หากพิจารณาความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นยุโรป ตั้งแต่ต้นปี -  3 พฤศจิกายน 2566 พบว่าดัชนีหุ้นเริ่มกลับมาสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยดัชนี Europe Stoxx, ดัชนี STOXX 600, ดัชนี CAC-40, ดัชนี DAX, และดัชนี FTSE MIB ปรับเพิ่มขึ้น 7.01%, 4.55%, 8.86%, 9.09% และ 20.96% ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญมาจากการประเมินว่าธนาคารกลางยุโรปจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อ ตลาดจึงมองว่าเศรษฐกิจยุโรปถึงจุดต่ำสุดแล้ว

โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่าตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นม้ามืดมาแรงในช่วงครึ่งหลังปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ปัญหาในภาคธนาคารยุโรปก็ไม่ได้ลุกลามเป็นวงกว้างแต่อย่างใด ธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปยังมีผลกำไรที่แข็งแกร่งและทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังมีการกำกับดูแลกลุ่มธนาคารที่เข้มงวดอีกด้วย

ประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ทาง ECB เริ่มหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อไปได้ และเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นยุโรปที่มีสัดส่วนของหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น กลุ่มธนาคาร

นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องวิกฤติพลังงานในยุโรปเริ่มเบาบางลงอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขสต๊อกก๊าซธรรมชาติของยุโรปในครึ่งแรกของปี 2023 ยังสูงกว่าในช่วงปี 2021 - 2022 อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นักวิเคราะห์ Morningstar Wealth อธิบายว่าตลาดหุ้นยุโรปมีความคล้ายกับตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ในแง่ผลตอบแทนที่ไม่ดีเท่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม จะมีรูปแบบของวัฏจักรผลตอบแทนในอดีตที่คล้ายกับตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ในอนาคตตลาดหุ้นยุโรปน่าจะแข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะราคาหุ้นได้สะท้อนภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำจากสงครามรัสเซียกับยูเครนไปแล้ว

อีกทั้ง ในแง่มูลค่าหุ้นก็อยู่ในระดับที่น่าสนใจทุน เช่น กลุ่มธนาคารในยุโรปซึ่งได้รับผลดีจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สูงขึ้นซึ่งนำไปสู่การปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นได้ หรือราคาหุ้นในตลาดเยอรมันที่ปรับลงมาอย่างมากจากภาวะสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้มีการส่งพลังงานจากรัสเซียมายังเยอรมันได้ลดลงและเกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ยังถือว่าน่าสนใจเนื่องด้วยการที่สถานะการเงินของบริษัทในตลาดค่อนข้างแข็งแกร่งและมีโอกาสที่จะถูกปรับแนวโน้มกำไรเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น

ตลาดหุ้นรับรู้ความเสี่ยงไปมากแล้ว

ไม่ว่าจะเรื่องความกังวลวิกฤติพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่คลี่คลายลง จากทั้งปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เพียงพอ และฤดูหนาวครั้งนี้ไม่ได้ยาวนานเท่าปีก่อน ความต้องการใช้พลังงานจึงไม่สูงตาม ราคาก็ไม่อยู่ในระดับที่สูงจนเกินไป รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน และตลาดก็ได้รับรู้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรปไปมากแล้ว ประกอบกับก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง ความถูกของหุ้นยุโรปจึงดึงเม็ดเงินให้ไหลเข้า ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมา

ได้รับประโยชน์จากนโยบายจีนเปิดประเทศ

ก่อนหน้านี้จีนมีการล็อกดาวน์ประเทศ จากสถานการณ์ COVID-19 เมื่อคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนที่มีกำลังทรัพย์ คือ ยุโรป ดังนั้น ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงสินค้า Luxury แบรนด์เนมในยุโรปจึงได้รับประโยชน์จากนโยบายจีนเปิดประเทศโดยตรง

กองทุนรวมทหารไทย ยูโรเปี้ยน โกรท (TMBEG) (บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย))

TMBEG เป็นกองทุนฟีดเดอร์ โดยลงทุนในกองทุนรวมมีนโยบายลงทุนกองทนุ Wellington Strategic European Equity Fund ที่มีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบ Active Management เพื่อคัดเลือกหุ้นจากกลุ่มประเทศยุโรปที่มีศักยภาพในการเติบโต มีความสามารถในการแข่งขัน และมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดในอนาคต เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนระยะยาวจากการขยายตัวของบริษัทเหล่านี้

สำหรับผลการดำเนินงาน TMBEG 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2566 ให้ผลตอบแทนรวม 5.48% ขณะที่ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย (ต่อปี) 3 ปี และ 5 ปี ทำได้ 11.33% และ 7.62% ตามลำดับ โดยล่าสุดมีสัดส่วนลงทุนหุ้น 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ British American Tobacco, BAE Systems, Rheinmetall, Haleon, Erste Group Bank

เหมาะกับใคร

1. นักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศเพื่อรับรายได้จากส่วนต่างจากการลงทุน

2. นักลงทุนที่ต้องการสะสมผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว

3. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง เพราะอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ, กฎระเบียบจากทางการ, อารมณ์ของตลาด และปัจจัยทางการเมือง

ทำไมต้องลงทุน

1. ตลาดหุ้นยุโรป มีโอกาสปรับขึ้นได้อีก จากปัจจัยเชิงบวกต่างๆ 

2. เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนกับดัชนีชี้วัด MSCI Europe Net Total Return EUR Index พบว่าในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปีนั้นมีมูลค่าที่เหนือกว่าดัชนีชี้วัด ในระยะเวลา 3 ปีนั้นจะมีมูลค่าต่ำกว่าดัชนีชี้วัดเพียงเล็กน้อย ส่วนเมื่อเทียบกับระยะยาวช่วง 5 ปีไปถึงจนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนนั้นเอาชนะดัชนีชี้วัดได้ จึงถือเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น

3. โอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จากผลการดำเนินงานของกองทุนรวม

ที่มา : บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย), ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารกสิกรไทย, Morningstarthailand,