เมื่อ คนรัก/คู่ครอง/แฟน มีปากเสียงกันเรื่องเงิน เชื่อไหมว่าส่วนใหญ่แล้วต้นตอสาเหตุของปัญหาไม่ใช่ยอดเงินที่มีในบัญชี?

นักวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาคู่รักบอกว่าความเห็นที่ไม่ตรงกันเรื่องการเงินส่วนมากเป็นเพียงฉากหน้าของปัญหาที่หยั่งลึกลงไปในความสัมพันธ์เท่านั้น เพราะวิธีที่เราใช้เงินคือภาพสะท้อนของสิ่งที่แต่ละคนให้คุณค่า ลักษณะนิสัย และความเชื่อของแต่ละคนนั่นเอง

การทะเลาะกันเรื่องเงินบ่อยๆ สามารถกลายเป็นจุดจบของความสัมพันธ์ได้เลย และถึงแม้ว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องเงินได้แล้ว หากประเด็นที่ซ่อนอยู่ใต้พรมไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายปัญหาก็จะกลับมาอีกอยู่ดี

เพื่อทำความเข้าใจและหาต้นตอสาเหตุว่ามันมาจากอะไรกันแน่ นักสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Carleton University in Ottawa ได้เริ่มเก็บข้อมูลจากโพสต์เรื่องความสัมพันธ์กว่า 1000 โพสต์บนเว็บไซต์ Reddit (คล้ายกับพันทิปบ้านเรา) เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่แบ่งออกเป็นการที่อีกฝ่ายตัดสินใจคนเดียว ไม่มีการแชร์ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ขาดค่านิยมร่วมกัน และรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ยุติธรรมหรือไร้ความรับผิดชอบ

หลังจากวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่ข้อมูลที่ได้รับและไปสัมภาษณ์คู่รักหลายร้อยคู่ นักวิจัยบอกว่าพวกเขาสามารถแยกรูปแบบของต้นตอของปัญหาเบื้องหลังความขัดแย้งทางการเงินที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ได้

ถ้าเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายทั่วไปเช่นค่าอาหารหรือซื้อของ ปัญหาเหล่านี้มักไม่ได้ลุกลามและแก้ไขได้ คู่รักสามารถจัดการและคุยกันได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ทะเลาะกันเรื่องความไม่ยุติธรรมในการเงินของครอบครัวและรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่มีความรับผิดชอบเมื่อไหร่ อันนี้แหละคือปัญหาใหญ่เลยทีเดียว

เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาตรงนี้ ทะเลาะกันบ่อยๆ คู่รักไม่น้อยตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการหยุดคุย หลีกเลี่ยงที่จะพูดประเด็นนี้ เหมือนกวาดขยะไปไว้ใต้พรม เพราะไม่สบายใจที่จะพูดถึงมัน ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาหมักหมมขึ้นเรื่อยๆ

โจฮันนา พีตซ์ (Johanna Peetz) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Carleton ผู้ร่วมเขียนการศึกษาชิ้นนี้กล่าวว่า

“คุณต้องคุยเรื่องการเงินมากขึ้นในความสัมพันธ์ เพราะเรื่องเล็กจะได้ไม่บานปลายเป็นปัญหาที่ใหญ่โต”

บางทีจู่ๆ คู่รักของคุณอาจจะอยากแยกบริหารเงิน หรือบางทีอาจจะอยากไปเที่ยวทั้งๆ ที่อีกฝ่ายเพิ่งตกงานหรือไม่มีเงิน หรือบางครั้งอยู่กันไปนานๆ ความเชื่อ/แนวคิด เรื่องการเงินเปลี่ยนไปแปลงไป สิ่งเหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันอยู่เสมอ

สิ่งที่เห็นตรงกัน

โทมัส โฟเพิล (Thomas Faupl) นักจิตบำบัดด้านการแต่งงานและครอบครัวในซานฟรานซิสโกกล่าวว่า การแยกความแตกต่างระหว่างมุมมองของคุณกับคนรักในการทะเลาะกันเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องง่าย คนหนึ่งอาจมองเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ง่ายอย่างใช้เงินเยอะเกินตัวกับการซื้อของ อีกคนอาจมองเห็นความแตกแยกในความสัมพันธ์ที่แก้ไขไม่ได้อีกแล้ว

โฟเพิลอธิบายว่า

“เมื่อพูดถึงเงินมันมักมีอะไรซ่อนอยู่ลึกๆ เสมอ สำหรับหลายคนอาจจะเป็นความรู้สึกปลอดภัยและอำนาจ ประเด็นของมันอาจจะวนอยู่กับความรับผิดชอบ ความรู้สึกที่ได้ควบคุม อำนาจ หรือความยุติธรรม”

โฟเพิล ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือคู่รักในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเงิน กล่าวว่า คู่รักหลายรายประสบความสำเร็จได้เพราะสามารถหาจุดร่วมที่ทำให้พวกเขาเชื่อมต่อถึงกันได้ แม้จะถกเถียงกันอย่างหนักก็ตาม ประเด็นไหนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ลองสังเกตรูปแบบของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเรียนรู้จากตรงนั้น

มีคู่รักคู่หนึ่งที่อยู่ด้วยกันมาสามสิบปี แม้จะไม่ได้มีความเห็นตรงกันทุกอย่างเรื่องการเงินและการงาน แต่อยู่กันมาได้นานขนาดนี้เพราะหาสิ่งที่ให้คุณค่าเหมือนกันเจอ โดยทั้งคู่บอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาในชีวิตคือการ ‘ใช้เวลาที่มีคุณค่ากับครอบครัวและสร้างความทรงจำที่มีคุณค่าร่วมกัน’

เมื่อหาคุณค่าที่มีร่วมกันได้แล้ว ความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น ต่างฝ่ายต่างต้องเสียสละบางอย่างในชีวิตไป ฝ่ายภรรยาที่เป็นหมอต้องลดชั่วโมงทำงานลงเพื่อมาดูแลลูกสามคนที่บ้าน ฝ่ายสามีระหว่างที่กำลังเตรียมตัวเป็นทนายความก็ต้องเปลี่ยนมาทำงานใกล้บ้านเมื่อภรรยากลับไปทำงานเต็มเวลา เพื่อตอนเช้าจะได้ดูแลลูกๆ ได้

ความสัมพันธ์ที่ดี จำเป็นต้องมีความรักให้กันและกัน แต่อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “การประนีประนอม” หรือ “เห็นอกเห็นใจกัน” กันด้วย

เรื่องเงินเรื่องใหญ่ คุยกันก่อนถึงจะแก้ได้

บางทีเราก็ไม่รู้เหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมของอีกฝ่ายหากไม่มีการคุยกัน

ยกตัวอย่างเช่นเรารู้สึกว่าแฟนเข้มงวดเรื่องเงินจังเลย เก็บเงินทุกบาท ทำรายรับรายจ่ายตลอด เงินในบัญชีไม่ใช่ไม่มี แต่แตะต้องไม่ได้เลย ใช้ซื้อของนิดหน่อยที่ไม่ได้อยู่ในแผนก็เป็นทะเลาะกันตลอด สิ่งที่ต้องทำคือการมานั่งคุยว่าเรารู้สึกยังไง ทำไมถึงเป็นแบบนี้ มีเหตุผลอะไรที่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านี้รึเปล่า? บางทีเขาอาจจะถูกลดเงินเดือนแล้วเครียด? บางทีเก็บเงินสำหรับเป้าหมายอนาคตของทั้งคู่? ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้เราไม่มีทางรู้เลยหากไม่คุยกัน

จุดสำคัญของความขัดแย้งมาจากคำจำกัดความที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย แม้บางคู่อาจจะมีเป้าหมายที่เหมือนกัน แต่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองแบกอยู่คนเดียว อีกฝ่ายไม่รับผิดชอบ ใช้เงินอย่างเดียวไม่ช่วยกันเก็บออม รู้สึกว่าอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ยุติธรรม สุดท้ายแบบนี้ก็กลายเป็นปัญหาได้เช่นกัน

วันนี้เรากดซื้อของออนไลน์ส่งมาที่บ้าน แฟนไม่พอใจทะเลาะกัน ตามสถานการณ์คือทะเลาะกันเรื่องเงิน แต่ปัญหาลึกๆ ลงไปมันคืออะไร?​ เรากำลังทะเลาะกันเพราะอะไรกันแน่ เพราะอีกฝ่ายเห็นว่าเราไม่รับผิดชอบรึเปล่า? หรือบางทีเราหลงลืมเป้าหมายที่เคยวางไว้ว่าจะช่วยกันออมเงินเพื่อทำธุรกิจ? หรือบางทีเราสัญญาว่าจะไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแล้วก็ยังทำไม่หยุดจนอีกฝ่ายรู้สึกเป็นห่วงเรื่องการเงินของครอบครัว?

ทะเลาะกันเรื่องการเงินก็จริง แต่เรากำลังทะเลาะกันเพราะอะไร? ตัวเลขในบัญชีอาจจะไม่ใช่ปัญหา ลองคุยแล้วหาสาเหตุให้ชัดๆ ก่อนแล้วค่อยลงมือแก้จากต้นตอจริงๆ ครับ