จริงหรือไม่ ถ้าไม่มีเงินซักบาทในกระเป๋า คงไม่มีใครมีความสุขแน่ๆ

และคำถามต่อมา คือ แล้วต้องมีเงินเท่าไรล่ะ หรือ รวยขนาดไหนกันนะ ถึงจะทำให้คนเรามีความสุขกันนะ

ผลสำรวจของ The Harris Poll ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำของสหรัฐฯ สอบถามความเห็นของชาวอเมริกันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,034 คน ช่วงเดือนสิงหาคม 2023 พบว่า 59% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า "ความสุขสามารถซื้อหาได้" และ ต้องมีเงินในบัญชี 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงจะมีความสุขทางการเงินที่แท้จริง

พอถามถึงรายได้ต่อปี กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ระบุว่า ต้องมีรายได้เฉลี่ย 284,167 ดอลลาร์สหรัฐ จึงจะมีความสุข พอถามคนแต่ละ Gen ว่า ต้องมีเงินแค่ไหนถึงจะมีความสุข คำตอบที่ได้ก็ยังแตกต่างกันไป

กลุ่ม Gen Z ต้องการมีรายได้ปีละ 128,000 ดอลลาร์สหรัฐและมีสินทรัพย์สุทธิ 487,711 ดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่ม Gen Y ต้องการมีรายได้ปีละ 525,000 ดอลลาร์สหรัฐและมีสินทรัพย์สุทธิ 1,699,571 ดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่ม Gen X ต้องการมีรายได้ปีละ 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีสินทรัพย์สุทธิ 1,213,759 ดอลลาร์สหรัฐ

คราวนี้ มาดูคำตอบจากกลุ่มตัวอย่างเพศชายกันบ้าง พวกเขาต้องการมีรายได้เฉลี่ยปีละ 381,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง ก็ต้องการมีรายได้เฉลี่ยปีละ 183,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงจะมีความสุข

เปลี่ยนมาดูคนไทยกันบ้าง ต้องมีเงินแค่ไหนถึงจะถูกเรียกว่า เป็นคนรวย หรือ เป็นผู้ที่มีความสุขทางการเงิน

ต้องบอกกันก่อน ประเทศไทย ยังไม่การสำรวจแบบนี้ แต่มีรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 ระบุว่า คนไทยที่จัดว่าเป็นคนรวย ต้องมีรายได้เฉลี่ย 95,700 บาทต่อเดือน และต้องมีเงินออมในบัญชี 2.8 ล้านบาทขึ้นไป

มาถึงคำถามถัดมา ยิ่งมีเงินเยอะ ยิ่งมีความสุขจริงมั้ย?

ผลสำรวจ ปี 2023 ของ Matthew Killingsworth นักวิจัยอาวุโส The Wharton School of the University of Pennsylvania ระบุว่า คนส่วนใหญ่ พอมีรายได้มากขึ้น ก็จะมีความสุขมากขึ้น ยกเว้นว่า เขาเป็นคนที่มีฐานะทางการเงินดีอยู่แล้วแต่ไม่มีความสุข เช่น รวยล้นฟ้า แต่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล การมีเงินมากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร

แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น Matthew ตอบว่า ผู้คนมักใช้เงินเพื่อลดความทุกข์และเพิ่มความเพลิดเพลิน และเงินส่วนเพิ่มจะถูกนำไปใช้กับเป้าหมายที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรายได้ของคนๆ นั้น

ขณะที่ Angus Deaton เจ้าของ Nobel Memorial Prize in Economic Sciences ปี 2015 เผยผลการศึกษาของเขา ช่วงปี 2010 ว่า รายได้ที่มากขึ้นจะเพิ่มความสุขได้เพียงระดับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ เขาระบุว่า ต้องมีรายได้ประมาณ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี พอรายได้สูงกว่านี้ เงินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อความสุขให้ลดน้อยลง

และยังมีปัจจัยอื่นที่มากกว่า "รายได้" ที่ส่งผลต่อความสุข ซึ่งรายงานฉบับนี้ ระบุว่า คือ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และหนี้สิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงิน

พอถามถึงเหตุผล ในรายงานฉบับนี้ ตอบชัดว่า ผู้คนจะรู้สึกสบายใจ ที่สามารถจ่ายเงินไปกับสิ่งของในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องกังวลอะไร พร้อมยกตัวอย่าง 62% ของคนรุ่นยุคมิลเลนเนียล ระบุว่า พวกเขายินดีจ่ายเงิน 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันสำหรับกาแฟ เพราะ "มันคือความสุข!!"

ดังนั้น หากรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความมั่นคงทางการเงิน ความสบายใจที่จะใช้จ่ายก็จะลดลง และความสุขก็จะลดลงตามไปด้วย

เอาเข้าจริง ดูเหมือนว่า ความสุขทางการเงินของผู้คนส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความมุ่งหวังที่จะมีเงินมากกว่าคนอื่น หรือ กอบโกยให้ได้มากที่สุด ทุกคนเพียงอยากจะมีเงินที่มากพอ ที่จะนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้ง ในปัจจุบัน และ อนาคต ได้อย่างเหลือเฟือ โดยไม่ต้องกังวลกับเหตุฉุกเฉินใดๆ รวมถึงมีเงินมากพอที่จะสานฝัน ทำให้เป้าหมายในชีวิตวาดหวังไว้ ประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆว่า ต้องการมีอิสระทางการเงินที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต เท่านั้นเอง