขาดค่าเช่าบ้านหรือเอาเงินจ่ายหนี้มาใส่กองนี้ไม่ได้)
  • จ่ายด้วยเงินสด ใช้บัตรเดบิต งดบัตรเครดิตให้มากที่สุด ทิ้งบัตรไว้ที่บ้านเลยยิ่งดี
  • กดยกเลิกติดตามข่าวสารจากเพจโปรโมชัน หรือ email ข่าวสาร ถ้าให้ดี...กดลบแอปชอปปิงในมือถือไปเลยครับ
  • ทำลิสต์ชอปปิงเวลาไปซื้อของ
  • รอ 72 ชั่วโมงก่อนจะกดซื้อ ถ้ายังอยากได้ในอีกสามวันข้างหน้า...ค่อยตัดสินใจอีกทีว่าจำเป็นจริงไหมและมีเงินพอรึเปล่า (กลับไปดูบัญชีรายรับรายจ่ายครับ)
  • หากิจกรรมอย่างอื่นทำเช่นทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ล้างจาน (เชื่อสิครับมันช่วยได้จริง ๆ นะ) ไปวิ่ง เล่นกับแมว ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ หรือไปวิ่งให้เหงื่อออก


สิ่งที่สำคัญคือมีสติอยู่กับตัวตลอด โดยเฉพาะเมื่อกำลังจะควักเงินที่หามาด้วยหยาดเหงื่อเพื่อซื้อของ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะถ้าง่ายก็คงไม่มีคนเป็นล้าน ๆ คนที่กำลังต่อสู้กับปัญหานี้อยู่

การใช้เงินเพื่อซื้อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ มันไม่ใช่เรื่องผิดครับ เราทุกคนอยากมีความสุขอยู่แล้วมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เพียงแต่เมื่อไหร่ก็ตามที่กิจกรรมที่ดูไร้พิษภัยนี้เริ่มบานปลายกลายเป็นการเสพติด ก็จะส่งผลเสียต่อเงินในบัญชีและบางทีทำลายความสัมพันธ์ะหว่างคุณกับคนใกล้ตัวได้เช่นกัน (เรื่องเงินคือปัญหาใหญ่ของครอบครัวเลยล่ะครับ)

ถ้าอ่านตรงนี้แล้ว ลองพยายามทำตามที่แนะนำแล้วยังไม่ได้ผล การพบผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเพื่อรับคำปรึกษาก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรทำเช่นเดียวกัน

อ่อ...แล้วทริคอีกอย่างหนึ่งถ้าเครียดมาก ๆ เมื่อเจอหัวหน้าจิกตลอดเวลาก็ปิดเครื่องไปครับ ถ้าจะจิกก็ค่อยให้เขาไปจิกต่อพรุ่งนี้ละกันครับ

======

https://www.myhubble.money/blog/why-spending-money-relieves-stress

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22641966/

https://tidymalism.com/why-does-spending-money-feel-good/

https://www.verywellmind.com/how-to-stop-emotional-spending-retail-therapy-5218151

https://blog.gitnux.com/shopping-addictions-statistics/