กลยุทธ์การจัดการเรื่องเงินที่เหมาะสม ‘สำหรับทุกคน’ นั้นไม่มี สูตรตายตัวที่ทุกคนใช้แล้วการันตีผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมนั่นเหมือนยูนิคอร์น สวยงามแต่ก็มีเพียงแต่ในนิยายเท่านั้น เพราะเรื่องการเงินส่วนบุคคลชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่อง ‘ส่วนบุคคล’ ที่แตกต่างกันออกไป

ครอบครัว สภาพแวดล้อม ประสบการณ์ นิสัย มุมมอง และการให้คุณค่ากับเงินของแต่ละคนล้วนต่างกัน เพราะฉะนั้นการจะสร้างแผนการเงินสำหรับเราแต่ละคนนั้นสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เข้าใจเรื่องการเงินเท่านั้น แต่เราต้องรู้จักและเข้าใจตัวเราเองก่อนด้วย

ลินด์ซีย์ ไบรอัน-พอดวิน (Lindsay Bryan-Podvin) นักบำบัดทางการเงินและผู้เขียนหนังสือ "The Financial Anxiety Solution" บอกกับเว็บไซต์ Big Think ว่า

“เราทุกคนคิดว่าเราจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ซึ่งบางคนอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ที่จริงแล้วคนส่วนใหญ่เหมือนจะรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร”

เป้าหมายตามสัญชาตญาณของการเงินส่วนบุคคลนั้นเรียบง่าย มันคือจัดการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต สิ่งที่ซับซ้อนกว่าคือจัดการกับพฤติกรรมและอารมณ์ที่ขัดขวางไม่ให้เราไปถึงความสำเร็จทางการเงินที่ตั้งเป้าเอาไว้ต่างหาก

แล้วเราจะทำให้เรื่องการเงินของเราดีขึ้นได้ยังไง? ดร. แบรด ครอนต์ซ (Dr. Brad Klontz) นักจิตวิทยาการเงินจาก Creighton University สหรัฐอเมริกา บอกว่าขั้นตอนแรกคือการเข้าใจถึงธรรมชาติของความสัมพันธ์ของตัวคุณเองกับเงิน

“คุณต้องลงลึกไปเรื่องของจิตวิทยา ต้องเข้าใจก่อนเลยว่าทำไมคุณถึงคิดแบบนั้นเกี่ยวกับเรื่องเงิน และมันส่งผลลัพธ์กับชีวิตคุณยังไง ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนมันได้”

ความเชื่อโดยทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องเงิน

ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร The Journal of Financial Therapy ปี 2011 ดร.ครอนซ์สและเพื่อนร่วมงานของเขาได้ไปสัมภาษณ์คนกว่า 400 คนเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อด้านการเงินของพวกเขา โดยจะถามว่าเห็นด้วยกับประโยคต่อไปนี้มากน้อยแค่ไหน

- เงินคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย
- คนรวยเพราะเอาเปรียบคนอื่น
- คนควรทำงานเพื่อหาเงิน ไม่ควรได้รับเงินช่วยเหลือ
- คุณควรมองหาดีลที่ดีที่สุดก่อนจะซื้ออะไรสักอย่างเสมอ แม้ว่ามันจะใช้เวลาสักหน่อยก็ตาม

การศึกษาชิ้นนี้และงานวิจัยที่ตามมาได้ทำให้พวกเขาค้นพบรูปแบบความเชื่อกว้างๆ 4 แบบที่คนคิดเกี่ยวกับเรื่องเงิน พวกเขาเรียกมันว่า “Money Scripts” และอธิบายว่า

“Money Scripts มักเป็นรากฐานของความผิดปกติด้านการเงิน และเมื่อเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนหรือบาดแผลทางจิตใจ รูปแบบความเชื่อเหล่านี้ค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนด้วย”

โดยรูปแบบบุคลิกทางการเงิน 4 แบบคือ

1. Money Avoidance คนกลุ่มนี้มองว่า "เงิน คือ มารร้าย"

เห็นว่า คนรวยเป็นพวกโลภมาก และมักตั้งคำถามว่า คนเราจะมีเงินไปมากมายทำไม ในเมื่อคนอื่นยังขาดแคลน คนกลุ่มนี้ จึงมักใช้จ่ายโดยไม่ใส่ใจอะไร หาได้เท่าไรก็ใช้เท่านั้น ไม่เน้นเก็บออม และชอบลงทุนตามกระแส โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับกำไร-ขาดทุน

ดร.ครอนซ์ส บอกว่า “ตรงนี้ก็ไม่น่าแปลกใจครับถ้าคุณมองเรื่องเงินเป็นด้านลบ มันก็จะส่งผลกระทบทางลบในผลลัพธ์ทางการเงินของคุณด้วย”

2. Money Worship คนกลุ่มนี้มองว่า "เงิน เป็น พระเจ้า"

อันนี้ก็จะตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก มีกรอบความคิดว่า การมีเงินจะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปได้ ยิ่งมีเงินมาก ยิ่งมีความสุข คนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะทำงานหนัก เพื่อให้ได้เงินมากๆ แล้วนำเงินไปใช้จ่ายสร้างความสุข ชอบใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูง ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น เป็นไปได้ที่จะรับความเสี่ยงได้สูง เพราะคาดหวังผลตอบแทนสูงๆ เพื่อให้รวยเร็วๆ

3. Money Status คนกลุ่มนี้มองว่า “เงิน เป็น เครื่องแสดงสถานะ”

กลุ่มนี้คือคนที่มองว่าคุณค่าของตัวเองเท่ากับความมั่งคั่งที่มี มักใช้เงินสร้างตัวตน มักจ่ายเงินไปกับข้าวของต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับจึงมีโอกาสที่จะใช้เงินเกินตัว เสี่ยงเป็นหนี้ และอาจจับพลัดจับผลู เข้าสู่วงการพนัน เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่าย สำหรับรูปแบบการลงทุนของคนกลุ่มนี้จะคล้ายกับคนกลุ่มที่แล้ว คือ พร้อมเสี่ยง เพื่อสร้างทางลัดไปสู่ความร่ำรวย

4. Money Vigilance คนกลุ่มมองว่า “เงิน เป็น ของรัก”

กลุ่มนี้จะมักจะเป็นกลุ่มคนที่มีเงินเยอะ สนใจเรื่องการหาดีลที่ดี ไม่จ่ายเงินเกินตัว ให้ความสำคัญกับเงินที่หามาได้ เห็นว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ ต้องปลอดภัย เงินมีไว้เก็บ ไม่ได้มีไว้ให้ใช้

การประหยัดมากจนเกินไปสามารถสร้างความกังวลและบางครั้งจึงถูกมองว่าเป็นคนขี้เหนียว เพราะมักจะคิดแล้วคิดอีกกว่าจะยอมควักกระเป๋าจ่ายแต่ละบาท ดังนั้นรูปแบบการลงทุนของคนกลุ่มนี้ คิดเน้นช้าแต่ชัวร์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน เพราะรับเรื่องของขาดทุนไม่ค่อยได้นั่นเอง

“พื้นฐานทางครอบครัว ถือว่าเป็นส่วนสำคัญกับทัศนคติและมุมมองเรื่องเงินของคนเราแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่าย การเก็บออม การลงทุน และความสามารถในการรับความเสี่ยง“ ดร.ครอนซ์สเน้นย้ำ “การพยายามหาจุดสมดุลระหว่างบุคลิกทางการเงินเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ไม่ใช่เฉพาะสุขภาพจิตเท่านั้น แต่รวมไปถึงสุขภาพการเงินของเราด้วย”

ไบรอัน-พอดวิน แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้แทนที่จะพึ่งพาตัวเอง อารมณ์ หรือการตัดสินใจในแต่ละวัน ก็ควรใช้ระบบอัตโนมัติไปเลยถ้าเป็นไปได้ ออมเงินเท่าไหร่ต่อเดือนให้ตัดบัญชีไป ซื้อหุ้น จ่ายหนี้ หรืออะไรก็แล้วแต่ถ้าทำได้ให้ทำใช้ระบบเข้ามาช่วย

สำหรับการวางแผนการเงินของแต่ละคน หลังจากที่เริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ของเรากับเงินแล้ว เราก็เริ่มจากตรงนั้น ออมน้อยเกินไปรึเปล่า เสี่ยงมากไปไหม ซื้อของมาเพื่อใช้แสดงสถานะใช่ไหม ใช้เงินเกินตัวอยู่ไหม ฯลฯ แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การออม การลงทุน ให้เหมาะสมกับเป้าหมายและไลฟ์สไตล์