ความสำเร็จต้องการวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า คาดเดาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในอนาคตที่กำลังจะมาถึงแล้วปรับตัวเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเทรนด์ต่างๆ จึงไม่แปลกหากเราต้องการสร้างความฝันให้เป็นจริงขึ้นมา ความสนใจของเราจึงไปจดจ่ออยู่กับอนาคตซะเป็นส่วนใหญ่ (เทคนิคการทำพวก Vision Board หรือ Vision Statement ก็เพื่อช่วยสร้างภาพของเป้าหมายและแรงบันดาลใจต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้นด้วย)

การมองไปข้างหน้าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม มันช่วยทำให้เรามุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จที่ตั้งใจเอาไว้

เพียงแต่...การยึดติดอยู่กับการวิ่งตามไขว่คว้าเป้าหมายในชีวิต ทำให้เราหลงลืมไปว่ายังข้อมูลอันล้ำค่ามากมายที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากอดีต นอกจากมันจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว อดีตยังเป็นพื้นที่ให้เราได้สังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำซ้ำเหมือนเดิม ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ (เรามักจะคิดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล อาจจะต้องไม่ใช่เสมอไป) และสถานการณ์หลายๆ อย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราด้วย

นี่คือประเด็นหลักของหนังสือเล่มใหม่ “Same as Ever” ที่เขียนโดย มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel - ผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง ‘Psychology of Money’ [จิตวิทยาว่าด้วยเงิน]) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบที่มองข้ามไม่ได้ในความสำเร็จที่เกิดในชีวิตส่วนตัวและประวัติศาสตร์

แล้วมีอะไรบ้างที่หล่ะที่ ‘เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง’ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และยังจะ ‘เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง’ ต่อจากนี้ไป

1. โชคชะตา (Luck) มีส่วนกับชีวิตเรามากกว่าที่คิด

ย้อนไปที่ยุทธภูมิลองไอส์แลนด์ (Battle of Long Island) ปี 1776 กองทัพของจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ฝ่ายอเมริกากำลังประสบกับสถานการณ์วิกฤต ต้องเผชิญหน้ากับกองเรืออังกฤษที่เหนือกว่า โดยกองทัพอังกฤษเพียงแค่ต้องแล่นเรือขึ้นแม่น้ำอีสต์เพื่อไปรบเอาชัยชนะอย่างเด็ดขาด แต่ตอนนั้นกลับเผชิญปัญหาอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ... ลม! (ใช่ครับ)

ลมในช่วงเวลานั้นพัดสวนทาง ช่วยให้กองทัพอเมริกันมีเวลาฟื้นตัว และในที่สุดภายหลังก็สามารถชนะสงคราม สร้างสหรัฐอเมริกาขึ้นมา เหตุการณ์บังเอิญเพียงเล็กน้อยอย่างทิศทางของลม เปลี่ยนแปลงเส้นทางประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล

มอร์แกนยกตัวอย่างเรื่องของการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสหรัฐฯ

ตอนที่ กัปตัน วิลเลียม เทอร์เนอร์ (Captain William Turner) พยายามประหยัดเงินขณะแล่นเรือจากนิวยอร์กไปลิเวอร์พูล ด้วยการปิดห้องหม้อไอน้ำ 1 ใน 4 ห้อง ผลลัพธ์คือ เรือ Lusitania ที่แล่นช้าลง ดันไปเจอกับเรือดำน้ำเยอรมันในทะเลเซลติก เยอรมันยิงตอร์ปิโดใส่เรือLusitania ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้น

หรืออย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ แฟรงคลิน รูสเวลต์ (Franklin Roosevelt) สมัยลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1933 ชายคนหนึ่งชื่อ จูเซ็ปเป ซังการา (Giuseppe Zangara) ตั้งใจจะยิง รูสเวลต์ แต่ด้วยความสูงไม่ถึงห้าฟุต เขาจึงปีนขึ้นเก้าอี้เพื่อเล็งปืน ขณะลั่นไก เสียหลักล้ม ทำให้กระสุนพลาดเป้าไปสังหาร อันโตน เคอร์แม็ค (Anton Kermack) นายกเทศมนตรีชิคาโกแทน

อีกสองสัปดาห์ต่อมารูสเวลต์ชนะเลือกตั้งและสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่จนถึงปัจจุบัน

นี่เป็นเพียง 3 ตัวอย่างสำคัญที่เปลี่ยนแปลงทิศทางประวัติศาสตร์ แต่ยังมีอีกมากมายนับไม่ถ้วน และเช่นเดียวกัน ชีวิตประจำวันของเราเองก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์บังเอิญเหล่านี้ พวกมันส่งผลต่อชีวิตคุณในระดับที่คุณคาดไม่ถึงเลย

ตัวอย่างเช่น โรคระบาด Covid-19 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่เรียน งานที่คุณเลือกทำ และแม้กระทั่งคนที่คุณแต่งงานด้วย เมื่อเหตุการณ์บังเอิญแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ผลกระทบที่ออกมาจะยิ่งใหญ่โตมหาศาล

บทเรียนของเรื่องนี้ก็คือว่าไม่ว่าคุณจะพยายามวางแผนชีวิตมากแค่ไหน คุณก็ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ ทำทุกอย่างที่ทำได้ แล้วปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามวิถีของมัน

2. อยากมีความสุข ให้ลดความคาดหวัง

จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ (John D. Rockefeller) เคยเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่เชื่อไหมว่าคุณในตอนนี้มีสิ่งหนึ่งที่เขาไม่สามารถซื้อได้ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ประมาณ 100 ปีก่อน นั่นคือ เพนิซิลลิน (penicillin) ในยุคของเขาไม่มีสิ่งนี้ เฮาเซิลพยายามชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะใด โดยรวมแล้วชีวิตเราก็ยังดีกว่าเขาในตอนนั้นอยู่ดี

แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มีเพนิซิลลินใช้กันหมดแล้ว นี่แหละคือประเด็น มนุษย์มักจะรู้สึกดีต่อเมื่อตัวเอง 'ดีกว่า' คนอื่น

คนเราไม่เพียงต้องการจะร่ำรวยเท่านั้น แต่เราอยากร่ำรวยกว่าคนรอบข้าง ของที่เคยเป็นของฟุ่มเฟือย เมื่อมีเพื่อนหรือคนข้างบ้านมีเหมือนกัน มันก็กลายเป็นของจำเป็นไปซะงั้น แม้โดยทั่วไปคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมานี้จะดีขึ้น แต่กลับมองเห็นได้ยาก เพราะเราไม่รู้สึกแบบนั้น

เมื่อปรับตามเงินเฟ้อแล้ว รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยในสหรัฐฯ อยู่ที่ 29,000 ดอลลาร์ในปี 1955, 42,000 ดอลลาร์ในปี 1965 และ 71,000 ดอลลาร์ในปี 2021 มีคนที่เป็นเจ้าของบ้านในปี 1950 น้อยกว่าในเวลานี้ถึง 12% และบ้านในตอนนั้นก็เล็กและไม่ได้สะดวกสบายแบบนี้

แต่ความพึงพอใจในชีวิตโดยทั่วไปในปัจจุบันกลับน้อยลง เพราะทุกคนเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปมากกว่าเดิม

อันที่จริงสภาพจิตใจยังหดหู่อถึงขนาดที่ในปี 2007 ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์หาคู่ Match.com บอกกับนิวยอร์กไทมส์ว่า เงิน 10 ล้านดอลลาร์ในซิลิคอนวัลลีย์แทบไม่มีค่าอะไรแล้ว

เพราะอะไรน่ะเหรอ? ลองย้อนไปยุค 1950 ดูก็ได้ ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนน้อยกว่า คนเลยไม่ค่อยกังวลว่าใครรวยกว่าใคร พวกเขารักบ้านหลังเล็กๆ และสนุกกับวันหยุดแบบเรียบง่าย เช่น การไปตั้งแคมป์

แต่เดี๋ยวนี้ การไปเที่ยวกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และกลายเป็นคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย ต้องตามร้านนั้น ต้องไปเที่ยวที่นี่ ร้านหรู ร้านดัง ร้านลับว่ากันไป

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคุณจะไม่ได้มีความสุขมากขึ้นด้วยการหารายได้หรือสมบัติมากขึ้น เพราะนั่นเท่ากับคุณยกมาตรฐานตัวเองให้สูงขึ้นไปด้วย มันเป็นอย่างนี้มาเสมอ

แต่คุณสามารถมีความสุขได้ด้วยการจัดการความคาดหวัง ลดความคาดหวังเรื่องเงินลง วิธีที่เจ้านายปฏิบัติต่อคุณ แฟนอาจจะไม่ได้ดั่งใจทั้งหมด หรือสิ่งที่คนอื่นคิด เมื่อลดความคาดหวังลง เมื่อสถานการณ์มันดีกว่าที่คุณคิดคุณก็จะมีความสุขมากขึ้น

3. ช่วงเวลาที่ดีๆ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความบ้าคลั่ง

ไม่มีอะไรในโลกที่จะคงอยู่ตลอดไป, ช่วงเวลาที่ดีๆ ก็เช่นเดียวกัน

ช่วงเวลาที่ดีมักทำให้เรามองโลกในแง่ดีมากเกินไป ทั้งเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง อนาคตทางการเงิน และทัศนคติต่ออนาคตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ความเชื่อมั่นจากการมองโลกในแง่ดีมักนำไปสู่พฤติกรรมที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น การกู้ยืมเงินมากกว่าเดิม และการลงทุนในตลาดฯ อย่างขาดความรอบคอบ พฤติกรรมเหล่านี้เมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่นานปาร์ตี้ก็ต้องจบ เหลือทิ้งไว้เพียงอาการเมาค้างและความเสียใจที่ตามมาภายหลัง

สภาพแวดล้อมที่เคยเรียบสงบและสวยงาม กลายเป็นพายุแห่งความหวาดกลัวและหวาดหวั่น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจุดชนวนวิกฤติเศรษฐกิจ ล้มละลาย หรือความโกลาหลครั้งต่อไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างความสงบกับความบ้าคลั่งนี้ยังปรากฏในด้านอื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียเคยเผชิญกับภาวะฝนแล้งยาวนานในช่วงกลางทศวรรษ 2010 จากนั้นในปี 2017 หิมะและฝนจำนวนมากก็ทำให้พื้นที่ตรงนี้ชุ่มฉ่ำอีกครั้ง

เพียงแต่มันเป็นการดีใจที่เร็วเกินไป

ฝนตกที่หนักในปี 2017 ส่งผลให้พืชพรรณเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งเมืองในทะเลทรายก็กลายเป็นสีเขียวชอุ่ม ตอนนี้ยังไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกอย่างราบรื่นจนกระทั่งในปี 2018 ที่อากาศเริ่มแห้งแล้งอีกครั้ง พืชพรรณตายกลายเป็นฟืนไฟแห้ง ไม่นานหลังจากนั้น ไฟป่าขนาดใหญ่ก็โหมกระหน่ำทั่วแคลิฟอร์เนีย

สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องดี (ฝนที่ทำให้ภาวะแล้งหายไป) กลายเป็นไฟป่าที่สร้างสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วทั้งรัฐ

บทสรุปคือโลกและสิ่งที่ที่เกิดขึ้นมักแกว่งไกวไปมาระหว่างความสงบและความวุ่นวาย ความกลัวและความโลภ ความเชื่อมั่นและความหวาดหวั่น นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่มันเป็นเพียงกลไกการทำงานของโลกเท่านั้น

และวิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการถูกชักนำไปตามการแกว่งที่ไม่รู้จบก็คือ การตระหนักถึงพลังของคำว่า "พอดี" ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน ความสัมพันธ์ หรือด้านอื่นๆ จงหลงลืม ปาร์ตี้ดื่มต่อจนฟ้าสว่าง รู้จักขีดจำกัดและเรียนรู้ที่จะสังเกตว่าอะไรคือความ "พอดี"

4. นวัตกรรมถูกขับเคลื่อนจากปัญหาที่ท้าทายและความจำเป็นอันเร่งด่วน

เราเคยได้ยินว่ากองทัพทหารคือศูนย์รวมนวัตกรรมเพราะบางครั้งปัญหาที่ต้องเผชิญนั้นทั้งฉุกเฉินและสำคัญมากๆ ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เงินและกำลังคนจึงกลายเป็นสิ่งรองลงไป และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือกันในแบบในช่วงเวลาปกตินั้นไม่มีทางทำได้

เมื่อทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ไม่มีปัญหา ความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานอาจลดลงและกลายเป็นความพอใจ (เกินควร) และมองโลกในแง่ดี (เกินไป) ทำไมต้องทำงานหนักในขณะที่คุณสามารถผ่อนคลายและสนุกไปกับช่วงเวลาที่ดีได้

แต่เมื่อความตื่นตระหนก ช็อก หรือความกังวลเข้ามา ผู้คนจะเริ่มคิดค้นนวัตกรรมเพื่อลุยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก (คิดถึงรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเพราะราคาน้ำมันที่แพงและมลภาวะในอากาศ) นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสถานการณ์ที่มีเดิมพันสูงบางส่วนของโลก (เช่น งานทางทหาร) และช่วงเวลาที่มืดมิดและยากลำบาก (เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่) จึงนำไปสู่การพัฒนาและโครงการมากมายที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่ (ในภายหลัง)

ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้คนจะจับมือกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น แม้ช่วงเวลาที่วุ่นวายนี้อาจไม่น่าเพลิดเพลิน แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แห่งความมืดมิดนี่เอง ที่เป็นพลังขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า นี่คือวิธีที่โลกได้อินเทอร์เน็ต เครื่องบินไอพ่น ยาปฏิชีวนะ กล้องดิจิทัล ยางสังเคราะห์ และส่วนสำคัญมากมายของโลกสมัยใหม่

เฮาเซิลไม่ได้กำลังจะสื่อว่าให้คุณยินดีกับความยากลำบาก แต่เป็นการเตือนว่า สถานการณ์ที่ท้าทายนั้นไม่เลวร้ายเสมอไป ในความเป็นจริง พวกมันมักเป็นที่มาของแรงกระตุ้นที่คุณหรือโลกต้องการเพื่อหาเส้นทางที่ดีกว่าในการก้าวไปข้างหน้า

5. คุณค่าของการปล่อยตัวให้ว่าง

ในโลกที่คนมากมายพยายามจะทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนทำให้หลงลืมไปว่าการปล่อยตัวเองให้ว่าง แล้วให้ความคิดในหัวมันลอยไปเรื่อยเปื่อย ก็สามารถเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน

โดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆ (ลองคิดดูว่ามีไอเดียเจ๋งๆ ของเราเกิดขึ้นตอนอาบน้ำเยอะขนาดไหน หรือตอนออกไปวิ่งออกกำลังกาย โดยไม่ใส่หูฟังหรือตั้งใจฟังข้อมูลอะไรสักอย่าง)

ปัญหาบางอย่างเราไม่สามารถแก้ได้ด้วยการโหมบุกเข้าไปตรงๆ เพียงอย่างเดียว

ให้เวลากับตัวเองและปล่อยให้ตัวเองได้คิดไปเรื่อยๆ โดยไม่บีบคั้น เพื่อค้นหาเส้นทางที่ถูกต้อง ถ้าไม่ให้เวลากับตัวเอง อาจจะพลาดคำตอบง่ายๆ หรือเจ๋งๆ ไปเลยก็ได้

ไม่ต้องพยายามทำให้ทุกชั่วโมงมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ได้

นั่นเป็นสาเหตุที่นักวิจัย นักประดิษฐ์ และนักเขียนชื่อดังหลายคนพูดถึงคุณค่าของการเดินเล่นเป็นเวลานาน หรือการอยู่เงียบๆ ตามลำพังในธรรมชาติ บ่อยๆ ช่วงเวลาว่างเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดความมหัศจรรย์ แม้ว่ามันจะดูไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ค่อยสมบูรณ์แบบไปหน่อยก็ตาม (บางคนอาจจะบอกว่าเป็นการหายใจทิ้งด้วยซ้ำ)

แต่เชื่อสิครับว่าชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ มันทำงานในแบบที่เราคาดไม่ถึงเสมอ

6. การเติบโตที่ดี ไม่จำเป็นต้องเร็ว หาจุดสมดุลให้เจอ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เป็นนักลงทุนที่มีชื่อเสียง แม้จะเป็นคนอารมณ์ขัน แต่ก็ไม่ใช่คนตลกอะไรขนาดนั้น แต่มีครั้งหนึ่งเขาเคยพูดวลีเด็ดติดตลกที่บอกว่า

“คุณไม่สามารถสร้างทารกใน 1 เดือน ด้วยการทำให้ผู้หญิง 9 คนท้อง"

นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ ในขณะที่กำลังมุ่งมั่นเดินไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ

ความตื่นเต้นที่ตามมาหลังจากความสำเร็จช่วงเริ่มต้นมักจะล่อลวงให้เราเติบโตเร็วเกินไป ในอัตราที่ไม่ยั่งยืน เกินกว่าจะรับมือได้

ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จพยายามขยายและคว้าโอกาสทุกอย่างที่เข้ามา แต่ไม่นานจุดแตกหัก (Breaking Point) มักจะเกิดขึ้น คุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการก็ลดลง ส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจ และหันไปหาบริษัทอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการตรงนั้นแทน

เหมือนกันกับบริษัทขนาดใหญ่ที่พยายามขยายธุรกิจผ่านการกระจายความเสี่ยง การเข้าซื้อกิจการ หรือการควบรวมกิจการ ทุกอย่างมีขนาดที่เหมาะสม เมื่อไหร่ก็ตามที่โตเกินจุดนั้น บุคคลหรือบริษัทจะเริ่มถดถอยจากการแบกรับภาระมากเกินไป

เฮาเซิลเล่าว่า สตาร์บัคส์ (Starbucks) ก็เคยเรียนรู้บทเรียนนี้เช่นกัน จากการขยายธุรกิจยาวนานเป็น10 ปี โดยเปิดสาขาเพิ่ม 2,500 แห่งต่อปี แม้ในตอนแรกๆ จะดูเป็นเรื่องดี แต่พอถึงจุดหนึ่งการขยายที่มากเกินไปนี้ทำให้สตาร์บัคส์กลายเป็นร้านกาแฟธรรมดาในสายตาลูกค้าไปเลย สุดท้ายก็ต้องลดการขยายลงในที่สุด

สิ่งสำคัญของการสร้างธุรกิจ/ความสำเร็จที่ยั่งยืนคือรากฐานที่มั่นคง

ลองนึกถึงต้นไม้เล็ก ๆ ที่เติบโตใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ๆ ก็ได้ แม้มันจะไม่ได้รับแสงแดดมากนัก จึงเติบโตไม่ได้เร็วมาก แต่สิ่งที่มันได้ตอบแทนคือเนื้อไม้เนื้อแข็งหนาแน่น

ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ที่เติบโตกลางแดดโดยไม่มีการปกป้อง จะสูงขึ้นเร็วกว่า แต่สุดท้ายมีเนื้อไม้ที่โปร่งสบายและนุ่ม ซึ่งง่ายต่อการถูกเชื้อรากัดกิน

นี่คือวิถีแห่งโลกที่จะไล่ล่าการเติบโตอย่างรวดเร็วมากเกินไป

ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ให้อดทนและเติบโตในอัตราที่ยั่งยืน อย่าปล่อยให้ความคิดแง่ร้ายบดบังโอกาสจนไม่กล้าโต แต่ก็อย่ามองโลกในแง่ดีจนเกินไปจนเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

หาจุดสมดุลที่เหมาะสม แม้เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ แต่การอยู่ในจุดไม่มากไปหรือน้อยไป (Sweet Spot) นั้นจะช่วยให้คุณควบคุมชีวิตได้ดีมากๆ

[สรุป] : หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยบทเรียนอันล้ำค่า แบ่งออกเป็น 23 บทย่อยๆ ที่อ่านสนุกมาก (ใครเคยอ่านหนังสือของเขาจะทราบดี) ได้เรียนรู้ถึงพฤติกรรมมนุษย์, อารมณ์, ความคิด และประวัติศาสตร์ต่างๆ ทั้งเรื่องการเมือง การเงิน เศรษฐกิจ และอีกมากมายที่เกิดขึ้นในอดีต และบทเรียน ‘ที่เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนไป’ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเหล่านี้แหละที่จะช่วยให้เรามองอนาคตที่แม้จะเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

แนะนำจริงๆ ครับ (นี่ยังเขียนไม่จบ แต่กลัวว่าจะยาวไปแล้ว หวังว่าหนังสือแปลไทยจะออกมาเร็วๆ นี้ครับ)