มีสุภาษิตแอฟริกาหนึ่งที่กล่าวว่า “เลี้ยงลูกหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” (It takes a village to raise a child)

สื่อถึงการใช้คนจำนวนมาก (หมู่บ้าน) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการและเติบโตของเด็กๆ เพื่อจะไปตามความฝันและจินตนาการของพวกเขา

นี่คือพื้นที่ที่เด็กๆ สามารถเป็นตัวเองได้ ความคิดเห็นของเขามีความหมาย และคนที่อยู่ในชุมชน (ชาวบ้าน) พ่อแม่ พี่น้อง สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน คุณครู ผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกในชุมชน และผู้กำหนดนโยบาย ต้องดูแลเด็ก 'ชาวบ้าน' เหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทางตรงหรือสนับสนุนผู้ปกครองในการดูแลเด็กๆ เหล่านั้น

แต่หันกลับมาดูโครงสร้างสังคมและครอบครัวของคนรุ่นใหม่ Gen Z และ Millenials กลับไม่เป็นอย่างนั้น

คำว่า ‘หมู่บ้าน’ แทบจะไม่มีอีกต่อไป

การมีลูกในยุคปากกัดตีนถีบ

ไคล์ เทเลอร์ (Kyle Taylor) หนุ่มวัย 26 ปีกับภรรยาที่อาศัยอยู่ในรัฐแอละแบมา ประเทศอเมริกา รู้สึกดีใจมากเมื่อลูกสาวของเขาลืมตาดูโลกเมื่อประมาณหนึ่งปีก่อน แต่ผ่านมาถึงตอนนี้พวกเขากลับรู้สึกมืดแปดด้าน

เพื่อจะหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวเทเลอร์ต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยภรรยาต้องยอมเสียสละลาออกจากงานเพื่อดูแลลูกสาวตัวน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กทารกทำให้รายได้ที่เข้ามานั้นแทบไม่พอจ่ายในแต่ละเดือน ชักหน้าแทบไม่ถึงหลัง

เพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวก็ยังไม่มีใครมีลูก (และส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะมีลูกในอนาคต) จึงไม่รู้ว่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยยังไงได้ สำหรับเทเลอร์และภรรยา พวกเขารู้แล้วว่าทำไมมันการเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่งถึงต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน เทเลอร์บอกว่า

“มันทำให้พวกเรา [เขากับเพื่อน] ห่างกันไปเลย คนจะไม่ได้คิดว่าจะช่วยเพื่อนได้ยังไงบ้างนะ? แต่คิดว่าพวกเขาคงรู้สึกดีใจที่ไม่ได้อยู่ในจุดที่ผมอยู่ ที่ต้องดูแลคนอื่นแบบนี้”

พ่อแม่ Gen Z และ Millennials กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาคล้ายคลึงกัน รู้สึกโดดเดี่ยว อาจจะย้ายบ้านไปอยู่เมืองอื่นเพื่อหาโอกาสในการทำงานที่ดีกว่า ค่าเช่าบ้านถูกกว่า หรือค่าครองชีพที่ถูกลง แม้ว่าพ่อแม่ของพวกเขา (Baby Boomers/Gen X) อาจจะอยู่ไม่ไกล แต่ส่วนใหญ่ก็ยังทำงานอยู่ และไม่มีเวลามาช่วยดูแลหลานเหมือนรุ่นก่อนๆ

เพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันแม้จะอยากมีลูก แต่เมื่อคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายแล้วก็ถอดใจ หรือบางคนตัดสินใจไม่มีลูกเลย (เพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง สังคม, ปัญหาสภาพภูมิอากาศ, เศรษฐกิจ ฯลฯ) เพราะฉะนั้นจึงไม่ทราบเลยว่าพ่อแม่ที่เพิ่งมีลูกนั้นต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากขนาดไหน

ความกดดันเรื่องค่าใช้จ่าย

และอย่างที่เราทราบกันดี ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรแต่ละคนนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนเป็นพ่อแม่ต้องแบกภาระความกังวลที่หนักมาก หาเงินมาเท่าไหร่ก็เอามาจ่ายค่าผ้าอ้อม ค่านม ค่ารักษาพยาบาล ใครโชคดีไม่เป็นหนี้ก็อาจจะต้องเดือนชนเดือน แทบไม่เหลือเก็บ บางคนโชคร้ายมีหนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน หนี้รถ หรือต้องดูแลคนอื่นๆ ในครอบครัว (พ่อแม่, ปู่ย่าตายาย, ญาติ ฯลฯ) ยิ่งหนักเข้าไปอีก

เทเลอร์บอกว่า “การใช้เงินแบบเดือนชนเดือนนั้นลำบากมาก เหมือนคนส่วนใหญ่นั่นแหละ และเราไม่ได้รับการช่วยเหลือและรู้สึกว่าคนที่อายุรุ่นใกล้ๆ กันก็ไม่เข้าใจพวกเราด้วยซ้ำ”

กรอบชีวิตของพ่อแม่ยุคใหม่เต็มไปด้วยการตัดสินใจที่ยากลำบาก ใครจะออกจากงานมาเฝ้าลูก?​ ควรย้ายไปอยู่เมืองไหน? ควรหาพี่เลี้ยงมาดูเด็กไหม? ปู่ย่าตายายช่วยอะไรได้บ้าง? ต้องทำงานเยอะมากแค่ไหนถึงจะพอค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน? ต้องเก็บเงินเป็นค่าเทอมลูกเท่าไหร่​?​ ค่าประกันสุขภาพอีก? ฯลฯ

แม้ว่ารายได้ของคนรุ่นใหม่นั้นจะเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มตามไปด้วยเช่นกัน นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลงหรือไม่มีเลย

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยในบทความ “สังคมไทยจะทำอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก” ว่า

“สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจไม่มีลูก หรือมีน้อยลง มีทั้งวิถีชีวิตและทัศนคติในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้น มีความหลากหลายทางเพศ และที่สำคัญ คือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทัน โดยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลที่สูงถึงประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อคน หรือคิดเป็น 6.3 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปีของประชากร (GDP per capita) ในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหากเข้าเรียนในสถานศึกษาของเอกชน ยิ่งทำให้คนตัดสินใจมีลูกน้อยลง”

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์เคยอธิบายทฤษฎี The Easterlin Hypothesis ที่อธิบายว่าทำไมคนถึงเลือกที่จะมีลูกและไม่มีลูกเอาไว้ว่า

“หนุ่มสาวที่เป็นคู่กันส่วนใหญ่มักต้องการที่จะมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีพอๆ กันหรือดีกว่าตอนที่พวกเขายังเป็นเด็กๆ อยู่ [หาก] พวกเขามีความพึงพอใจในรายได้ที่มีเพราะมันมากกว่ารายได้ที่เขาคาดหวังว่าเขาจะได้ในอดีต โอกาสที่หนุ่มสาวคู่นั้นจะแต่งงานและตัดสินใจที่จะมีลูกก็จะสูง”

แต่กลับกันถ้า “ในช่วงที่การงานไม่ดี มีการแข่งขันในเรื่องของหน้าที่การงานสูง โอกาสที่จะได้รายได้ดีๆที่มากกว่ารายได้ที่เขาเคยคาดหวังเอาไว้ก็จะมีไม่มากนัก หนุ่มสาวที่เป็นคู่กันก็มักจะเลือกที่จะชะลอการแต่งงานและการมีลูก ทั้งนี้ก็เพราะว่าการมีลูกเป็น normal good คือต้องมีเงินก่อนถึงจะมีได้”

หมู่บ้านที่หายไป

นอกจากเรื่องความกดดันทางด้านการเงิน พ่อแม่ยุคใหม่ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือความรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคม สังเกตง่ายๆ ถ้าไม่ใช่ชนบทจริงๆ ตอนนี้เราแทบไม่เห็นเด็กเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเองแล้ว แน่นอนเรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ เป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ถ้าสามารถก็ขับรถมาส่งลูกที่โรงเรียนด้วยตัวเอง หรือไม่ก็นั่งรถรับส่งของโรงเรียน น้อยมากที่จะเห็นเด็กเดินหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียนในปัจจุบัน

(มีการเก็บสถิติในอเมริกาที่บอกว่าในปี 1969 เด็กเดินหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียนกว่า 48% และลดลงมาเหลือเพียง 10% ในปี 2017 ซึ่ง 54% มาโรงเรียนด้วยรถส่วนตัว)

แต่ละครอบครัวก็แยกกันอยู่ แม้เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันบางทียังไม่รู้จักชื่อหรือพูดคุยกันด้วยซ้ำ การเป็นหูเป็นตาดูแลลูกหลานของคนในชุมชนถือเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว พื้นที่ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยหดเล็กลงเหลือเพียงรั้วบ้านของตัวเองและรั้วโรงเรียน

ด้วยหน้าที่และโอกาสในความก้าวหน้าทางการงานและการเงิน การย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่ ในชุมชนและสังคมใหม่จึงเกิดขึ้นไม่ยากสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ไม่ได้มีความรู้สึกหวงแหนหรือผูกพันกับชุมชนที่ตัวเองอยู่อีกต่อไป แถมไม่พอราคาบ้านที่แพงเกินกว่าจะเอื้อมถึง ดอกเบี้ยสูงจนไม่กล้าที่จะขอกู้ ทำให้การเช่าอยู่และย้ายบ้านเพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

จึงเป็นเรื่องที่ยากมากในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนที่อยู่ในชุมชน สมัยก่อนเราอาจจะเคยเห็นพ่อแม่เอาโต๊ะ เอาเสื่อมากางหน้าบ้านช่วงวันหยุด ชวนเพื่อนบ้านมานั่งดื่ม กินอาหารเย็นด้วยกัน เด็กๆ วิ่งเล่นกันไปจนหัวเปียก

ภาพแบบนั้นแทบไม่หลงเหลืออีกต่อไป คำว่าหมู่บ้านที่ปลอดภัยและผู้คนอยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียวคืออดีตที่จากเราไปแล้ว

พ่อแม่ที่เร่งรีบไปทำงาน ชั่วโมงที่ยาวนานอยู่ที่ออฟฟิศ เสาร์อาทิตย์หมดแรงแทบจะไม่อยากลุกไปไหน ไม่ต้องพูดถึงเอาโต๊ะมากางสังสรรค์กับเพื่อนบ้านเลย แค่จะลุกมาอาบน้ำยังไม่อยากทำด้วยซ้ำ

แล้วยังไงต่อ?

บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้รู้สึกกลัวการมีลูกหรือส่งเสริมไม่ให้คนรุ่นใหม่มีลูก เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าสังคม สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และโลกกำลังเปลี่ยนไป ภาระและความท้าทายที่พ่อแม่รุ่นใหม่ต้องเผชิญนั้นหนักหนามากขนาดไหน

รวมไปถึงสวัสดิการพื้นฐานที่มีไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า

“เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ยังจำกัดเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูกเพื่อลดหย่อนภาษีที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ หรือความยืดหยุ่นของการใช้สิทธิ์วันลาเพื่อเลี้ยงดูลูกหลังคลอด รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นสำหรับเด็ก อาทิ สถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ สนามเด็กเล่น ล้วนแล้วแต่ต้องได้รับการลงทุนจากภาครัฐมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ในราคาไม่แพง”

ทางออกที่พอเป็นไปได้ก็อาจจะดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อยอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ที่มีนโยบายเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีมาตรฐาน และให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของแม่ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด

ในเกาหลีใต้ นายจ้างต้องลดชั่วโมงทำงานของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ลง 2 ชั่วโมงต่อวันและมีสิทธิ์ลาเลี้ยงลูกโดยไม่รับเงินเดือน 1 ปี ซึ่งสามารถแบ่งลาเป็นช่วงๆ ได้จนลูกอายุ 8 ปี หรืออย่างญี่ปุ่นที่ลาได้ 6 สัปดาห์ก่อนคลอดและ 8 สัปดาห์หลังคลอด นอกจากนั้นยังมีบริการให้คำปรึกษาสำหรับคุณพ่อเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบางานของคนที่เป็นแม่ด้วย

สิงคโปร์ให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กเกิดใหม่ทุกคนที่ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 200,000 บาท) และลูกคนที่สาม 8,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (250,000 บาท) ทยอยจ่ายในช่วง 6 ปีแรกเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็ก

การสนับสนุนทางนโยบายนั้นต้องอาศัยทั้งภาครัฐเองที่ดูแลด้านการเงิน แบ่งเบา และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเติบโตของเด็กรุ่นใหม่ๆ และภาคเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีลูกและเริ่มต้นสร้างครอบครัว (จัดศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน, มีเวลาพักให้ลูกจ้างไปปั๊มนมระหว่างวัน, ส่งเสริมให้เรียนเพิ่มเพื่อความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน ฯลฯ)

สิ่งที่ต้องระวังในการสร้างนโยบายเหล่านี้คือต้องทำอย่างรอบคอบและรัดกุม เพราะหากไม่ระวังอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจากการทำนโยบายเหล่านี้ด้วย เช่นครอบครัวที่ไม่พร้อมจะมีลูกแต่มีเพราะอยากได้เงินสนับสนุน แบบนี้ถือว่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ในฐานะของคุณพ่อคนหนึ่งส่วนตัวผมเองก็กำลังเผชิญความท้าทายเหล่านี้เช่นเดียวกัน หนักเบาอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่เชื่อว่าสิ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่กำลังรับมือนั้นไม่ง่าย ไปที่ไหนเราก็จะได้ยินว่า “เลี้ยงเด็กสมัยนี้เหนื่อยนะ” ทุกคนก็คงเหนื่อยไม่ต่างกัน

แต่ในอีกมุมหนึ่งมันทำให้ผมรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนกำลังเหนื่อยคล้ายๆ กัน พอขึ้นเครื่องบินเวลามีเด็กทารกร้องไห้ แม้จะกวนใจแต่ผมก็รู้สึกเข้าใจ หรือเวลาเห็นเด็กที่ร้องไห้อยากได้ของเล่นที่ห้าง แต่พ่อแม่บอกว่า “เดี๋ยวพ่อเก็บเงินซื้อให้นะลูก ตอนนี้ยังเงินไม่พอ” แม้จะไม่รู้จักกัน แต่ผมกลับเข้าใจหัวอกของพ่อคนนั้นเป็นอย่างดี

ชีวิตคือทางเลือกที่เราควรจะเลือกได้อย่างอิสระ การตัดสินใจไม่มีลูกก็เป็นเรื่องปกติ แต่หากวันนี้คุณอยากมีลูกก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่อยากบอกจากประสบการณ์ตรงว่ามันไม่ง่าย เพราะหมู่บ้านของเราไม่มีอีกต่อไป

ครั้งหนึ่งมีรุ่นน้องคนหนึ่งถามว่า “ทำไมพี่ถึงอยากมีลูก? ไม่เหนื่อยเหรอ?”

ผมตอบว่า “เหนื่อยสิ เหนื่อยมากด้วย แต่รู้ไหมลูกคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้ความรู้สึกเหนื่อย ไม่ได้ไร้ความหมายอีกต่อไป”