สำหรับ บิล เกตส์ (Bill Gates) แล้วช่วงที่เขาเป็นซีอีโออยู่ Microsoft ชีวิตคือการทำงาน

ใครก็ตามที่ได้ทำงานกับเขาจะทราบดีว่าเป็นเรื่องปกติมากที่จะได้รับเมลช่วงกลางดึกตีสองตีสามจากชายคนนี้

เกตส์มองว่าเวลาว่างทุกวินาทีนั้นมีค่า ปฏิทินในแต่ละวันอัดแน่นไปด้วยสิ่งที่ต้องทำ แบบนี้ถึงเรียกว่าใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

เขาคิดแบบนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งเขาได้พบกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) มหาเศรษฐีนักลงทุน ความคิดนี้ก็เปลี่ยนไป ผ่อนคลายมากขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลดีต่อตัวเขาเองและคนที่ทำงานกับเขาด้วย

ในปี 2017 เกตส์ให้สัมภาษณ์กับ ชาร์ลี โรส (Charlie Rose) ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้บอกว่า “ตารางของผมแน่นมากในแต่ละวันทุกนาทีเลย และก็เคยคิดว่ามันเป็นหนทางเดียวในการทำงาน แล้วผมก็จำได้ว่าวอร์เรนเอาตารางการทำงานของเขามาให้ดู ซึ่งเขามีหลายวันเลย...ที่ไม่ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ”

สิ่งที่เกตส์เรียนรู้จากเรื่องนี้กลายเป็นบทเรียนที่สำคัญมากในชีวิตของเขาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาบอกว่า

“คุณเป็นผู้ควบคุมเวลาของคุณ … การที่คุณทำตัวยุ่งทุกนาทีไม่ใช่ตัวแทนของความจริงจังในการทำงาน”

ในการสัมภาษณ์เดียวกันนี้ บัฟเฟตต์ก็เสริมว่า

“ผมซื้อได้ทุกอย่าง แต่ผมซื้อเวลาไม่ได้”

สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว กลยุทธ์ในการทำงานคือการ “ทำงานให้ฉลาดขึ้น ไม่ใช่หนักขึ้น” ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ก็มีหลักฐานสนับสนุนในเรื่องนี้เช่นกัน ในปี 2014 การศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าการทำงานหนักมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้นจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงมากกว่าที่จะเพิ่มขึ้น

คนที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงไปแล้ว งานที่ทำออกมานั้นจะไม่มีประสิทธิภาพเลย พูดอีกอย่างคือไม่ว่าเราจะทำงาน 70 หรือ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ งานที่ได้ออกมาก็แทบไม่ต่างจากการทำงาน 55 ชั่วโมงอีกต่อไป

เกตส์ไม่ใช่ซีอีโอคนแรกหรือคนเดียวที่พยายามทำงานให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สุดท้ายแล้วร่างกายมนุษย์ไม่ว่าจะแข็งแรงแค่ไหน ก็รับไม่ไหวอยู่ดี แม้แต่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่หลายคนนับถือเรื่องการทำงานหนัก ก็เคยออกมายอมรับว่าการนอนไม่พอ การทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่หลับไม่นอน ไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่มากขึ้นเลย

มัสก์บอกว่า

“ผมเคยพยายามที่นอนน้อยลงนะ แต่แม้จะมีเวลาที่ตื่นหลายชั่วโมงมากขึ้น แต่งานก็เสร็จน้อยลงอยู่ดี และก็ปวดหัวมากถ้านอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน”

เกตส์ใช้เวลาหลายปีกว่าจะหาจุดสมดุลให้กับชีวิตและการทำงานของตัวเองได้ ในการกล่าวปาฐกถาจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Northern Arizona University ซึ่งเป็นการกล่าวปาฐกถาครั้งที่ 3 ในชีวิตของเกตส์และห่างจากครั้งก่อนเกือบสิบปี (ครั้งแรกที่ฮาร์เวิร์ดในปี 2007 และครั้งที่สองที่สแตนฟอร์ดในปี 2014) เกตส์บอกว่า

“ตอนผมอายุเท่าพวกคุณ ผมไม่เชื่อในวันพักผ่อน ไม่เชื่อในวันเสาร์อาทิตย์ ไม่เชื่อว่าคนที่ผมทำงานด้วยควรเชื่อเรื่องพวกนี้ด้วย” ถึงขั้นที่ว่าช่วงนั้นเขาคอยดูด้วยว่าพนักงานไมโครซอฟท์คนไหนที่ทำงานอยู่ดึกหรือใครที่ออกจากบริษัทเร็วบ้าง

แต่จากประสบการณ์การทำงานอย่างหนักหลายปี หลาย ๆ ครั้งก็พลาดโอกาสสำคัญในชีวิตของการได้เป็นพ่อคน การได้สร้างความทรงจำดี ๆ กับคนรอบกาย เขาเน้นย้ำว่า “มันมีอะไรในชีวิตมากกว่าแค่การทำงาน”

“อย่ารอนานเท่าผมที่จะเรียนรู้บทเรียนนี้นะ ใช้เวลาบ่มเพาะความสัมพันธ์ เฉลิมฉลองความสำเร็จบ้าง และพักฟื้นจากการสูญเสีย หยุดพักเมื่อจำเป็น และหยวน ๆ กับคนรอบข้างถ้าพวกเขาต้องการพักด้วยเช่นกัน”