การเป็นคุณแม่มือใหม่ นับเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ ที่จะมีอีกหนึ่งชีวิตพร้อมเติบโตและใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่อาจกังวลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ มากมาย หนึ่งในความกังวลอันดับต้นๆ คือ เรื่องเงิน เพราะจากนี้ไปจะต้องจ่ายซื้ออาหาร เสื้อผ้า ของเล่น ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และอื่นๆ อีกมากมาย

ไม่ผิดนักหากจะพูดว่าการเป็นคุณแม่มือใหม่ถือเป็นความท้าทายทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็วิธีมากมายในการออมและประหยัดเงิน พูดง่ายๆ หากรู้จักเคล็ดลับในการวางแผนการเงิน การเป็นคุณแม่มือใหม่ก็จะมีความราบรื่นและมีความสุข

สร้างงบประมาณส่วนบุคคล

เริ่มต้นด้วยการสร้างงบประมาณส่วนบุคคลอย่างละเอียด เพื่อติดตามรายได้และค่าใช้จ่าย การบริหารความเสี่ยง การออมเงิน เพราะหากเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินของตัวเอง จะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญการรู้ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจะช่วยให้วางแผนงบประมาณได้อย่างลงตัว

เตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพียงพอ โดยเงินก้อนนี้ควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะเงินก้อนนี้จะช่วยรองรับการใช้ชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่ทันคาดคิด

เปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้เป็นค่าใช้จ่าย

คุณแม่มือใหม่ควรเปิดบัญชีออมทรัพย์เอาไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าตัวน้อยโดยเฉพาะ เพื่อทำให้สามารถติดตามค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์อื่นด้วย ที่สำคัญควรออมเงินเพื่อเจ้าตัวน้อยให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ เงินออมก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

จัดการออมเงินแบบอัตโนมัติ

ควรตั้งค่าการโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนของตัวเองไปยังบัญชีออมทรัพย์ของเจ้าตัวน้อย จะช่วยให้มีระเบียบวินัยและเงินถูกโอนเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ส่วนจะออมเงินงวดละเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและจำนวนค่าใช้จ่ายในแต่ละงวด

ตรวจสอบและปรับปรุงแผน

เมื่อออมเงินเพื่อเจ้าตัวน้อยไปแล้ว ควรตรวจสอบการเงินเป็นประจำ และหากเห็นว่าแผนการเงินเริ่มไม่เข้าที่เข้าทาง เช่น ออมน้อยเกินไปไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ก็ต้องปรับปรุง เช่น เพิ่มเงินออม หรือลดการค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของคุณแม่หรือคุณพ่อ เพื่อทำให้แน่ใจว่าแผนการเงินเพื่อเจ้าตัวน้อยจะไม่สะดุด

เช็กสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

หากคุณแม่ (รวมถึงคุณพ่อ) กำลังตั้งครรถ์ก็สามารถนำค่าฝากครรถ์และค่าคลอดบุตรไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง รวมสูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท ดังนั้น ต้องรักษาสิทธิประโยชน์เพื่อลดภาระด้านภาษี

นอกจากแผนการออมเงินเพื่อเจ้าตัวน้อยแล้ว ประเด็นที่คุณแม่มือใหม่จะมองข้ามไม่ได้ คือ การใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า และนี่คือเคล็ดลับง่ายๆ เพื่อให้ประหยัดอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่าลืมประเมินค่าใช้จ่ายและใช้จ่ายให้ประหยัดเหมาะสม

ควรประเมินค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีลูก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ผ้าอ้อม เสื้อผ้า อาหาร อุปกรณ์เลี้ยงเด็ก เพราะวิธีนี้จะช่วยให้ทราบชัดเจนว่าต้องออมเงินเท่าไหร่ในการดูแลเจ้าตัวน้อย และที่สำคัญควรวางแผนการใช้จ่ายให้ประหยัดและเหมาะสมด้วย ดังนี้

ทำรายการซื้อของ

ก่อนไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายของ ต้องทำรายการซื้อของเท่าที่จำเป็นเสมอ และควรซื้อของตามรายการเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ซื้อของบางอย่างในแต่ละครั้งจำนวนมาก

สำหรับของบางประเภท เช่น ผ้าอ้อม ทิชชู่เปียก ในแต่ละครั้งควรซื้อจำนวนมากเพื่อประหยัดเงินในระยะยาว ที่สำคัญควรศึกษาข้อมูลว่าร้านไหน (หรือยี่ห้อไหน) มีส่วนลด เพื่อจะได้ประหยัดเงินให้มากที่สุด

ซื้อของเฉพาะเมื่อต้องการซื้อ

ในฐานะคุณแม่มือใหม่ก็จะคาดหวังให้เจ้าตัวน้อยมีความสุขที่สุด ดังนั้น จึงซื้อของจนเต็มรถเข็น แต่อย่าลืมว่าเด็กทารกเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถเติบโตเร็วกว่าของที่ซื้อมา โดยเฉพาะชุดเสื้อผ้าน่ารักที่ใส่ไม่กี่ครั้งก็มีขนาดเล็กเกินไปในเวลาอันรวดเร็ว หรือซื้อรองเท้า 5 คู่ในวันเดียวกัน แม้กระทั่งซื้อรถเข็นล่วงหน้านานเกินไป แต่เมื่อถึงเวลาจะนำมาใช้ เจ้าตัวน้อยกลับชอบให้คุณแม่อุ้ม สุดท้ายรถเข็นก็ไม่ได้ใช้งาน ดังนั้น เคล็ดลับการประหยัดเงินง่ายๆ คือ ซื้อให้ใกล้เวลาที่ต้องการเท่านั้น อย่าซื้อเผื่ออนาคตมากจนเกินไป

ปรุงอาหารที่บ้าน

การทำอาหารที่บ้านจะสามารถช่วยประหยัดเงินเมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารนอกบ้านหรือสั่งซื้อกลับบ้าน นอกจากนี้ การเตรียมอาหารด้วยตัวเองก็จะทราบถึงสัดส่วนวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ทราบคุณค่าอาหารว่ามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

อย่าลืมว่าการวางแผนการเงินล่วงหน้าจะช่วยให้คุณแม่มือใหม่ ลดความกังวลเรื่องเงิน ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยการออมเงินก้อนเล็กๆ แต่อีกสักพักเงินออมก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับเจ้าตัวน้อย และยิ่งวางแผนการใช้จ่ายควบคู่ไปด้วย จะยิ่งรู้สึกปลอดภัยกับสถานะการเงินมากขึ้น