ลองจินตนาการภาพนี้ในหัวพร้อมๆ กันครับ

วันนี้ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน เลิกงานแล้วยังพอมีเวลาให้ไปเดินเล่นที่ห้างแถวบ้านสักหน่อย คุณหยุดที่ร้านอาหารร้านโปรด ต่อด้วยขนมหวานอีกนิดหน่อย ลองแวะร้านเสื้อผ้าดูเผื่อมีของลดราคา เดี๋ยวก่อนกลับบ้านแวะซูเปอร์มาร์เก็ตสักหน่อย

รู้ตัวอีกทีถึงบ้าน เงินหายไปจากบัญชีหลักพันโดยไม่รู้ตัว

ถ้าเหตุการณ์นี่อ่านแล้วรู้สึกว่าคล้ายกับชีวิตคุณก็ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนส่วนใหญ่ในโลกบริโภคนิยมปัจจุบัน

“เงินซื้อความสุขไม่ได้” คำกล่าวนี้ไม่จริงซะทีเดียว เพราะส่วนตัวเชื่อว่าความสุขซื้อได้ เพียงแต่ว่าความสุขที่ซื้อได้ในร้านเหล่านี้มันต้อง “ซื้อ” เติมเรื่อยๆ ใช้เงินเพื่อวิ่งไล่ตาม “ความสุข” ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว พอบริโภคหมดหรือความสุขอันแสนสั้นนั้นหายไป

หนึ่งปีที่จะไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย

คุณอาจบอกว่า “ทำงานหนัก หาเงินมาก็ใช้ซื้อความสุขให้ตัวเองบ้างไม่เห็นเป็นไรเลย”

ถูกต้องครับ ผมเองก็เชื่อแบบนั้น ถ้าเรามีการจัดการเงินของเราได้ดีอยู่แล้ว มีการทำงบการเงิน ทำบัญชี มีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉิน แบ่งเงินไว้สำหรับลงทุน เพื่อการเกษียณ ซื้อประกันชีวิต/สุขภาพ และดูแลค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายแต่ละเดือนหมดแล้ว (หนี้บ้าน รถ การศึกษา บัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต ฯลฯ) ถ้าเงินเหลือเพียงพอ...ผมว่าการซื้อความสุขไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

ปัญหาคือส่วนใหญ่...เงินมันจะไม่ค่อยเหลือนั่นแหละครับ เราในฐานะผู้บริโภคที่ถูกถาโถมใส่ด้วยคำโฆษณาบอกให้ “ซื้อ” มีวิธีไหนบ้างที่จะหลุดออกจากวงจรตรงนี้ได้?

นั่นคือคำถามที่ 'มิเชลล์ แม็กกาห์' (Michelle McGagh) กูรูด้านการเงินจากประเทศอังกฤษ ถามตัวเองในปี 2015 เพราะถึงแม้ว่าเธอจะมีความรู้เกี่ยวกับการเงิน เขียนอธิบายเทคนิคบริหารเงินมาตลอด 10 ปี แต่ตัวเธอเองกลับตกอยู่ในวังวนผู้บริโภค ใช้เงินแบบเดือนชนเดือนแทบไม่มีเหลือเก็บ

เรียกว่าย้อนแย้งก็คงไม่ผิดนัก

เธอบอกว่า “ฉันไม่ได้มีหนี้มากอะไรนะ มีหนี้บ้าน ไม่ได้เสพติดการซื้อของ แต่ไม่รู้เลยว่าเงินไปอยู่ไหนหมด”

หลังจากกลับมาสำรวจชีวิตของตัวเอง นั่งลงดูยอดเงินที่จ่ายไปในแต่ละเดือนว่าออกไปตรงไหนบ้าง ดูของที่อยู่ในบ้านและโกดังเก็บของที่เต็มไปด้วยของมากมายที่ไม่จำเป็น เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าชีวิตมาถึงจุดนี้ได้ยังไง เริ่มรู้สึกไม่มีความสุข ไม่พอใจ ทำไมต้องวิ่งตาม “ซื้อ” ความสุขอันแสนสั้นเหล่านี้ด้วย

“ฉันใช้เวลา 10 ปี บอกคนอื่นๆ ว่าต้องจัดการเงินของตัวเองยังไง แต่ตัวเองกลับไม่รับผิดชอบเลย และอีกอย่างในฐานะผู้บริโภค ฉันรู้สึกแย่มากๆ ที่ไปทำงานแปดชั่วโมง หาเงิน เพื่อไปซื้อของที่คนอื่นบอกว่าจะทำให้ฉันมีความสุข แล้วสักพักฉันก็ไม่มีความสุข ต่อจากนั้นก็วนกลับไปทำงาน เพื่อหาเงินอีก แล้วกลับไปซื้อของอย่างอื่นที่คนอื่นบอกว่าจะทำให้ฉันมีความสุข”

สุดท้ายแม็กกาห์ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครับ

เธอเอาของในบ้านและโกดังที่เก็บไว้เกือบ 80% ไปขาย บริจาค ยกให้คนอื่น เพื่อนญาติ คนรู้จัก หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป แม็กกาห์เริ่มรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น ปล่อยวาง มีความสุขมากกว่าเดิม

แล้ววันหนึ่งเธอมีโอกาสได้อ่านบทความเกี่ยวกับ “วันที่ไม่ใช้เงิน” (No Spending Day) ซึ่งเป็นวันที่คนจะไม่ใช้เงินซื้อของฟุ่มเฟือย (เสื้อผ้า แกดเจ็ต แบรนด์เนม ฯลฯ อะไรก็ตามที่นอกเหนือจากความจำเป็นในการใช้ชีวิต) แล้วหาวิธีมีความสุขในแบบอื่นๆ แทน (ออกไปเดินเล่น ใช้เวลากับลูก อ่านหนังสือ ฯลฯ)

เธอเลยคิดว่ามันเป็นไอเดียที่เยี่ยมมาก แต่ทำแค่วันเดียวดูจะไม่พอ เลยตั้งปณิธานกับตัวเองว่างั้น “หนึ่งปีต่อจากนี้ฉันจะไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย” เลยละกัน

ความสุขที่อิ่มใจ

กฎก็คือ ส่วนที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ค่าบ้าน ค่าเน็ต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัตถุดิบทำอาหารที่บ้านวันละ 3 มื้อ และพวกของใช้จำเป็นอย่างกระดาษทิชชู สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เหล่านี้ก็ยังต้องจ่ายเงินซื้อ ส่วนอื่นๆ ก็งดให้หมด

วิถีชีวิตของเธอเปลี่ยนไปทันที มันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ว่าชีวิตของเธอมีหลายอย่างมากที่ไม่จำเป็นและมีอะไรบ้างในชีวิตที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตให้มีความสุข

ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็ต้องปั่นจักรยาน ถ้าอยากใช้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัวก็ต้องหากิจกรรมที่ไม่เสียเงินอย่างเช่นการไปสวนสาธารณะ ทำกิจกรรมที่บ้าน ไปพิพิธภัณฑ์ งานศิลปะ คอนเสิร์ต ฯลฯ เธออธิบายว่าลอนดอนมีกิจกรรมเหล่านี้ให้ทำอยู่ตลอดแต่ไม่เคยสังเกตหรือคิดถึงมาก่อนเลย

“ก่อนหน้านี้ฉันขี้เกียจเกินไปที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ เลิกงานก็ไปผับหรือไม่ก็ไปกินข้าวนอกบ้าน เพราะมันง่าย และมันต้องใช้ความพยายามที่จะหาอีเวนต์ฟรีเหล่านี้”

ตอนเย็นถ้าไม่ได้ไปข้างนอก ก็ใช้เวลากับครอบครัว ชวนเพื่อนมาที่บ้าน ช่วยกันทำอาหาร คุยเล่น หากิจกรรมสนุกๆ ทำด้วยกัน หรือวันหยุดก็ปั่นจักรยานไปตั้งแคมป์กับแฟนที่ข้างชายหาดและใช้เวลาอยู่กับตัวเองและธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากๆ

แม็กกาห์แชร์ภาพถ่ายของกางเกงยีนส์ที่เธอใส่ประจำ ปั่นจักรยานบ่อยๆจนบริเวณบั้นท้ายเป็นรอยซีดรูปเบาะจักรยานและมีรูแทบขาดแล้วก็หัวเราะ บอกว่าหลังจากหนึ่งปีผ่านไปสภาพเธอคือ “รุงรังสุดๆ” แต่เธอก็บอกว่า “มันเป็นความรุงรังที่มีความสุขและอิ่มใจสุดๆ เช่นกัน”

เมื่อเธอเลิกวิ่งตามความสุขแสนสั้นจากการ “ซื้อ” สิ่งของมากมายให้กับชีวิต เธอก็ได้พบตัวตนใหม่ของตัวเอง คนที่กล้าจะออกไปทำเรื่องใหม่ๆ มากขึ้น เจอคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และได้รู้แล้วว่าสิ่งที่สำคัญกับชีวิตของเธอจริงๆ ไม่ใช่สิ่งของที่ใช้เงินไปซื้อมาเลย

ความรับผิดชอบอยู่ที่ตัวเราเอง

สังคมแห่งวัตถุเฝ้าบอกว่า “เราควรซื้อสิ่งนั้น ควรเป็นเจ้าของสิ่งนี้” เหนื่อยใช่ไหม เบื่อใช่ไหม อยากรู้สึกดีใช่ไหม อยากดูดีรึเปล่า อยากให้รางวัลตัวเองไหม? ใช้เงินซื้อความสุขสิ หยิบบัตรเครดิตใบนั้นมารูดเลย ถ้าไม่มีบัตรเดี๋ยวนี้จะซื้อก่อนจ่ายทีหลังก็ได้

จ่ายแล้วมีความสุขไหม? มีครับ...แต่มันเป็นเพียงการแก้ไขง่ายๆ ที่ไม่ยั่งยืน จนกระทั่งวันที่คุณอารมณ์เสียอีก วันที่คุณเหนื่อย วันที่คุณเบื่อ วันที่อยากรู้สึกดี วันที่อยากจะดูดีอีกครั้ง แล้วคุณก็จะไปวิ่งไล่ตามหาซื้อความสุข “ชิ้นต่อไป” ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

นี่คือโลกเราในเวลานี้ และมันก็ดูเลวร้ายลงเรื่อยๆ

คำถามคือแล้วเราต้องทำยังไง? ต้องทำเหมือนแม็กกาห์ที่ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยทั้งปีเลยไหม?

ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้นครับ

แม็กกาห์เล่าว่าปีนั้นเก็บเงินได้ราวๆ 22,000 ปอนด์ (980,000 บาท) เป็นเรื่องที่ภูมิใจมากและรีบเอาไปโป๊ะหนี้บ้านทันที เธอแนะนำว่า “ถ้าเราไม่มีเงินขนาดที่ไปวิ่งไล่ซื้อของพวกนี้เหมือนฉัน คุณต้องคิดถึงอนาคตมากขึ้น ลองคิดว่า ‘สิ่งที่สำคัญกับฉันคืออะไร?’”

เธอชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีตรงไหนที่เราเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ตรงไหนที่ใช้เงินมากเกินไป ตรงไหนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ ลองนั่งทำบัญชีรายรับรายจ่ายดูการใช้เงินของตัวเองแล้วอาจจะตกใจ

ถามตัวเองว่า เป้าหมายระยะยาวของเราคืออะไร?

เรียนต่อปริญญาอีกใบ พาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศ บ้านของตัวเอง หรือแม้แต่เป็นเงินฉุกเฉินเผื่อตกงาน?

แล้วลองคิดดูว่าเงินที่เราเอาไปซื้อความสุขระยะสั้นเหล่านี้ “คุ้ม” รึเปล่าที่จะแลกกับเป้าหมายระยะยาว?

ลองถามตัวเองอีกครั้งครับว่า

“คุณอยากได้ความสุขระยะสั้นนี้ รองเท้าคู่ใหม่ โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ มากกว่าสิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคุณในระยะยาวจริงๆ รึเปล่า?”

เราจะเลือกแบบไหนก็ได้ แต่คนที่จะรับผิดชอบเรื่องการเงิน ชีวิต และความสุขของเราได้ดีที่สุดก็คือตัวเราเองนี่แหละครับ