Liquidity Management Tools (LMTs) หรือ เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวม นักลงทุนในกองทุนรวมอาจเคยได้ยินผ่านหูได้เห็นผ่านตามาบ้างจากประกาศ หรือ จดหมายจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จากประกันควบการลงทุน หรือ จากสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ

แต่น้อยคนนักที่จะได้เริ่มอ่านและพยายามทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วเครื่องมือเหล่านี้มีหน้าที่อย่างไร และเหตุใด บลจ. ต้องประกาศบังคับใช้ ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องมือแต่ละชนิดนั้นมีความสำคัญไม่น้อยในยามที่จำเป็น นักลงทุนจึงควรศึกษาให้เข้าใจถึงผลกระทบต่อตัวนักลงทุนเองเป็นสำคัญ

"LMTs" มาจากไหน?

แรกเริ่มเดิมที LMTs ถูกนำมาใช้โดย บลจ. ในต่างประเทศเพื่อเข้ามาช่วยควบคุมความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้ากองทุนเปรียบเสมือนธนาคารพาณิชย์ เวลาคนไปฝากเงินที่ธนาคาร ทางธนาคารจะนำเงินไปปล่อยกู้ต่อบางส่วน นำไปซื้อพันธบัตรบางส่วน นำไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำผลกำไรมาจ่ายคืนผู้ฝากเงินในรูปแบบของดอกเบี้ย

ดังนั้นหากมีข่าวร้ายหรือสถานการณ์ผิดปกติ ไม่ว่าจากตัวธนาคารเอง หรือสภาวะเศรษฐกิจภายนอก ย่อมส่งผลให้คนขาดความเชื่อมั่นและแห่ถอนเงินจากธนาคาร เมื่อคนเริ่มแห่ถอนเงิน ธนาคารจึงขาดสภาพคล่อง เพราะไม่สามารถเรียกคืนเงินที่ปล่อยกู้กลับมาได้ในทันที หรืออาจจำเป็นต้องขายเงินลงทุนจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้รายการขายเหล่านั้นโดนกดราคา จนไม่มีเงินเพียงพอหมุนมาให้ประชาชนถอน และมีความเสี่ยงต้องล้มละลายในที่สุด

ภาพของกองทุนนั้นไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประเภทใด ตราสารหนี้หรือตราสารทุน เมื่อวิกฤติมาเยือน หากผู้ถือหน่วยขายคืนหน่วยลงทุนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน กองทุนอาจไม่สามารถขายเงินลงทุนที่กระจายอยู่หลายแห่งได้ทันท่วงที บ้างเป็นเงินฝากประจำ การถอนเงินฝากประจำออกมาระหว่างทางที่ยังไม่ครบกำหนด ส่งผลให้กองทุนไม่ได้ดอกเบี้ย บ้างเป็นหุ้นกู้ที่มีสภาพคล่องต่ำ ต้องตัดใจขายทุกราคาทำให้เกิดผลขาดทุนขึ้น และสะท้อนผลขาดทุนนั้นเข้าไปในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ณ สิ้นวัน ซึ่งยิ่ง NAV ลดลงไปเยอะเท่าไร ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ถือหน่วยมากขึ้นเท่านั้น และพากัน “แห่ถอน” จนกองทุนไม่สามารถดำรงอยู่ได้และอาจต้องเลิกกองไปในที่สุดถึงแม้ว่าวิกฤตินั้นอาจเป็นวิกฤติสั้น ๆ ที่ถ้าหากผ่านไปได้ ทุกอย่างก็จะเป็นปกติ

สถานการณ์ COVID-19 ที่สร้างความผันผวนให้สินทรัพย์ในกองทุนรวมถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการใช้ LMTs ในกรณีที่นักลงทุนแห่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยการซื้อขายของนักลงทุนจะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่มากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับกองทุนและผู้ถือหน่วยลงทุน

"LMTs" แบ่งได้เป็นกี่ประเภท?

LMTs สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม (ได้เงินขายคืนน้อยลงหรือซื้อในราคาแพงขึ้น) และ กลุ่มที่จำกัดการทำธุรกรรมของผู้ถือหน่วย (ห้ามซื้อขายหรือขายได้บางส่วน)

(1) กลุ่มคิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม

ได้แก่ Liquidity Fee, Swing Pricing และ Anti-Dilution Levies (ADLs)

กรณีมีการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนมากเกินจำนวนที่หนังสือชี้ชวนกำหนดต่อวัน นักลงทุนที่ซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนนั้นจะถูกคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เปรียบเหมือนการผลักภาระต้นทุนการซื้อขายสินทรัพย์ให้ผู้ถือหน่วยรายที่ซื้อหรือขายในวันนั้น ส่งผลให้ผู้ขายหน่วยลงทุนได้เงินน้อยลง หรือผู้ซื้อหน่วยลงทุนต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยรายอื่นที่ยังถือหน่วยกองทุนดังกล่าวอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ โดยการเลือกใช้เครื่องมือกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนในปัจจุบันเสียประโยชน์จากการมีเงินลงทุนใหม่เข้ามาหรือมีการขายคืนออกไปเป็นจำนวนมากซึ่งทำให้ผลตอบแทนรวมในกองทุนลดลง

(2) กลุ่มจำกัดการทำธุรกรรม

ได้แก่...

Redemption Gate = กำหนดเพดานการขายคืนต่อวันของแต่ละกองทุนไม่ให้ขายคืนมากจนเกินไป โดยถ้าหาก บลจ. ได้รับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนเกิน Redemption Gate บลจ. จะชำระเงินค่าขายคืนแก่ผู้ถือหน่วยแต่ละรายตามสัดส่วนเทียบกับ Redemption Gate

Notice Period = หากผู้ถือหน่วยต้องการขายคืนหน่วยลงทุนปริมาณมาก จะต้องแจ้ง บลจ. ก่อนล่วงหน้า

Side Pocket = กรณีมีตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระ หรือตราสารขาดสภาพคล่อง ตราสารเหล่านี้ต้องถูกแยกออกไปไม่นำมาคำนวณใน NAV ทำให้มูลค่า NAV ลดลง แต่ถ้ามีการจ่ายคืนเงินจากตราสารดังกล่าว ผู้ถือหน่วยก็จะได้เงินคืนเช่นกัน

Suspension of Dealings = มีการระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราวจนกว่าจะผ่านช่วงวิกฤติ ซึ่งเป็นเครื่องมือกรณีฉุกเฉินรุนแรงที่สุดถึงจะนำมาใช้

เมื่อรู้ถึงกลไกการทำงานของ LMTs ประเภทต่างๆ แล้ว นักลงทุนคงเข้าใจแล้วว่า บลจ. มีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อ NAV ที่เกิดขึ้นจากปริมาณการซื้อขายผิดปกติที่เกิดขึ้นในยามวิกฤติ และสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น

เขียนโดย: เธียรทยะ ฌอสกุล, CFP