“มีใครรู้สึกว่าใช้ชีวิตผิดพลาดในช่วงวัยกลางคนบ้างคะ”

เป็นกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์ Pantip ที่บังเอิญอ่านเจอแล้วก็โดนมากๆ เพราะเราเองก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา พยายามดำเนินชีวิตตามแนวทางที่มีคนบอกว่าดี ไม่ว่าจะเป็นแนวทางด้านศาสนา หรือคำสอนของคนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย จนที่บ้านมีแต่หนังสือประเภท How to เต็มบ้านไปหมด เพื่อนๆ หลายคนถึงกับตั้งฉายาว่า “จริงจังแมน”

แต่ทำไมเราก็มีความรู้สึกเหมือนอย่างที่น้องคนนี้โพสต์ และเมื่ออ่านคอมเม้นท์ก็ยิ่งพบว่า อาการนี้เป็นกันหลายคน เมื่อเป็นหลายคน มันก็น่าจะเป็นปรากฏการณ์ (Phenomena) พอศึกษาดูก็พบ บทความของ นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ บอกว่า มันคือ วิกฤติวัยกลางคน (Midlife Crisis)

⚠️วิกฤติวัยกลางคน (Midlife Crisis) คืออะไร?

วิกฤติวัยกลางคน (Midlife Crisis) คือ การที่ผู้ใหญ่ที่อยู่ในช่วงอายุ 35-50 ปี เกิดคิดทบทวนหรือประเมินชีวิตตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน ชีวิตคู่ ความสุขในชีวิต หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งการคิดทบทวนนี้มักถูกกระตุ้นมาจากการตระหนักว่า ชีวิตนี้เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว และเราควรจะประสบความสำเร็จ (หรือมีความสุข) ได้แล้ว

วิกฤติวัยกลางคน ไม่ใช่โรค และไม่ใช่ความผิดปกติทางการแพทย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ที่พบได้ในคนทั่วไป ยังมีงานวิจัยสนับสนุนจากแอนดรูว์ ออสวอลด์ จากมหาวิทยาลัยวอร์วิคที่พบเช่นกันว่า ความสุขของช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตมนุษย์นั้นจะออกมาในรูปแบบกราฟตัว U-shape

กล่าวคือ ในช่วงวัยรุ่นมนุษย์มักมีความสุขที่ค่อนข้างสูงกว่าวัยอื่นๆ แล้วจะลดต่ำลงในช่วงวัยทำงาน แล้วจึงค่อยมีความสุขในชีวิตมากขึ้นอีกครั้งตอนสูงอายุ สิ่งที่สังเกตพบได้คือช่วงอายุ 41-50 ปีหรือช่วงวัยกลางคนมักจะเป็นช่วงที่คนมีความสุขน้อยที่สุดโดยเฉลี่ยจากการศึกษาในประชากรหลายประเทศ

“วิกฤติวัยกลางคน” ในคนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจตัดสินใจทำอะไรรุนแรง โดยไม่ไตร่ตรอง เช่น หย่า ลาออกจากงาน เป็นต้น หรือในใครที่เป็นหนักมากๆ ก็อาจจะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

⚠️สาเหตุของ “วิกฤติวัยกลางคน”

เหตุที่เป็น “วิกฤติวัยกลางคน” เนื่องจากพบว่ามนุษย์ในช่วงอายุ 35-50 ปีนี้ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเข้ามาในชีวิต ได้แก่

➡️(1) การเสื่อมของร่างกาย เป็นช่วงอายุที่เริ่มมีโรคประจำตัวมากขึ้น

➡️(2) ฮอร์โมนเปลี่ยน โดยเฉพาะในผู้หญิงจะเห็นได้ชัดเจนกว่าผู้ชาย เพราะจะเริ่มเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน ทำให้มีอาการของคนที่กำลังจะเข้าวัยทอง

➡️(3) ความฝันกับความจริงไม่เหมือนกัน ในช่วงวัยรุ่นเรามักมีความฝันที่อยากสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน ครอบครัว หรือแม้แต่สุขภาพ แต่เมื่อชีวิตผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราก็จะพบกับความจริงที่ว่าไม่สมหวังหลายๆ อย่าง ยิ่งเทียบกับคนรุ่นเดียวกันที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกว่าตนเองล้มเหลว เครียด หดหู่

➡️(4) เริ่มตระหนักได้ว่าอีกไม่กี่ปีก็เกษียณแล้ว เวลาของเราเหลืออีกไม่มาก เราควรจะต้อง “ทำอะไร” แล้ว แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้ทำอะไรเลย ก็เลยเริ่มมีความกังวลเกิดขึ้น

➡️(5) การสูญเสียของคนใกล้ชิด ช่วงอายุนี้มักพบเหตุการณ์ที่คนใกล้ชิดเสียชีวิตได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่ง ลูกๆ ต้องออกจากบ้านไปเรียน แต่งงาน หรือทำงานที่อื่น ทำให้พ่อหรือแม่เกิดความรู้สึกเหงา หรือเศร้า ไม่รู้จะทำอะไร รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ทำให้คนที่ปรับตัวไม่ได้ อาจเกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้เรียกว่าปรากฏการณ์ “Empty-nest syndrome”

⚠️แนวทางการจัดการกับวิกฤติวัยกลางคน

✅(1) เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งสำคัญแรกสุดคือ เราต้องเข้าใจภาวะนี้ก่อนว่าคืออะไร เมื่อรู้จักก็จะช่วยให้เรารู้ตัวและนำไปสู่การจัดการแก้ไขได้อย่างเหมาะสมต่อไป

✅(2) การคิดทบทวนประเมินชีวิตของตัวเอง และอยากที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

บางครั้งอาจเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่ที่มักทำให้เกิดปัญหาคือการตัดสินใจอย่างหุนหัน ในเรื่องที่สำคัญเช่น หย่า ลาออก การใช้เงินจำนวนมาก ฯลฯ จนเกิดความเสียหายตามมา ดังนั้น ทุกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิต ควรต้องให้เวลาในการคิดไตร่ตรองอย่างรอบครอบ และปรึกษาผู้อื่นเสมอ จะช่วยให้เรามองเห็นว่า สิ่งที่เราจะทำมันสมเหตุสมผลแค่ไหน เพื่อที่จะลดโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด

✅(3) ออกไปสู่สังคม

เราก็จะพบว่า เราไม่ใช่คนที่แย่ที่สุด มีหลายคนที่อาจชื่นชมเราอยู่ แม้เราอาจไม่ประสบความสำเร็จตามที่ฝัน แต่ก็เชื่อได้ว่าทีผ่านมา เราก็ประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่ง ไม่แน่นะวิถีชีวิตที่เราดำเนินมาอาจดีกว่าวิถีชีวิตที่เราฝันไว้ก็เป็นได้

✅(4) ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้สุขภาพแข็งแรง และป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ยิ่งวัยนี้เป็นวัยที่ตามธรรมชาติสุขภาพจะเริ่มเสื่อมลง และเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย การออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก การออกกำลังกายนอกจากจะดีต่อสุขภาพ ยังดีต่อการทำงานด้วย เพราะการออกกำลังกาย อย่างเช่น การวิ่ง จะทำให้เราอยู่กับตัวเอง มีสมาธิ หลายๆ ครั้ง เรามักจะมีความคิดดีๆ หรือคิดคำตอบของปัญหาได้ตอนวิ่ง และหากเป็นการวิ่งระยะไกล จะเป็นการฝึกการวางแผน ฝึกวินัย ฝึกความมอดทน และทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า

✅(5) หากิจกรรมทำทดแทน

เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในกรณี “รังที่ว่างเปล่า” เพราะนั่นคือการที่เราเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่ทำงาน “ดูแลลูก” กลายเป็นผู้ “ว่างงาน” ลูกไม่อยู่ให้ดูแลแล้ว ดังนั้น จึงต้องหากิจกรรมอื่นทำทดแทนงานเดิม เพื่อไม่ให้เบื่อและเศร้า โดยกิจกรรมนั้นอาจจะเป็นการออกกำลังกาย การไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง การเข้าร่วมชมรมต่างๆ หรือทำงานการกุศล เป็นต้น

สุดท้าย อย่างที่อาจารย์หมอบอกนะครับ “วิกฤติวัยกลางคน” เป็นเรื่องปกติ หากใครมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ ก็ไม่ต้องกังวลมากไป แค่เรียนรู้วิธีจัดการกับความรู้สึกครับ