เราอาจจะเคยได้ยินมาว่าถ้าอยากลงทุนให้เริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผลตอบแทนทบต้นและออกดอกออกผลเมื่อเวลาผ่านไป แต่ ดักกลาส โบนพาร์ต (Douglas Boneparth) นักวางแผนการเงิน บอกว่า

“ผมไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพียงแต่มันตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าคุณไม่ต้องไปควักเงินตรงนั้นออกมาใช้ ไม่ไปยุ่งกับมัน และคุณสามารถลงทุนไปตลอดได้”

แน่นอนครับสถานการณ์การเงินของทุกคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีเงินถุงเงินถังพร้อมลุยทุกสถานการณ์ บางคนมีภาระความรับผิดชอบที่ต้องดูแล บางคนไม่มีแม้แต่เงินสำรองฉุกเฉินเผื่อไปโรงพยาบาลด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่กำลังสนใจเรื่องการลงทุน การหาความรู้และเตรียมตัว (เตรียมใจ) ให้พร้อมถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพื่อช่วยให้การลงทุนมีความมั่นคงและสำเร็จมากขึ้น

โบนพาร์ตแนะนำถ้าอยากลงทุนเราควรจัดการ 2 สิ่งนี้ให้เสร็จก่อน ถ้าไม่อยากต้องมากช็อตชักหน้าไม่ถึงหลังกลางทาง

✅ จัดการหนี้บัตรเครดิตให้เรียบร้อยเสียก่อน

การชำระหนี้บัตรเครดิตนับได้ว่าเป็นปัญหาการเงินเรื่องแรกๆ ที่ควรรีบจัดการ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงหากชำระไม่ตรงเวลาหรือชำระแค่ยอดขั้นต่ำ (ซึ่งไม่ต่างกับการจ่ายแค่ดอกเบี้ย แต่เงินต้นไม่ลด) มันไม่มีทางจบสักที เพราะฉะนั้นควร “ จ่ายให้มากกว่าจำนวนขั้นต่ำ” เพื่อให้จำนวนหนี้ไม่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะจัดการ

โบนพาร์ตให้คำแนะนำว่า “ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุน ควรทยอยชำระหนี้สินคงค้างให้เรียบร้อยเสียก่อน รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและนำเงินส่วนนี้มาโปะหนี้ที่เหลือให้ได้ไวที่สุด ”

นอกจากนี้ ก่อนรูดบัตรทุกครั้งควรวางแผนการใช้จ่ายเป็นอย่างดี รู้จักคิด รู้จักใช้ พร้อมประเมินความสามารถในการชำระหนี้คืน โดยเริ่มจากการเช็กพฤติกรรมการเงินของตนเองว่าทำไมถึงติดหนี้บัตรเครดิต ซึ่งจะช่วยให้คุณมีวินัยทางการเงินมากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณต้องอดทนไม่ให้ก่อหนี้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเด็ดขาด ถ้าหากไม่อยากกลับไปติดหนี้เหมือนเดิม

✅ มีออมเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้ยามจำเป็น

การมีเงินสำรองฉุกเฉินนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เงินก้อนนี้จะช่วยให้คุณรอดพ้นจากสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย การเกิดอุบัติเหตุ ช่วงขาดรายได้ระหว่างตกงาน หรือแม้กระทั่งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อการเงินของคุณได้

เงินออมฉุกเฉินควรมีอย่างน้อยประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะตัวของแต่ละคน คำนวณให้เหมาะสม แต่มีมากก็จะอุ่นใจกว่า แต่ถ้าหากมากเกินไปอาจทำให้เสียโอกาสในการหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้

หากคิดว่ามีเงินออมฉุกเฉินเพียงพอแล้ว ก็นำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนตามกองทุนต่างๆ เพื่อต่อยอดให้เงินของคุณเติบโต แต่อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าคุณพลาดและไม่มีเงินสำรองไว้ใช้ ตกงาน รายได้หาย ทีนี้เราจะช็อตขาดสภาพคล่องทางการเงินได้เลย

ฉะนั้น ควรวางแผนการลงทุนและศึกษาให้เข้าใจ ประเมินความเสี่ยงที่รับได้

การจัดการหนี้บัตรเครดิตและออมเงินสำรองฉุกเฉินเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับเส้นทางการลงทุนของเรา ทำให้แน่ใจว่าเมื่อเริ่มลงทุนไปแล้ว ความเสี่ยงที่จะต้องไปควักเงินลงทุนออกมาหรือหยุดทำไประหว่างทางจะน้อยลงไปด้วย เป็นรากฐานทางการเงินที่แข็งแรงและช่วยทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการลงทุน เพราะอย่างน้อยมีเงินสำรองไว้รับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตโดยที่เราไม่ต้องไปกู้ยืมให้เป็นหนี้เป็นสิน

การลงทุนเป็นเรื่องที่ดีและสมควรทำ แต่จำเอาไว้ว่ามันไม่ได้สวยงามและอาจจะขาดทุนได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเริ่ม ก็ควรเริ่มจากจุดที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ครับ