ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน หนึ่งในปัญหาทางการเงินของคนไทยคือ ‘เงินเดือนไม่เหลือพอให้เก็บ’ บ้างก็ว่าเป็นเพราะเงินเดือนน้อยเกินไป ในขณะที่บางคนมองว่าเป็นเพราะค่าครองชีพต่างหากที่สูงเกินไป แต่จริงๆ แล้วจะเป็นเหตุผลไหนนั้น มาหาคำตอบกัน
ถ้าอิงข้อมูลจากรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2563 รายได้ต่อหัวของคนไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี 2563 อยู่ที่ 225,311.4 บาทต่อคนต่อปี หรือ 18,775.95 บาทต่อเดือน
ปี 2654 อยู่ที่ 231,986.1 บาทต่อคนต่อปี หรือ 19,332.17 บาทต่อเดือน
ปี 2565 อยู่ที่ 248,677.2 บาทต่อคนต่อปี หรือ 20,723.1 บาทต่อเดือน
ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 259,409.3 บาทต่อคนต่อปี หรือ 21,617.44 บาทต่อเดือน
จากสถิติพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยสูงขึ้นเฉลี่ย 4.82% ต่อปี เลยทีเดียว
แม้ว่ารายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำไมคนไทยยังไม่มีเงินเก็บอยู่?
เพราะเมื่อเรามาดูจากตัวเลขสถิติเงินฝากจากธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า ณ ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด 125,114,918 บัญชี
แต่บัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท มีอยู่ถึง 110,781,825 บัญชี (88.54% จากบัญชีเงินฝากทั้งหมด)
ในขณะที่ บัญชีเงินฝาก 1 ล้านบาทขึ้นไปมีเพียงประมาณ 2 ล้านบัญชีเท่านั้น
ทีนี้เรามาดูในฝั่งค่าครองชีพกันบ้าง ข้อมูลดัชนีรายจ่ายครัวเรือนโดยศูนย์วิจัยกสิกรชี้ให้เราเห็นว่า ในปี 2566 นี้ คนไทยต้องเจอกับ 3 กลุ่มค่าใช้จ่ายหลักที่แพงขึ้น นั่นคือ ค่าไฟ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 9% (YoY) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และค่าใช้จ่ายเพียงสามส่วนนี้คิดเป็นกว่า 39% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครัวเรือนเลยทีเดียว
นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ภาพรวมรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของคนไทยจะสูงขึ้น แต่เงินเก็บของคนไทยยังเป็นการกระจุกอยู่เฉพาะกลุ่มอยู่ และสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือเงินเดือนของคนไทยเติบโตไม่ทันค่าครองชีพ เพราะอย่างที่เราเห็นว่าในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 4.82% ต่อปี แต่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพียงสามด้าน ในปีเดียวก็เติบโตขึ้นกว่า 9% แล้ว
แน่นอนว่าในแต่ละเดือนเราต้องเสียเงินมากกว่า 3 กลุ่มค่าใช้จ่ายหลักที่กล่าวไป มาดูกันว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ในปี 2566 นี้ คนไทยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอย่างไรบ้าง โดยอิงข้อมูลจาก สำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
ค่าอาหาร (ของสด อาหารบริโภคในบ้าน อาหารบริโภคนอกบ้าน) เฉลี่ย 7,517 บาท
ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน และค่าโทรศัพท์มือถือ เฉลี่ย 4,208 บาท
ค่าเช่าบ้าน ค่าใช้ไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เฉลี่ย 4,037 บาท
อื่นๆ เฉลี่ย 2,367 บาท
รวม 18,129 บาทต่อเดือน
โดยข้อมูลข้างต้นจะทำให้เราเห็นว่า ในแต่ละเดือน คนไทยเหลือเงินสำหรับเก็บ 3,488 บาทต่อเดือน หรือเพียง 16.14% จากรายได้ทั้งหมด ดูเหมือนจะเหลือเงินเก็บเยอะ แต่ต้องบอกว่านี่เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น และรวมเอารายรับรายจ่ายของคนที่มีรายได้สูงเข้ามารวมด้วย อีกทั้งหากแค่พิจารณาค่าที่อยู่อาศัยในความเป็นจริงของสังคมเมืองก็สูงกว่านี้มาก จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินเก็บจำนวนนี้เท่ากัน เพราะอย่างที่เราเห็นว่ามีคนไม่น้อยที่ไม่เหลือเงินเก็บในแต่ละเดือนจนเกิดปัญหาหนี้ตามมาเช่นกัน
พอมาถึงตรงนี้ก็อดเปรียบเทียบกับฐานเงินเดือนในต่างประเทศไม่ได้ ว่าในต่างประเทศเขาประสบปัญหาเงินเดือนไม่เหลือเก็บแบบเราหรือเปล่า เราจึงจะพาไปดูข้อมูลจาก World Data และ Living Cost โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา มาดูกัน
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
1. สหรัฐอเมริกา
รายได้เฉลี่ย 224,012 บาทต่อเดือน รายจ่ายเฉลี่ย 81,558 บาท เหลือเงินเก็บ 142,454 บาท (63.59%)2. สิงค์โปร์
รายได้เฉลี่ย 197,120 บาทต่อเดือน รายจ่ายเฉลี่ย 119,961 บาท เหลือเงินเก็บ 77,159 บาท (39.14%)3. ออสเตรเลีย
รายได้เฉลี่ย 177,267 บาทต่อเดือน รายจ่ายเฉลี่ย 77,862 บาท เหลือเงินเก็บ 99,405 บาท (56.08%)
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
1. จีน
รายได้เฉลี่ย 37,699 บาทต่อเดือน รายจ่ายเฉลี่ย 24,358 บาท เหลือเงินเก็บ 13,341 บาท (35.39%)2. อัลจีเรีย
รายได้เฉลี่ย 11,440 บาทต่อเดือน รายจ่ายเฉลี่ย 15,206 บาท เงินติดลบ 3,766 บาท (-32.92%)3. อาร์เจนตินา
รายได้เฉลี่ย 34,073 บาทต่อเดือน รายจ่ายเฉลี่ย 21,225 บาท เหลือเงินเก็บ 12,848 บาท (37.71%)
จะเห็นได้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วฐานเงินเดือนโดยเฉลี่ยล้วนสูงกว่าของไทยแทบทั้งนั้น แต่ตามมาด้วยรายจ่ายโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้นเช่นกัน แต่ถึงจะมีรายจ่ายที่สูงกว่าของไทยมาก สัดส่วนเงินเก็บก็ยังอยู่ในระดับ 30-50% ของรายได้ต่อเดือน ส่วนในฝั่งประเทศกำลังพัฒนามีบางประเทศที่สัดส่วนเงินเก็บสูงไม่แพ้ฝั่งประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน
ในเมื่อฐานรายได้ และรายจ่ายอิงอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งยังมีการขึ้นลงอยู่ตลอด เราเห็นแล้วว่าสัดส่วนเงินเก็บของคนไทยนั้นน้อยมากแม้จะเทียบกับประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาด้วยกัน การ ‘ใช้เงินก่อนออม’ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนักหากอยากมีเงินเก็บออมในแต่ละเดือน แต่การวางแผน และจัดการแนวทางการใช้เงินในแต่ละเดือนจะช่วยให้เราสามารถใช้เงินได้คล่องมือมากขึ้น ที่สำคัญคือการ ‘ออมก่อนใช้’ จะช่วยให้เรามีเงินเก็บออมอย่างแน่นอน