วันก่อนไปเดินห้างในเชียงใหม่แต่เช้า

วันนั้นอยากทานเนื้อย่างเป็นอาหารเช้า (แกก็ฟิตเกินไปหน่อยนะ)​ ผมเลยพาภรรยาและลูกไปตั้งแต่ห้างเปิดตอนช่วง 11 โมง ซึ่งในตอนแรกนั้นเราก็วางแผนกันเอาไว้ว่าหลังจากที่ทานอาหารเสร็จแล้วก็จะกลับบ้านมาอาบน้ำ (เพราะหัวเหม็นควัน) แล้วก็อาจจะไปสวนสาธารณะเพื่อไปเดินเล่นกันสักหน่อย

แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น, หลังจากที่ทานเสร็จ ภรรยาบอกว่าขอไปดูเครื่องสำอางชั้นล่างหน่อยเพราะของที่บ้านหมดแล้ว ผมบอกงั้นเดี๋ยวไปแวะ B2S ด้วยเพราะอยากได้หนังสือเล่มใหม่พอดี ลูกสาวบอกอยากทานไอศกรีมเราก็ไปกันต่อ

รู้ตัวอีกทีเราอยู่ถึงประมาณ​ 6 โมงเย็นได้, เฮ้ย...หมดวันแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “Temporal Distortion” หรือการที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ร้านค้าอย่าง IKEA (หรือ Walmart) จะไม่มีนาฬิกาแขวนบอกเวลาให้เห็น มีหน้าต่างให้มองเห็นข้างนอกไม่ค่อยเยอะ ซึ่งก็เป็นเทคนิคที่ยืมมาจากการออกแบบคาสิโนที่ไม่มีนาฬิกาหรือหน้าต่างให้เห็นข้างนอก โดยที่จะทำให้คนที่เข้ามานั้นไม่มีการรับรู้ว่าใช้เวลาไปนานแค่ไหนแล้ว หรือถ้าในมุมของคาสิโนก็คือไม่รู้ว่าเล่นไปกี่ตาที่โต๊ะนี้หรือตู้สล็อตอันนี้นั้นแหละ (โยกกันเข้าไปเลย)

“Temporal Distortion” หรือ เรียกอีกชื่อว่า “Time Distortion” แปลไทยก็คือการบิดเบือนของช่วงเวลา เป็นการบิดเบือนการรับรู้ของเวลาของลูกค้า เหมือนกับตอนที่เราหยิบเกมส์ขึ้นมาเล่นแล้วบอกว่า “ขอห้านาที” แล้วผ่านไปห้าชั่วโมงก็ยังกดจนปวดนิ้ว นี่คือประสบการของ Temporal Distortion

การที่ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าออกแบบมาให้เป็นแบบนี้ก็คงมีสาเหตุเดียว ให้เราใช้เวลาอยู่ที่นี่นานขึ้น ให้ใช้เงินมากขึ้น มันอาจจะดูเป็นเทคนิคสีเทาไม่ซื่อตรงสักเท่าไหร่ แต่ก็มีการทำกันมาโดยตลอด
.
แล้วทำไมเมื่อเราอยู่นานขึ้นแล้วจะมีโอกาสใช้เงินมากขึ้นหล่ะ? มันมีหลักทฤษฎีทางจิตวิทยาอีกอันหนึ่งที่เข้ามาช่วยเสริมที่เรียกว่า “Decision Fatigue” ครับ

การตัดสินใจอะไรบางอย่างใช้พลังงานสมองค่อนข้างเยอะ “ดีไหม หรือยังไงดี ที่บ้านมีพอไหม หรือซื้อไปเพิ่ม อันเก่ายังใช้ได้ไหม...ฯลฯ” เมื่อต้องตัดสินใจเยอะๆ สมองเราจะเหนื่อยแล้วตัดสินใจแบบส่งๆไป โดยมีงานวิจัยของนักจิตวิทยา Roy F. Baumeister ผู้เขียนหนังสือ “Willpower: Rediscovering the Greatest Human Strength." เขาบอกว่า

“การตัดสินใจนั้นใช้ความตั้งใจเท่าๆกับการที่จะปฏิเสธโดนัท ไม่เสพยา หรือลักลอบมีเพศสัมพันธ์ มันเหมือนกับความตั้งใจที่จะสุภาพ หรือรอคิว หรือลากตัวเองออกจากเตียงในตอนเช้า”

นี่เป็นเหตุผลที่ว่า Steve Jobs, Barack Obama หรือ Mark Zuckerberg ใส่เสื้อผ้าที่มีแพทเทิร์นเดิมๆทุกๆวัน เพราะอยากจะลดขั้นตอนการตัดสินใจของแต่ละวันลงให้น้อยที่สุด

ซึ่งงานวิจัยก็บอกแหละครับว่าเมื่อเราเหนื่อยกับการตัดสินใจอะไรมาทั้งวัน สมองเราจะเข้าสู่โหมด “Decision Fatigue” หรือเหนื่อยล้ากับการตัดสินใจ มันจะทำให้เราตัดสินใจแบบมีเหตุผลได้น้อยลง พูดอีกอย่างก็คือว่ายิ่งเราอยู่นานเท่าไหร่เรายิ่งมีโอกาสตัดสินใจพลาดมากขึ้นเท่านั้น แถมยังทำให้ตกเป็นเหยื่อทางการตลาดและของลดราคาได้ง่ายมากขึ้นด้วย ยิ่งสมองเราเหนื่อยมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะใช้อารมณ์ซื้อของ (Impulse Purchase) จะมีสูงมากๆด้วย

มีหลายสถานที่ที่ใช้ “Temporal Distortion” ในทางสร้างสรรค์อย่างที่โรงแรม Venetian คาสิโนที่ Las Vegas ที่ทาสีเพดานด้านบนให้เป็นเหมือนกับท้องฟ้า มีการเปลี่ยนสีตามเวลาด้านนอกให้ดูเหมือนพระอาทิตย์ตกดินด้วยอีกต่างๆหาก เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามานั้นรู้สึกเหมือนกับตัวเองอยู่ที่เมืองเวนิสนั้นเอง

สภาพแวดล้อมและสภาวะจิตใจนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเราเป็นอย่างมาก บางทีอาจจะมากจนเราไม่ทันได้สังเกตุด้วยซ้ำ ธุรกิจที่ใช้ “Temporal Distortion” ก็ควรใช้อย่างมีความรับผิดชอบด้วย และเราเองในฐานะลูกค้าก็ควรรู้ทันด้วยเช่นเดียวกัน

ถ้ารู้สึกว่าวันนี้ตัดสินใจเยอะแล้ว เหนื่อยแล้วก็ควรพักครับ เพราะบางทีเสื้อลายดอกที่ซื้อมาตอนที่ลองในร้านหลังจากเดินซื้อของต่างๆมาแล้วทั้งวันอาจจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีสักเท่าไหร่