บางคนใช้ชีวิตบนแผ่นดินเกิดตั้งแต่เด็กจนตาย ขณะที่อีกหลายคนต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ต่างแดน การย้ายถิ่นฐานอาจเป็นการตัดสินใจของเราเองหรือคนในครอบครัว แต่ทุกคนที่เลือกเส้นทางนี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือการแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้คำจำกัดความว่าผู้ย้ายถิ่นฐานหมายถึงบุคคลที่ย้ายออกจากสถานที่ที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายในประเทศหรือออกนอกประเทศ การย้ายชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม

ซึ่งผู้ย้ายถิ่นฐานนับรวมทั้งกลุ่มที่ย้ายแบบถูกกฎหมาย กลุ่มที่ลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย และกลุ่มที่กฎหมายไม่ระบุสถานะของการย้ายไว้ว่าถูกหรือผิด เช่น นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ โดยในปี 2020 จำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานทั่วโลกมีมากถึง 281 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 1990 ซึ่งมีเพียง 128 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นราว 120%

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเฉพาะการเพิ่มขึ้นของ “จำนวน” ผู้ย้ายถิ่นฐานเพียงอย่างเดียวอาจฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก เพราะจำนวนประชากรบนโลกก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณา “สัดส่วน” ของผู้ย้ายถิ่นฐานต่อจำนวนประชากรโลกควบคู่ไปด้วย โดยในปี 2020 อยู่ที่ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปี 1990 ซึ่งอยู่ที่ 2.9% เท่ากับว่าจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก

คนไทยย้ายออกไปไหน และใครย้ายเข้ามาในประเทศไทย

องค์การสหประขาชาติประเมินว่าจำนวนคนไทยที่ย้ายไปอยู่ต่างแดนในปี 2020 มีประมาณ 1.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 1.5% ของประชากรไทยที่อาศัยในประเทศ แม้ว่าสัดส่วนผู้ย้ายถิ่นฐานต่อประชากรของไทยจะต่ำกว่าโลก แต่เมื่อพิจารณาอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไทยที่ย้ายถิ่นฐานเทียบกับปี 1990 พบว่าสูงถึง 250% หรือมากกว่าโลกราว 2 เท่า สะท้อนว่ากลุ่มที่ตัดสินใจย้ายประเทศยังเป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดเรื่องการย้ายประเทศได้รับความสนใจจากคนไทยเพิ่มขึ้นมาก

จุดหมายปลายทางที่คนไทยย้ายไปมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งครองอันดับ 1 ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยจำนวนคนไทยที่ย้ายไปสหรัฐฯ ในปี 1990 คิดเป็น 35% ของผู้ย้ายถิ่นฐานชาวไทยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การย้ายไปสหรัฐฯ ได้รับความนิยมน้อยลงหลังปี 2000 สะท้อนจากสัดส่วนคนไทยที่ย้ายไปสหรัฐฯ ที่ลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียง 24% ในปี 2020

ขณะที่เกาหลีใต้คือประเทศที่มาแรงในกลุ่มคนไทยที่ต้องการย้ายถิ่นฐาน และรั้งอันดับ 2 ในปี 2020 โดยสัดส่วนคนไทยที่ย้ายไปเกาหลีใต้พุ่งขึ้นจาก 0.7% ในปี 2000 มาอยู่ที่ 14.7% ในปี 2020

ส่วนเยอรมนีและออสเตรเลียคือจุดหมายปลายทางอันดับ 3 และ 4 ซึ่งมีสัดส่วนคนไทยที่ย้ายไปใกล้เคียงกันอยู่ที่ราว 8% ในปี 2020 จะเห็นได้ว่าคนไทยมีเป้าหมายที่จะย้ายไปประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทยด้วยความหวังว่านี่อาจเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง จำนวนชาวต่างชาติที่ย้ายเข้าไทยในปี 2020 มีจำนวนมากถึง 3.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 5.1% ของประชากรไทย โดยกว่า 50% เป็นชาวพม่า อีก 25% เป็นชาวลาว และอีก 20% เป็นชาวเขมร มีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานสัญชาติอื่น

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าจำนวนคนจีนที่ย้ายเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสัดส่วนเพียง 0.02% ของผู้ย้ายถิ่นฐานเข้าไทยทั้งหมดในปี 2000 เพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในปี 2020 สูงเป็นอันดับ 4 รองจากผู้อพยพ 3 สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคนที่ย้ายเข้ามาส่วนใหญ่ก็คาดหวังไม่ต่างจากคนไทยที่ย้ายออกนอกประเทศ

กล่าวคือคนกลุ่มนี้ต้องการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันรายได้ต่อหัวของไทยถือว่าสูงกว่าพม่า ลาว และ เขมร ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ งานวิจัยส่วนมากยังมุ่งเป้าไปที่การทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ย้ายเข้า เนื่องจากจำนวนชาวต่างชาติที่ย้ายเข้าไทยมากกว่าคนไทยที่ย้ายออกนอกประเทศ ขณะที่พฤติกรรมของผู้ย้ายออกยังไม่ค่อยมีคนศึกษามากนัก

การย้ายประเทศอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน

จริงอยู่ที่การย้ายประเทศเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ แต่ผู้ที่ตัดสินใจย้ายไปอยู่ต่างแดนอาจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการกว่าจะบรรลุเป้าหมาย โดยจะขอพูดถึงใน 2 ประเด็น ดังนี้

1. การเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย : เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยไม่ได้ถือพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี 2023 Henley & Partners ได้จัดพาสปอร์ตไทยไว้ในอันดับที่ 65 จาก 199 ประเทศทั่วโลก ต่ำกว่าพาสปอร์ตของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ทรงอิทธิพลเป็นอันดับ 11 ของโลก

ซึ่งคนมาเลเซียสามารถเดินทางเข้าอังกฤษ สหภาพยุโรป รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้คนไทยมีความยุ่งยากมากกว่าในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร อย่างไรก็ตาม การย้ายเข้าประเทศปลายทางอย่างถูกกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อให้มั่นใจว่าจะอาศัยในประเทศนั้นได้อย่างยั่งยืนและได้รับสวัสดิการเทียบเท่ากับพลเมืองของประเทศนั้น ๆ

2. ทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในต่างแดน : นอกจากวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น แพทย์ ทนายความ หรือวิศวกรรมที่มักเป็นที่ต้องการในประเทศพัฒนาแล้ว ทักษะด้านภาษาก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยปัจจุบันภาษาอังกฤษคือภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก และมีการเรียนการสอนอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่สถาบัน Education First (EF) กลับจัดให้ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในกลุ่ม very low proficiency เช่นเดียวกับพม่า ลาว และเขมร ขณะที่มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่ในกลุ่ม high, moderate และ low proficiency ตามลำดับ

บางประเทศจึงกำหนดให้คนไทยต้องผ่านการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่นให้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหลังจากที่ย้ายไป

ท้ายที่สุด ผู้เขียนคงไม่สามารถบอกได้ว่าการย้ายออกนอกประเทศหรือการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ตัวเองเกิดแบบไหนคือตัวเลือกที่ดีกว่ากัน เพราะต่างคนต่างก็มีหนทางที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่สิ่งที่ทุกคนควรมีคือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรือวัฒนธรรมในประเทศที่ตัวเองอยู่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

-----------------------------------

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ
เจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย
Email: PirayaR@bot.or.th