จากประเด็นร้อนแรงในช่วงวันหยุดวันแม่ไปเลยทีเดียวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ 12 สิงหาคม 2566 วันแม่ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งถือว่าเป็นฉบับล่าสุด ซึ่งมีเนื้อหาที่แตกต่างจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับก่อนๆ ที่เป็นประเด็น ก็คือ

ในหมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(3) มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ซึ่งข้อ (4) คือ ประเด็นที่เป็นกระแสในปัจจุบัน เพราะทำให้หลายคนกังวลว่าจะไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต่างจากระเบียบฯฉบับปี 2561 ที่ข้อ (4) ระบุชัดเจนว่า

ข้อ (4) ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อันใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองสวนท้องถิ่น ได้แก่

(ก) ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอันใดในลักษณะเดียวกัน
(ข) ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(ค) ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ

ความกังวลดังกล่าวเกิดทั้งกับผู้สูงอายุ

ดังต่อไปนี้

➡️1. ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้วว่าจะได้รับต่อหรือไม่ หรือที่ได้รับแล้วจะถูกเรียกคืนหรือไม่

คำตอบในข้อ 14 “หากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน”

และข้อ 17 “บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว

สรุปคือ ไม่เรียกคืน และมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพต่อเนื่อง

➡️2. สำหรับผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุ (อายุครบ 60 ปี) โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุในปีนี้ เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน

ตามข้อ 7 “บุคคลใดที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้ยืนยันสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยไม่ต้องลงทะเบียน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำนวยความสะดวกโดยการแจ้งไปยังผู้สูงอายุที่มีสิทธิ หากผู้สูงอายุมีความประสงค์ที่จะรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้แนบเอกสารหลักฐานข้อมูล เพื่อยืนยันสิทธิตนเอง ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้

(1)แบบยืนยันสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
(2)สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับกรณีที่ผู้ที่ประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผ่านธนาคาร”

แปลว่า อายุครบ 60 ปีค่อยยืนยันสิทธิรับเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากข้อ 7 ของระเบียบฯฉบับปี 2560 ที่ว่า ข้อ 7 วรรคหนึ่ง “ให้ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด…

แปลว่า คนที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ปีงบประมาณหน้า ต้องลงทะเบียนภายในปีงบประมาณนี้ ซึ่งคนที่มีอายุ 59 ปีในปีนี้ (มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ปีงบประมาณ 2567) ที่สามารถลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2507 และต้องลงทะเบียนภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566 นี้ โดยสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่ เดือนกันยายน 2565 - เดือนพฤศจิกายน 2565 และเดือนมกราคม 2566 – เดือนกันยายน 2566

ถ้ายื่นไม่ทัน ก็จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพของปีงบประมาณถัดไป ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้าและจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ ในบางกรณีอาจมีการสูญเสียเงินเบี้ยยังชีพที่ควรจะได้ไปถึง 7,200 บาท

ดังนั้น ในขณะที่กฎหมายและแนวทางปฏิบัติยังไม่ชัดเจน หากเรารอยืนยันสิทธิเมื่ออายุครบ 60 ปีตามระเบียบฯใหม่ เราอาจเสียสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของปีงบประมาณถัดไปได้ แนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เราต้องลงทะเบียนว่า “ควรทำอย่างไร ถึงไม่เสียสิทธิรับเบี้ยยังชีพ?” หรือลงทะเบียนเบี้ยยังชีพฯตามกฎหมายเดิมก่อน ที่

1. สำนักงานเขตที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
2. ที่ว่าการอำเภอ, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ

โดยเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบแบบคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้แก่

1) บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2) ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
3) สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร กรณีขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร