พวกเราหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับข้อมูลหรือเคยสังเกตเห็นว่า “80% ของยอดขายในทุกธุรกิจ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่แค่ไหน มักจะมาจากลูกค้าจำนวน 20%”

หรือทำนองเดียวกัน “ยอดขายของบริษัท 80% มาจากจำนวนพนักงานขายเพียง 20%”

หรือ ความรู้ที่เราเรียนมาตลอดชีวิตของเรา ที่เรานำใช้ในการทำงานจริงๆ มีเพียง 20% เท่านั้น เป็นต้น

ความจริงอันน่าแปลกประหลาดนี้ จริงๆ แล้วมีการพบกันมาตั้งนาน เมื่อปี 1906 หรือร้อยกว่าปีมาแล้ว โดย “Vilfredo Pareto” ชาวอิตาลี ได้ตั้งข้อสังเกตอันโด่งดัง ในยุคนั้นไว้ว่า...”80% ของทรัพย์สิน ในอิตาลี่ ถูกครอบครองโดย คน 20%”

ปรากฏว่าเรื่องอื่นๆ หลายๆ เรื่องก็สอดคล้องกับ “กฎของ Pareto 80:20” เช่นกัน ไม่ว่า “สินค้าจำนวน 20% จะกินพื้นที่ 80% ใน Warehouse” หรือ “เวลาที่เราใช้ในการทำงาน 80% ให้ผลงานเพียง 20%” ทำนองกลับกัน “เวลาที่เราใช้ 20% ให้ผลงานสูงถึง 80%”

จนราวๆ ปี 1940 Dr.Joseph M. Juran จึงสรุปแนวคิด เรื่อง 80/20 ไว้ว่า สิ่งสำคัญจำนวนไม่ต้องมากกลับสามารถสร้างผลกระทบได้เยอะ แต่สิ่งไม่สำคัญจำนวนเยอะๆ กลับสร้างผลกระทบได้ไม่มาก (vital few and trivial many)

ต่อมากฎของ Pareto ถูกมาประยุกต์ และถูกเรียกว่า “กฎของการออกแรงน้อยที่สุด” (Principle of Least Effort) “ในสิ่งที่เรา ใส่ไป 20% จะให้ผลออกมาให้เรา 80%”

บริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งได้นำเอาข้อสังเกตของความไม่สมดุล หรือกฎ 80/20 นี้ มาประยุกต์ใช้ เช่น ในปี 1963 บริษัท IBM สำรวจพบว่าร้อยละ 80 ของเวลาและทรัพยากรในการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดจะเป็นการใช้งานจากโค้ดของ Operating System เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

ดังนั้น IBM จึงได้ปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ใช้ประโยชน์จากส่วนร้อยละ 20 นี้ให้ดีขึ้น ทำให้ส่วนนี้สามารถถูกใช้งานได้อย่างสะดวก ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพ ทำให้คอมพิวเตอร์ของ IBM ในยุคนั้นทำงานเร็ว และมีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่ง

หรืออย่าง กรณีในปี 2022 บริษัท Berkshire ของ Warren Buffett ลงทุนในหุ้นทั้งหมด 47 บริษัท แต่มีหุ้นเพียง 7 บริษัทเท่านั้น (14.89% ของ 47 บริษัท) ที่สร้างผลตอบแทนให้สูงถึง 80%

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทราบก็คือ สิ่งที่สำคัญส่วนน้อยที่เป็นประโยชน์มากนั้นอยู่ตรงไหน และจะใช้มันให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ในด้านบัญชีเงินฝากของไทยก็เช่นกัน พบว่าในปลายปี 2566 กลุ่มคนที่มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท มีมากถึง 81 ล้านราย หรือมากกว่า 80% ของจำนวนผู้มีเงินฝาก 93 ล้านราย โดยพบว่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ประชาชนมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน ซึ่งก็สอดคล้องกับ กฎของ Pareto

นอกจากนี้ในด้านของประเภทเงินฝากของคนไทย ข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเมื่อปี 2562 พบว่า

• 97.3% ของผู้ฝากมีบัญชีออมทรัพย์ โดยผู้ฝากส่วนใหญ่ (88%) จะฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เท่านั้น
• เงินส่วนใหญ่ของผู้ฝากทุกกลุ่ม (ทุกวัย ทุกเพศ ทุกภูมิภาค) จะอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เฉลี่ยประมาณ 93.3% ของเงินในพอร์ตของผู้ฝาก และมีเพียง 6.3% ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ
• หากพิจารณาด้านจำนวนบัญชี พบว่า 98.8% ของจำนวนบัญชีอยู่ในบัญชีออมทรัพย์

ซึ่งเงินฝากออมทรัพย์เป็นเงินฝากประเภทที่ทางการเงินเรียกว่า “ idle asset” คือ ไม่มีผลตอบแทนนั่นเอง ซึ่งก็น่าจะเข้าหลักการ “กฎของ Pareto 80:20” เช่นกัน คือ เงินออมส่วนใหญ่ของเราไม่ได้ก่อให้เกิดผลตอบแทนเลย

และที่แย่ไปกว่านั้น ก็คือ จากงานสัมมนางานหนึ่ง วิทยากรท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า 87% ของเงินฝากออมทรัพย์ มีลักษณะคล้ายฝากประจำ คือ ฝากแล้วไม่ถอนนั่นเอง ซึ่งก็เข้าหลักการ “กฎของ Pareto 80:20” อีกเช่นกัน คือมีเพียง 20% ของเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้นที่เราใช้ประโยชน์ของการเป็นเงินฝากออมทรัพย์จริงๆ คือ เพื่อเป็นสภาพคล่องเผื่อถอนใช้เมื่อยามจำเป็น

ดังนั้นหากเราจะประยุกต์ใช้ “กฎของ Pareto 80:20” ในการบริหารการเงิน ก็คือ มาดูว่า

✅1. ทำอย่างไรส่วนที่เป็น 80% ของเงินออมเราจะได้ประโยชน์สูงสุด

เราสามารถทำได้โดย

➡️ควรจะมีเงินในออมทรัพย์เท่าที่จำเป็น สำหรับการเผื่อถอนใช้เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไป ควรมีเงินในออมทรัพย์ ประมาณ 2 สัปดาห์ของค่าใช้จ่ายประจำวันก็พอแล้ว

➡️ควรจะมีเงินในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องใกล้เคียงเงินสด (Cash Equivalent) เช่น กองทุนตลาดเงิน ฯลฯ ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อเพิ่มผลตอบแทน แม้มีสภาพคล่องต่ำกว่านิดหน่อย แต่ก็ได้รับประโยชน์ทางภาษี คือ ผลตอบแทนที่ได้ (กำไรส่วนเกินจากการขายคืนหน่วยลงทุน) ได้รับยกเว้นภาษี

➡️ สำหรับเงินที่ฝากในออมทรัพย์แล้วไม่ถอนเหมือนเงินฝากประจำ ก็เปลี่ยนมาฝากประจำเลยดีกว่า เพราะดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ หรือถ้าไม่ต้องการสภาพคล่องมากนัก ก็เลือกออมในกองทุนที่คล้ายเงินฝากประจำแทนอย่างพวก Term fund ก็ได้

✅2. ทำอย่างไรส่วนที่เป็น 20% จะให้ประโยชน์สูงสุด

➡️ จะนำเงินไปลงทุนอย่างไรดี เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง

แม้เงินส่วนนี้จะมีเพียง 20% แต่ก็มีผลอย่างมากต่อความมั่งคั่งของเรา ดังนั้นเราจึงต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ หากเราอยากลงทุนในตลาดหุ้น พิจารณาดูดีๆ จะเห็นว่าตลาดหุ้นก็เข้าหลักการของ “กฎของ Pareto 80:20” เช่นกัน

คือหุ้นที่มีพื้นฐานดีมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งตลาด และหากเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรม ก็จะมีหุ้นที่มีพื้นฐานดีเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งอุตสาหกรรมเช่นกัน ปัญหาของเรา ก็คือ หุ้นที่ดีพวกนี้ คือ หุ้นอะไร หรือ "ร้อยละ 20 นั้นคืออะไร ? และอยู่ตรงไหน?"

อย่างอเมริกาก็มี Magnificent 7 คือ กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีธุรกิจใหญ่และมีรายได้จากทั่วโลก ประกอบไปด้วย Amazon (AMZN), Apple (APL), Alphabet (GOOGL), Meta Platforms (META), Microsoft (MSFT), Nvidia (NVDA) และ Tesla (TSLA)

ส่วนญี่ปุ่นก็มี “7 Samurai” คือหุ้นซึ่งมีส่วนสำคัญดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น ได้แก่ Screen Holdings, Advantest, Disco, Tokyo Electron, Toyota Motor, Subaru และ Mitsubishi Corp แต่หากเราไม่รู้จะเลือกลงทุนอย่างไร ก็ลองศึกษาและจัดสรรเงินก้อนนี้มาลงทุนผ่านกองทุนรวมดู เพราะผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและเหมาะสมสำหรับแต่ละภาวะการลงทุนให้

➡️ในด้านกลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุน

ก็มีการใช้กฎของ Pareto ในการจัดพอร์ตเช่นกัน ตัวอย่างเช่นการบริหารพอร์ตแบบ “พีระมิดการลงทุน” ซึ่งเป็นแนวทางการจัดสรรเงินลงทุนแบบหนึ่ง โดยจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ (ฐานพีระมิดที่กว้าง) ไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้ค่อนข้างแน่นอน เช่น เงินฝากธนาคาร ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ระยะสั้น หรือพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ และจัดสรรเงินลงทุนส่วนน้อยหรือบางส่วน (ยอดพีระมิดที่แคบ) ไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ อนุพันธ์ ฯลฯ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้น

พูดง่ายๆ คือ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเงินลงทุน (Capital Protection) แต่ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงโอกาสในการทำกำไร (Capital Appreciation) ด้วย

การจัดสรรเงินลงทุนในลักษณะ “พีระมิดการลงทุน” นี้ นอกจากพอร์ตการลงทุนจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ไม่ผันผวนมากจนเกินไปแล้ว ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในทุกภาวะตลาดได้อีกด้วย

เขียนโดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์. นักวางแผนการเงิน CFP®