ทรัพย์สินที่คนเราทิ้งไว้หลังความตายสะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้ พฤติกรรมการใช้จ่าย ตลอดจนการวางแผนการออมและการลงทุนในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่

แน่นอนว่าคนรายได้สูงย่อมมีโอกาสในการออมและลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งมากกว่าคนรายได้น้อย แต่มูลค่าทรัพย์สินที่ตกทอดสู่ทายาทนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจที่เจ้าของทรัพย์สินได้รับจากการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลาด้วยเช่นกัน โดยเจ้าของทรัพย์สินพึงพอใจกับการเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในอนาคตมากกว่าปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะส่งต่อความมั่งคั่งให้ทายาทได้มาก

นอกจากนี้ ความมั่งคั่งที่ตกทอดมาจากคนรุ่นก่อนถือเป็นทรัพยากรเริ่มต้นสำหรับการดำเนินชีวิตที่มีส่วนช่วยในการเลื่อนสถานะทางสังคมของคนรุ่นถัดไป

ตัวอย่างเช่น ชาวจีนที่อพยพมายังประเทศไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเริ่มต้นจากการทำงานใช้แรงงาน เมื่อเก็บเงินได้ก็เปิดกิจการเป็นของตัวเอง ส่งต่อให้ลูกหลานดูแลและต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล ท้ายที่สุดลูกหลานก็สามารถเลื่อนสถานะจากชนชั้นแรงงานขึ้นมาเป็นนายทุนที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

อะไรคือแรงจูงใจให้คนเราทิ้งทรัพย์สินไว้หลังความตาย

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้คำนวณหาระดับการใช้จ่ายและการออมที่เหมาะสมมักสมมติให้คนเราใช้ทรัพย์สินทั้งหมดที่หามาได้ก่อนตาย หรือพูดง่าย ๆ คือเงินหมดปุ๊บก็ตายทันที แต่ในความเป็นจริงคนเราอาจมีแรงจูงใจดังต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งประการ ซึ่งทำให้ทรัพย์สินบางส่วนยังหลงเหลืออยู่ แม้ตัวจะตายไปแล้วก็ตาม

1. ความไม่แน่นอน (uncertainty)

คนเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าตัวเองจะตายตอนไหน ยกเว้นบางกรณี เช่น เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ซึ่งแพทย์อาจแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าตัวเองเหลือเวลาในชีวิตอีกนานแค่ไหน

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าช่วยให้คนอายุยืนขึ้น ดังนั้น หนทางในการลดความเสี่ยงที่เงินจะไม่พอใช้ตอนแก่ก็คือการทำงานหนักเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตัวเอง

หากเจ้าของทรัพย์สินตายเร็ว ทรัพย์สินส่วนที่ใช้ไม่หมดค่อยมอบเป็นมรดกให้ทายาท ทำให้ทายาทประเมินได้ยากว่าทรัพย์สินส่วนไหนที่เจ้าของตั้งใจเก็บไว้เป็นเงินออมเผื่อฉุกเฉินและส่วนไหนที่ตนจะได้รับเป็นมรดก

2. ความเห็นอกเห็นใจ (altruism)

แรงจูงใจนี้มักเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ที่กังวลว่าลูกจะใช้ชีวิตลำบากหลังจากที่ตัวเองตาย จึงวางแผนที่จะยกทรัพย์สินบางส่วนให้ลูก

ความเห็นอกเห็นใจส่งผลให้เจ้าของทรัพย์สินต้องทำงานหนัก เช่นเดียวกับแรงจูงใจที่เกิดจากความไม่แน่นอน แต่ต่างกันตรงที่เจตนาของการสร้างความมั่งคั่งถูกระบุไว้ตั้งแต่ก่อนตายว่าเพื่อมอบให้แก่ทายาท

โดยอาจบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่มีผลทางกฎหมาย เช่น พินัยกรรมที่ระบุมูลค่าของทรัพย์สินที่แบ่งให้ทายาทแต่ละคน เพื่อให้มั่นใจว่าทายาทจะได้รับมรดกตามที่เจ้าของทรัพย์สินตั้งใจไว้ และช่วยป้องกันการทะเลาะวิวาทกันในกลุ่มทายาท

3. การแลกเปลี่ยน (exchange)

เจ้าของทรัพย์สินบางคนคาดหวังว่าตัวเองจะมีคนมาดูแลในยามแก่ แลกกับการมอบทรัพย์สินบางส่วนให้เป็นการตอบแทน ซึ่งฟังดูสอดคล้องกับวัฒนธรรมแบบเอเชียที่นิยมอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายช่วงอายุ

โดยเด็ก ๆ มีหน้าที่ดูแลผู้ใหญ่ในครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับบางครอบครัว การพาผู้สูงอายุไปฝากไว้ที่บ้านพักคนชราอาจสร้างความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง

ผลสำรวจความต้องการของผู้สูงอายุไทยในปี 2566 ที่จัดทำโดยนิด้าโพลพบว่าผู้สูงอายุราว 53% ระบุว่าสถาบันครอบครัวคือผู้ที่เหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าของทรัพย์สินที่มีแรงจูงใจเช่นนี้อาจเลือกที่จะเกษียณอายุก่อนกำหนด (early retirement) เพื่อมารับการดูแลจากลูกหลาน

อย่างไรก็ตาม หากมองเป็นภาพรวมในระดับประเทศ การคำนวณสัดส่วนของทรัพย์สินที่คนรุ่นหนึ่งจะส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปสามารถทำได้ยาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ข้อมูลจากแบบสำรวจต่าง ๆ ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ

อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงกันในเรื่องของวิธีการคำนวณที่เหมาะสม แต่ก็มีนักวิจัยหลายท่านในต่างประเทศพยายามคำนวณตัวเลขดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการทำนโยบายการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม

เมื่อการรับมรดกมีต้นทุนที่ต้องจ่าย

ย้อนดูผลการจัดเก็บภาษีมรดกของไทยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยมีแนวคิดให้ผู้รับมรดกต้องชำระภาษีให้รัฐมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 โดยมีการตราพระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก พุทธศักราช 2476 แต่บังคับใช้ได้เพียง 11 ปีก็ถูกยกเลิก เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยที่เห็นว่าการชำระภาษีเป็นภาระที่หนักเกินไป

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยกลับมาเรียกเก็บภาษีจากผู้รับมรดกอีกครั้ง โดยเรียกเก็บจากเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทในอัตรา 10% หรืออัตรา 5% ในกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน

หลายท่านอาจกำลังสงสัยว่าเกณฑ์การเรียกเก็บภาษีมรดกของไทยในปัจจุบันนั้นถือว่าสูงหรือต่ำ ซึ่งคงต้องตอบด้วยการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกเช่นกัน

โดยพบว่าเกณฑ์ของประเทศไทยผ่อนผันมากกว่าเกณฑ์ของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรที่เรียกเก็บภาษีมรดกจากส่วนที่มีมูลค่าเกิน 325,000 ปอนด์ หรือประมาณ 14 ล้านบาท ยกเว้นการให้มรดกที่เป็นบ้านแก่ลูกหลาน ซึ่งอนุญาตให้ชำระภาษีเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเกิน 500,000 ปอนด์ หรือประมาณ 21 ล้านบาท โดยเรียกเก็บอัตราภาษีในอัตราเดียวที่ 40%

เกณฑ์การเรียกเก็บภาษีมรดกของไทยที่ผ่อนผันมากกว่าหลายประเทศส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลไทยมีรายได้จากภาษีมรดกเพียง 474 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของรายได้จัดเก็บทั้งหมด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ 0.5% ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนดูพัฒนาการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 พบว่ารายได้จากภาษีมรดกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยกเว้นในปี 2563 ที่มีการระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลจัดเก็บภาษีมรดกไปแล้วถึง 455 ล้านบาท นับเป็นสัญญาณที่ดีของการนำนโยบายการจัดเก็บภาษีมรดกมาใช้ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

สิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากไว้เป็นประเด็นให้ผู้อ่านทุกท่านนำไปขบคิดคือแม้ว่าแนวคิดการจัดเก็บภาษีมรดกจะได้รับการยอมรับจากหลายประเทศในฐานะเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็เป็นเพียงหนทางที่ทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนยังต้องคำนึงถึงแนวทางการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งควรมุ่งเน้นที่การลงทุนในโครงการที่คนจนจะได้ประโยชน์ มิใช่ลงทุนเฉพาะโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนรวยด้วยกันเอง

-----------------------------------

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ

เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย