วันนี้จะมาชวนวิเคราะห์ว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยนั้นต่ำเกินไปจริงหรือไม่ และวิธีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

ค่าจ้างขั้นต่ำ ณ ปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 328-354 บาทต่อวัน (แตกต่างกันไปตามพื้นที่) เป็นการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยเพิ่มขึ้นจาก 313-336 บาทต่อวัน แต่หากย้อนกลับไปดูค่าจ้างปี 2561 จะพบว่ามีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน

นั่นหมายถึงระหว่างปี 2561-2565 (ก่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา) ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 5-6 บาทต่อวัน (เพิ่มขึ้น 1.82%) จะเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำแทบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงเวลา 5 ปี ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นประมาณ 8%

แสดงว่า ก่อนเดือนตุลาคม 2565 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการอยู่ประมาณ 6.18%

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5.36% ช่วยทำให้ส่วนต่างระหว่างการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นของราคาสินค้าและบริการในประเทศ

ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมถึงไทย การพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ปรับเท่าไหร่ ในแต่ละปี เป็นการตกลงกันของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง และผู้แทนรัฐบาล

การปรับเปลี่ยนค่าจ้างที่ช้ากว่าราคาสินค้า ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า Wage rigidity ค่ะ สภาพแบบนี้มักเจอในประเทศ ที่มีคณะกรรมการกำหนดค่าจ้างมีสัดส่วนลูกจ้างน้อยกว่านายจ้างและรัฐบาล และเป็นประเทศที่พึ่งพาแรงงานในการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (Labour-intensive production)

การปรับเปลี่ยนค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเกิดขึ้นเป็นประจำ ด้วยความถี่ที่เหมาะสม มีระดับการเพิ่มขึ้นที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ค่ะ

ทำไมการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปีจึงเป็นเรื่องจำเป็น?

สำหรับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก โดยเฉพาะเมื่อมีอัตราการว่างงานต่ำ การขึ้นค่าจ้างจะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่แท้จริงไม่ลดลงมากนัก มีรายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพและมีเงินเหลือพอสำหรับการพัฒนาตนเองและดูแลครอบครัว และยังเป็นแรงจูงใจในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ส่วนการจะปรับขึ้นเท่าไหร่นั้นต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน เพราะค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ย่อมหมายถึง ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะต้องสูงขึ้น และหากภาคเอกชนเลือกที่จะคงต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ ก็อาจต้องเลือกที่จะปลดลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้ตกงานหรือว่างงานเพิ่มขึ้น ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่สัดส่วนการใช้แรงงานในการผลิต การใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

BUILK ทำการสำรวจจากโครงการก่อสร้างทั้งสิ้นกว่า 5,000 โครงการในปี 2563 พบว่ามีต้นทุนค่าแรงประมาณ 30% ของต้นทุนโครงการกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ได้แก่ ธุรกิจภาคบริการ และเกษตรกรรม โดยแรงงานประมาณ 45% อยู่ในธุรกิจภาคบริการ และประมาณ 31% อยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยกลุ่ม SME มีการใช้แรงงานในกระบวนการผลิตมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

งบประมาณภาครัฐของไทยส่วนใหญ่เป็นงบในส่วนการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข การปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นก็หมายถึงงบในส่วนการดำเนินงานนี้จะต้องสูงขึ้นด้วย รายจ่ายรัฐบาลก็จะสูงขึ้น

เมื่อมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มากเกินไปในการปรับค่าจ้างหนึ่งครั้ง เรามักจะพบว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ราคาสินค้าในท้องตลาด หรือก็คือ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และเพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่มากเกินไป อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะสูงขึ้นตามมา

ด้วยภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงในประเทศไทย และยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก รวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อระบบการผลิตและระบบการเงินของประเทศ

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการทำให้การบริโภคลดลง นักท่องเที่ยวอาจหนีไปเที่ยวประเทศที่มีราคาสินค้าและบริการต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้มีการลงทุนลดลง และเสี่ยงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

แม้ว่าการปรับค่าจ้างขึ้นนั้น อาจจะเกิดขึ้นเพียงปีเดียว แต่ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างต่ออัตราเงินเฟ้อนั้น มักเป็นแบบต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนที่ขึ้นในเดือนนี้จะมีผลต่อราคาของสินค้าและบริการในเดือนหน้าหรือเดือนถัดๆ ไป และผลผลิตหรือสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นนี้ก็คือวัตถุดิบของการผลิตสินค้าในรอบถัดไป ราคาสินค้าในรอบถัดๆ ไป ก็จะได้รับผลต่อเนื่องนี้ไปด้วย นั่นหมายถึงผลโดยรวมของการขึ้นค่าจ้างไม่ได้จำกัดอยู่เพียง 1 ปี และถ้าเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถโตได้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตต่ำกว่าการขยายตัวของกำลังซื้อ

ทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกปรากฎการณ์แบบนี้ว่า inertial inflation การอัดฉีดเม็ดเงินเช้าระบบทางตรง (เช่น การให้เงินได้เปล่า) ที่มาพร้อมกับการเพิ่มรายได้ที่มากและรวดเร็วเกินไป (เช่น การยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ พร้อมกับการลดภาษีรายได้) >> อาจจะทำให้ระบบมีเม็ดเงินมากเกินไป ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเกินกว่าปริมาณการผลิตที่ผลิตได้ ประเทศก็จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่คล้ายกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ที่เกิดวิกฤตเงินเฟ้อ ตามด้วยวิกฤตค่าเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจ

การดำเนินนโยบายการเงินการคลังจึงต้องมีคำว่า "สมดุล" ไม่ให้มีปริมาณเงินและการใช้จ่ายในระบบเพิ่มขึ้นมากเกินไป

ทั้งนี้ ประเทศไทยอาจเลียนแบบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป ด้วยการปรับอัตราค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อทุกปี เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่ากับต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น และยังช่วยลดผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและกระทบต่อการเติบโตของประเทศ

ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์ (เพจ : https://www.facebook.com/Dr.Nuch)
Visiting Academic
School of Electronics and Computer Science
University of Southampton, UK