เตรียมตัวเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว ไฮซีซันของบ้านเราพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนประชาชนคนไทยบางส่วนเริ่มเดินทางไปเที่ยวหรือจองตั๋วสำหรับช่วงวันหยุดในช่วงปลายปีกันแล้ว

ช่วงเก็บกระเป๋าเดินทางและไปเที่ยวคือช่วงเวลาแห่งความสุข สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ

แต่ถ้าใครเป็นเหมือนผม สิ่งที่กลับมาด้วยพร้อมการเดินทางครั้งล่าสุด ไม่ใช่แค่ของฝากหรือความทรงจำดีๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นก้อนหนี้บัตรเครดิตที่เห็นยอดแล้ว...หน้าซีดลมแทบจับเลยทีเดียว (ถามตัวเองเสมอนะครับว่าตอนนั้นคิดอะไรอยู่วะเนี้ย)

ใครจะว่ายังไงก็แล้วแต่ การเดินทางแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย และแน่นอนว่ามันจำเป็นสำหรับการใช้ซื้อประสบการณ์ต่างๆ และผมเชื่อนะครับว่าถ้าไม่ลำบากมากนัก การจ่ายเงินเพื่อสร้างความทรงจำถือเป็นสิ่งที่มีค่า

แต่หลายต่อหลายครั้งเราเสียหายเจ็บตัวกับคำว่า ‘เรามาแค่ครั้งเดียว’ มากเกินไปสักหน่อย กลับมาเห็นยอดบิลแล้วนึกว่าภูเขาเอเวอเรสต์ แบบนั้นก็คงเลวร้ายเกินไป

ถ้ามันมากถึงขั้นว่าทำให้แผนการเงินของเราสะดุดติดขัด แบบนี้คงไม่ดีแน่ๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะแก้ไขยังไงดี?

1. เผชิญหน้ากับความจริงก่อนเลย

อย่าหนีครับ เราเป็นหนี้ เราไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายหรือทำให้ใครเสียชีวิต เพราะฉะนั้นต้องเอาบิลที่เราจ่ายไปตอนไปเที่ยวกลับมานั่งรีวิวเลยว่าจ่ายไปกับอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นว่าเงินออกตรงไหน (สิ่งนี้จำเป็นเพื่อจะไม่ทำพลาดอีกในอนาคต) กิจกรรมราคาแพง อาหารเย็นสุดหรู ของฝาก หรือโรงแรมห้าดาว ฯลฯ

2. อดทนสักระยะ

หลังจากฟื้นจากอาการหน้ามืดแล้ว ยาดมเสียบจมูกพร้อมลุย ทีนี้ก็มาดูครับว่าส่วนไหนของรายจ่ายในชีวิตประจำวันของเราสามารถลดทอนได้สักระยะหนึ่ง (สังเกตนะไม่ใช่ตลอดไป) อดทนเอาหน่อย อีกสามสี่เดือนข้างหน้าลดการไปกินข้าวนอกบ้านลงได้ไหม ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย เสื้อผ้าใหม่ หรือตัดพวกบริการสตรีมมิ่งบางส่วนออกไปก่อน

เป้าหมายของขั้นตอนนี้คือการล้างหนี้จากการไปเที่ยวให้เร็วที่สุด แม้จะเป็นเงินเล็กๆน้อยๆ ก็ช่วยได้เช่นกัน

3. ลองใช้เทคนิค Cash-Stuffing หรือแยกเงินใส่ซอง

ถ้าใครยังไม่เคยลองวิธีนี้อยากแนะนำ เอาซองจดหมาย (หรือซองพลาสติกก็ได้ถ้าอยากให้ทนหน่อย) เขียนติดหน้าซองว่าเงินตรงนี้จะใช้กับอะไร เช่นซองสำหรับน้ำมันรถ ซองสำหรับซื้อของเข้าบ้าน ซองสำหรับอาหารน้องหมา/แมว ฯลฯ เมื่อเงินเดือนเข้าก็แบ่งเงินใส่เป็นซองๆ แล้วต้องพยายามไม่ใช้เงินมากกว่าที่จัดแบ่งเอาไว้แล้ว เหมือนเป็นการเล่นเกมอย่างหนึ่งเลย (ตอนนี้ผมก็ทำอยู่มันท้าทายและสนุกดีครับ)

4. อย่าจ่ายแค่ขั้นต่ำ

พอตัดงบบางส่วน แยกเงินใส่ซองแล้ว เงินเหลือสำหรับจ่ายหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น ทำยังไง? ทบไปเลยครับ โปะเงินเข้าไปให้หนี้มันหมดไวที่สุด ไม่ต้องคิดอะไรมาก ยิ่งหมดเร็วยิ่งดีเพราะจ่ายดอกเบี้ยน้อยไปด้วย อย่าจ่ายแค่ขั้นต่ำเท่านั้น

5. เยียวยาการเงินของตัวเอง

พอหนี้เริ่มลด ทีนี้ก็ถึงเวลากลับมาเยียวยาบาดแผลทางการเงินที่ทริปล่าสุดทำไว้ให้กับเราแล้ว ถ้าต้องใช้เงินบางส่วนของเงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Fund) รีบเอากลับไปใส่คืนตรงนี้ก่อนให้ไว อย่างต่ำๆ ต้องมีสัก 6 เดือน ถ้าให้ปลอดภัยก็ปีหนึ่ง

เติมเงินตรงนี้ให้ได้ตามเป้าก่อนแล้วหลังจากนั้นก็ค่อยเริ่มกลับเข้าสู่ชีวิตปกติ แบ่งเงินลงทุน เก็บเงินเกษียณ ฯลฯ

6. ใจเย็นๆ และครั้งต่อไปก็คิดให้เยอะๆหน่อยก่อนจะรูด

การเดินทางสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดี แต่ก็มีบ้างที่ค่าใช้จ่ายจะบานปลายคล้ายว่าซื้อของทั้งเกาะญี่ปุ่นกลับมาด้วยรึเปล่า การซ่อมแซมและแก้ปัญหาเรื่องการเงินที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางนั้นใช้เวลาสักพักหนึ่ง สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่คุณจะทำได้คือทำเป็นไม่สนใจและปล่อยให้แผนการเงินที่อุตส่าห์วางเอาไว้ล้มลงไปต่อหน้าต่อตา

อย่าเอาความผิดพลาดมากำหนดว่าคุณเป็นใคร ทุกคนพลาดกันได้ (อย่างผมตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าไอ้รองเท้าวิ่งที่ซื้อมาเผื่อสองคู่ในตู้เพราะกลัวว่าคู่แรกจะขาดเมื่อไหร่จะได้ใช้?) และเราก็แก้ไขมันได้ด้วยเช่นกัน

ทำตามแผนที่วางเอาไว้ครับ อดทน ตัดเงินบางส่วน จ่ายหนี้ให้หมดโดยไว แล้วทุกอย่างจะกลับมาเข้าที่เข้าทางเอง

ครั้งต่อไปที่จะไปเที่ยวก็ลองวางงบเอาไว้ก่อนเลยว่าจะใช้เท่าไหร่ แล้วระหว่างทางก็คอยตามดูยอดบัตรเครดิตด้วยจะได้ไม่บานปลาย ไม่ต้องกลับมาแล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่ฉันทำอะไรลงไปอีกแล้วเนี้ย” เหมือนที่ผมเป็นบ่อยๆ ครับ