เดี๋ยวนี้ข้าวของอะไรก็แพง ค่าครองชีพก็สูง นับเป็นความท้าทายที่ทุกคนในยุคนี้ต้องเผชิญ ด้านหัวอกคนเป็นพ่อแม่ก็อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงลูก ทำให้เราเห็นบางครอบครัวยังส่งเงินเลี้ยงลูกอยู่ แม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ และมีงานการทำแล้วก็ตาม

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าพึ่งนึกตำหนิลูกๆ ว่าโตแล้ว ทำไมยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้อีก เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าคนรุ่นใหม่นั้นเผชิญหน้ากับความท้าทายทางการเงินมากกว่าคนรุ่นก่อนหลายประการ ไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้รายได้ที่มีอยู่อาจไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้ทั้งหมด

ด้วยความท้าทายทางการเงินเหล่านี้ GenZ กว่า 53% กล่าวว่าเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ต่อความสำเร็จทางการเงินที่ตั้งเป้าเอาไว้ ตามการสำรวจของ Bank Rate

“นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับลูกๆ แน่นอน และพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็เริ่มตระหนักแล้ว” - ลอเรนซ์ คอทลิคอฟฟ์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน

👪 แต่ความช่วยเหลือที่มากเกินไป อาจทำให้เสียสมดุล

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อแม่จะช่วยเหลือลูกของตัวเอง แต่อาจไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ หาก ‘ให้จนตัวเองเดือดร้อน’ เชื่อไหมว่า มีพ่อแม่ไม่น้อยที่ให้เงินลูกมากกว่าการเก็บเพื่อวัยเกษียณของตัวเองถึง 2 เท่าทุกเดือน จากผลสำรวจกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูก โดย Savings.com เว็บไซต์ด้านการเงิน

โดยพ่อแม่กว่า 58% (จาก 1,000 คน) ยอมรับว่าตนยอมสละความมั่นคงทางการเงินของตัวเองเพื่อลูก โดยปีที่แล้วสัดส่วนนี้อยู่ที่ 37% เท่านั้น แน่นอนว่าการสำรวจนี้แสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก แต่การทำแบบนี้ก็ชัดเจนว่าจะส่งผลเสียต่อการเงินของพ่อแม่ในระยะยาวแน่นอน

เพราะยุคนี้ นอกจากค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในด้านต่างๆ แล้ว พ่อแม่ยังจ่ายค่าโทรศัพท์ให้ลูก ไปจนถึงค่าประกันภัยอีกด้วย จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมค่าใช้จ่ายถึงบานปลาย และไม่มีเงินเก็บในส่วนของตัวเอง

💰 ช่วยเหลือลูกได้ แต่ต้องวางแผนสร้างสมดุล เพื่อให้ลูกได้เติบโตขึ้นเองด้วย

แคโรลิน แมคคลานาฮาน นักวางแผนทางการเงิน มองว่าพ่อแม่ควรวางแผนการเงินของตัวเองให้ดี และค่อยดูว่าสามารถแบ่งไปช่วยเหลือลูกได้เท่าไหร่

สำหรับพ่อแม่ที่มีแผนการเงินอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้สละเป้าหมายส่วนตัวเพื่อมาเลี้ยงลูกแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะเหตุจำเป็นตามความเหมาะสม เพราะการช่วยเหลือลูกๆ อย่างไร้เงื่อนไข อาจบ่มเพาะให้ลูกไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองทางการเงินได้

“คุณต้องสร้างขอบเขต และหาสมดุล” แคโรลิน แมคคลานาฮาน กล่าว

ในขณะที่ลูกๆ เองก็ไม่ควรจะหวังพึ่งพ่อแม่เพียงอย่างเดียว แม้ตามที่บอกไปข้างต้นว่า วันนี้เรามีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องเผชิญมากกว่าคนยุคก่อน แต่ก็มีข้อได้เปรียบอยู่เหมือนกัน เช่นในเรื่องการลงทุน ที่คนยุคนี้ตระหนักเร็วกว่าคนยุคก่อนมากว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จทางการเงินได้

ที่สำคัญคือตัวลูกๆ เองก็ต้องพิจารณาเรื่องการวางแผนการเงินของตัวเองด้วย เช่น การใช้หนี้ และการเก็บออมให้มากกว่ารายจ่าย เพื่อสร้างเส้นทางการเงินของตัวเอง โดยไม่ต้องคอยให้พ่อแม่เสียสละตัวเองมาเลี้ยงดูเรา

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช