แม้จะตีพิมพ์มานานเกินสิบปี แต่หนังสือ “Thinking, Fast and Slow” (แปลไทย ‘คิด, เร็วและช้า’) ที่เขียนโดย แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเจ้าของรางวัลโนเบล (ปี 2002) ถือว่าเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและคลาสสิกมากที่สุดเล่มหนึ่งที่เผยให้เราเข้าใจถึงเบื้องหลังการทำงานของสมองและชี้ให้เห็นความเข้าใจผิดๆ ที่เราคิดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลนั้นไม่ใช่ความจริงซะทีเดียว

แก่นหลักของหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงความแตกต่างของระบบการทำงานของสมอง 2 ระบบ : ‘ระบบ 1’ คือการตอบสนองแบบว่องไว ตามสัญชาตญาณ เคลื่อนไหวตามอารมณ์ ส่วน ‘ระบบ 2’ คือการตอบสนองแบบช้ากว่า มีการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบและมีเหตุผลรองรับ

ยกตัวอย่างเช่นหากเราได้ยินเสียง ‘กุกๆกักๆ’ จากน้องห้องตอนกลางคืน ‘ระบบ 1’ จะตอบสนองด้วยอาการตกใจ สะดุ้ง หยิบไม้เบสบอลข้างเตียง สมองจะโฟกัสไปที่เสียงนั้นทันที หรืออย่างเราเห็นโจทย์คำถามให้ตอบแบบคิดวิเคราะห์เช่น ‘จงอธิบายเหตุผลว่าทำไมคุณถึงเหมาะสมกับงานที่ทำอยู่?’ ทีนี้ ‘ระบบ 2’ จะเข้ามาควบคุมส่วนที่ใช้เหตุผลแล้ว

สองระบบนี้มีอยู่ในสมองของเราทุกคน ทำงานแยกกันและมีเป้าหมายที่ต่างกัน ‘ระบบ 1’ ช่วยให้เราประหยัดพลังงานสมอง แต่ในขณะเดียวกันก็ผิดพลาดและตกหลุ่มพรางอคติทางจิตใจได้ไม่ยาก ‘ระบบ 2’ แม้จะมีเหตุผล แต่ก็ใช้พลังงานมากหน่อย ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ตลอดเวลา

หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงแรงจูงใจหรือสิ่งกระตุ้นที่มีเหตุมีผลและไม่สมเหตุสมผลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดแต่ละประเภทและวิธีที่สิ่งเหล่านั้นส่งเสริมซึ่งกันและกัน [เป็นหนังสือที่ชวนอ่านนะครับแม้ว่ามันจะหนาไปสักหน่อยก็ตาม]

หากเข้าใจหลักการทำงานของสมองทั้งสองระบบนี้แล้ว เราสามารถนำมันมาปรับใช้กับการลงทุนในตลาดได้ด้วยการตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อการตัดสินใจของเรา เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จได้ด้วย

‘ระบบ 1’ พึ่งพาสัญชาตญาณและการตัดสินใจแบบรวดเร็ว ซึ่งในตลาดหุ้นอาจนำไปสู่อคติทางความคิด (cognitive biases) และความผิดพลาดได้

ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะพึ่งพาข้อมูลจากสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมากเกินไป (recency bias) หรือตัดสินใจลงทุนตามกลุ่มนักลงทุนคนอื่นๆ โดยไม่ได้มีการตัดสินใจบนหลักพื้นฐานและเหตุผล (herd mentality) การสังเกตเห็นอคติเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการตอบสนองด้วยอารมณ์เพียงอย่างเดียว

นักลงทุนควรทราบว่า ‘ระบบ 1’ มีส่วนต่อการตัดสินใจของเราในตลาดหุ้นไม่น้อย การตั้งคำถามถึงหลักเหตุผลเบื้องหลังความคิดและตระหนักถึงการตอบสนองด้วยอารมณ์จะช่วยลดความร้ายแรงของอคติทางความคิดของเราได้เป็นอย่างดี

การทำงานของ ‘ระบบ 2’ มีการดึงหลักเหตุผลเข้ามาใช้เพื่อการตัดสินใจ ในเรื่องของการลงทุน นั่นหมายถึงการหาข้อมูล ตรวจสอบงบการเงิน และมองภาพระยะยาวของบริษัทว่าจะเป็นยังไง

เราให้น้ำหนักกับการสูญเสียมากกว่าการได้มา

ในทฤษฎี ‘Prospect Theory’ ของ คาฮ์นะมัน เขาอธิบายไว้ว่าเรามักจะให้น้ำหนัก (ความสำคัญ) กับการสูญเสียมากกว่าสิ่งที่จะได้มาที่เท่าๆ กัน สำหรับโลกของการลงทุนแล้วความกลัวที่จะสูญเสียนี้เองที่กลายเป็นตัวขับเคลื่อนการตัดสินใจที่อาจจะไม่ดีเสมอไป

ยกตัวอย่างเราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นที่กำลังเติบโตเพียงเพื่อจะได้เก็บกำไรมาก่อน (หลีกเลี่ยงความสูญเสีย - Loss Aversion) และถือหุ้นที่กำลังขาดทุนต่อไปโดยหวังว่ามันจะเด้งกลับขึ้นมา ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วหุ้นที่กำไรถือว่าเป็นหุ้นที่ดี แต่หุ้นที่ขาดทุนไม่มีเหตุผลอะไรให้ถือต่อไปเลย (เชื่อว่าทุกคนเคยผ่านจุดนี้มาแล้ว)

ใช้หลักการของระบบคิดสองแบบของ ‘Thinking, Fast and Slow’ นักลงทุนต้องระวังเรื่องนี้เอาไว้ด้วย ตั้งเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน มีการกระจายความเสี่ยงที่พอดี และแน่นอนหากเป็นสายเทคนิคก็ต้องมีตั้ง ‘stop-loss’ เอาไว้เพื่อป้องกันความเสียหายด้วย

มั่นใจมากเกินไปและยึดติดกับข้อมูล

อีกหนึ่งอคติทางความคิดที่จะส่งผลเสียต่อนักลงทุนคือความมั่นใจที่มากเกินไป (Overconfidence) ในความสามารถของตัวเองและประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องการยึดติดกับข้อมูลที่ได้มาในตอนแรก (Anchoring) มากเกินไปด้วย

การรับมือกับอคติทั้งสองอย่างทำได้โดยการมองทุกการตัดสินใจว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดได้ อย่าหลงเชื่ออะไรมากเกินไป เปิดโอกาสรับข้อมูลใหม่ๆ จะช่วยให้เราก้าวข้ามอคติเหล่านี้ได้

กรอบเวลา

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือกรอบเวลาที่ข้อมูลนั้นถูกนำเสนอก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของเรา ยกตัวอย่างเช่นการเก็งกำไรหุ้นแบบระยะสั้นอาจกระตุ้นการตอบสนองด้วยอารมณ์มากกว่าการมองไปในระยะยาวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

เราสามารถใช้ ‘ระบบ 2’ เพื่อถอยออกมาหนึ่งก้าว วางกรอบเวลาที่ใหญ่ขึ้น แล้วถามว่าเป้าหมายระยะยาวของตัวเองคืออะไร แทนที่จะรีบตัดสินใจตามตลาดที่กำลังเหวี่ยงไปมา

ราคาหุ้นไม่ได้บ่งบอกทุกอย่าง เหมือนอย่างที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า “ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย คุณค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ” การโฟกัสไปที่ราคาอย่างเดียวอาจจะทำให้คุณพลาดโอกาสได้ (ทั้งการซื้อ/ขาย)

‘ระบบ 1’ อาจจะบอกให้เราตัดสินใจตอนนี้เลยเพราะตลาดเหวี่ยงมาก ‘ระบบ 2’ คือการลองถอยกลับมาก่อนแล้วถามว่ามีอะไรบ้างไหมที่เปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานในบริษัทนี้ หรือในตลาดที่กำลังลงทุนอยู่?

การเข้าใจระบบคิดสองแบบของสมอง จากหนังสือ “Thinking, Fast and Slow” ว่ามันทำงานยังไง ไม่เพียงแต่จะช่วยให้กระบวนการตัดสินใจของเราในชีวิตประจำวันดีขึ้น แต่ช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เราตอบสนองอย่างรวดเร็วอยู่เสมอด้วย