ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน ขณะเดียวกันตลาดการลงทุนเต็มไปด้วยความผันผวน นักลงทุนจึงต้องปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยง พร้อมๆ กับเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน และกลยุทธ์ที่น่าสนใจ คือ ลงทุนสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ สามารถสร้างตอบแทนโดยรวมสู้กับเงินเฟ้อได้ ซึ่งการลงทุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคก็เป็นทางเลือกที่ดี

โครงสร้างพื้นฐาน คือ พื้นฐานของสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน สำหรับโครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไป คือ ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงเมกกะเทรนด์ต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับกระแสรักษ์โลก รวมถึงระบบโครงข่าย 5G, รถยนต์พลังงานไฟฟ้า, ยานยนต์อัจฉริยะ หรือหุ่นยนต์ เป็นต้น

เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ทำให้ประเทศทั่วโลกต้องพัฒนาและลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่น ประธานธิปดี โจ ไบเดน สหรัฐอเมริกา อนุมัติกฏหมาย Bipartisan Infrastructure วงเงินประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม เช่น ถนน, สะพาน, รางรถไฟ รวมถึงการรองรับเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือรัฐบาลอิตาลี จัดสรรงบปนะมาณราว 200 พันล้านเหรียญยูโร เพื่อพัฒนาทางด้านปัจจัยพื้นฐานตามโครงการ Next Generation Italia เพื่อฟื้นฟูประเทศจากการระบาด COVID-19

รายงาน Global Megatrends 2022 ซึ่งจัดทำโดย Project Management Institute (PMI) ระบุว่า 6 เมกกะเทรนด์หลักที่จะขับเคลื่อนทิศทางของโลกในอนาคต ประกอบด้วย Digital Disruption, วิกฤติทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis), การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ (Demographic Shifts), การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Economic Shifts), การขาดแคลนแรงงาน (Labor Shortages) และความเท่าเทียม (Civil, Civic and Equality)

ทั้ง 6 เมกกะเทรนด์ ถือเป็นสัญญาณการขับเคลื่อนทิศทางโลกในอนาคต ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค การเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคน เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุค 4.0 รู้จักรูปแบบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

จากประเทศทั่วโลกที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วโลกมีมุมมองตรงกันว่า การลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีแนวโน้มที่สดใส โดยนอกการลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมๆ ที่เน้นการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ มีกระแสเงินสด มีความมั่นคง ไม่ผันผวนไปกับเศรษฐกิจแล้ว

โดยยังสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ด้วยการเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่กำลังมีการพัฒนา และเติบโตไปกับกระแสโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมเมืองและยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ เช่น 5G, Internet of Things (IoT) และด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานทดแทนต่างๆ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งทั้งสองแนวคิดดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลกในอนาคต

การลงทุนในสินทรัพย์หรือบริษัทที่ทำโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นการลงทุนเชิง Defensive ในสถานการณ์ที่โลกการลงทุนมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจมีความอ่อนไหว เนื่องจากกระแสรายได้จากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมั่นคง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้บริโภคหรือมีฐานผู้ใช้จำนวนมาก

หากสนใจลงทุนในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเลือกลงทุนได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่

การลงทุนทางตรง

ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ซึ่งเป็นลักษณะที่ภาครัฐหรือภาคธุรกิจระดมทุนเพื่อนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ โดยผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ยกเว้นภาษีเงินปันผลจากกองทุนดังกล่าว

การลงทุนทางอ้อม

ลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยกองทุนรวมดังกล่าวจะไปลงทุนในตราสาร หรือหุ้นของธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะอยู่ในธุรกิจใด ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงการลงทุนผ่านกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Fund) ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้วย

จากการลงทุนโดยตรงในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วโลกมีมุมมองตรงกันว่า การลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยังคงมีแนวโน้มที่สดใสเช่นกัน

ด้วยคาแรกเตอร์เฉพาะของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เน้นการลงทุนระยะยาว อัตราผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่มักเติบโตตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาการให้บริการของแต่ละโครงการ

กองทุนรวมธนชาตอินฟราสตรัคเจอร์ แอนด์แน็ชเชอรัล รีซอรส์ ฟันด์ ออฟ ฟันด์ (T-INFRA) (บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย)

T-INFRA มีนโยบายที่จะลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ 2 กองทุนขึ้นไปที่เน้นลงทุนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขนส่ง พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และอาจลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจเทคโนโลยี ปัจจุบันลงทุนกองทุนหลักๆ 2 กองทุน ได้แก่ Invesco QQQ Trust Series I (QQQ) และ Lazard Global Listed Infrastructure Equity Fund A Acc USD Hedged Share Class (LZGIUIA)

สำหรับผลการดำเนินงาน T-INFRA 1 มกราคม – 3 พฤศจิกายน 2566 ให้ผลตอบแทนรวม 6.47% ขณะที่ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย (ต่อปี) 3 ปี และ 5 ปี ทำได้ 5.56% และ 7.38% ตามลำดับ

เหมาะกับใคร

1. นักลงผู้ลงทุนที่มีความคาดหวังการเติบโตและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

2. นักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุน เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนจากผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

3. นักลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่มาก และต้องการลงทุนในระยะยาว

ทำไมต้องลงทุน

1. ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภค มีโอกาสเติบโตดีในอนาคต 

2. ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภค กระแสรายได้จากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมั่นคง และสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ

3. กองทุนรวมโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หากลงทุนระยะยาวจะมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ

ที่มา :บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย), บลจ.กรุงศรี, บลจ.พรินซิเพิล, บลจ.บัวหลวง, Morningstarthailand

รูปภาพ

ที่มา : Global Infrastructure Hub

อธิบายรูป : มูลค่าเงินลงทุนรวม, เงินลงทุนปัจจุบันและความต้องการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคโลก ปี 2016 – 2040 (หน่วย : ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ)

ที่มา : Global Infrastructure Hub

อธิบายรูป : เปรียบเทียบมูลค่าเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคโลก แยกตามอุตสาหกรรม ปี 2016 – 2040 (หน่วย : ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ)

แท่งสีน้ำเงิน คือ แนวโน้มการลงทุนในปัจจุบัน

แท่งสีเขียว คือ ความต้องการเงินลงทุนในอนาคต