ด้วยไลฟ์สไตล์ผู้คนที่เปลี่ยนไป มีคนโสดและผู้สูงอายุมากขึ้น ส่วนคู่รักที่แต่งงานก็ไม่มีลูก ดังนั้น “สัตว์เลี้ยง” จึงช่วยเติมเต็มชีวิต ช่วยลดความเครียดและความโดดเดี่ยว จากเมื่อก่อนที่เลี้ยงไว้แค่เฝ้าบ้าน ให้อาหารแบบตามมีตามเกิด ข้าวคลุกปลาทู เศษเนื้อธรรมดาๆ สู่การเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน ประคบประหงมด้วยสิ่งที่ดีที่สุด เจ็บป่วยก็รักษาเต็มที่

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Pet Humanization” คือการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้หวังสร้างประโยชน์ใช้งานเท่านั้น แต่เลี้ยงให้เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว เหมือนลูกคนหนึ่งของเรา

สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามมาก็คือ “ค่าใช้จ่าย” ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าสิ่งของจิปาถะต่างๆ โดยเหล่าทาสหมามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท/ตัว/เดือน ส่วนทาสแมวมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 700-1,000 บาท/ตัว/เดือน

คนอายุ 18-34 ปี รักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกมากที่สุด

ผลสำรวจของ Morgan Stanley บริษัทที่ให้บริการทางการเงินระดับโลก มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้บริโภคในกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) หรือกลุ่มอายุ 18-34 ปี คือกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเองมากถึง 75% และยังมี 65% ที่ต้องการหรือวางแผนเลี้ยงสัตว์เพิ่มในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้กลุ่มมิลเลนเนียลก็มีพฤติกรรมรักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูก โดยให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับแรกอีกด้วย

ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

จากแนวโน้มปรากฏการณ์ Pet Humanization ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นอย่างมาก ราว 30,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ 45%, ธุรกิจดูแลสุขภาพสัตว์ 32% และธุรกิจอื่นๆ เกี่ยวกับสัตว์ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น 23%

เมื่อมองที่ธุรกิจอาหาร ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับ 4 ของโลก และยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2565 จะแตะระดับที่ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (80,527 ล้านบาท) ซึ่งเติบโตราว 20% และขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก

เทรนด์อาหารของคนในตอนนี้ก็คืออาหารที่ทำจากพืช ซึ่งก็เริ่มเป็นที่นิยมในอาหารสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน ผลสำรวจของ The American Pet Products Association (APPA) พบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยง 51% ต้องการอาหารสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน

ธุรกิจคลินิกสัตว์เลี้ยงในเมือง เติบโตขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศราว 3,000 แห่ง แบ่งเป็นคลินิกเล็กๆ 80%, คลินิกที่ผ่าตัดได้ 15% และโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมแพทย์เฉพาะทาง 5% นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักเรียน หันมาเรียนด้านสัตวแพทย์-สัตว์เลี้ยง มากขึ้น 70-80% อีกด้วย

ทางด้านธุรกิจที่พักสำหรับสัตว์เลี้ยง ก็เติบโตอย่างมากเช่นกัน เช่น โรงแรมแมวโคฟูกุ (Kofuku Cat Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมแมวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับแมวได้ราว 200 ตัว หากเป็นช่วงเทศกาลต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือน ซึ่งหากสำรวจเฉพาะแมวที่มีเจ้าของอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีมากถึง 400,000 ตัวเลยทีเดียว

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ จึงมีคาดการณ์ว่าสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์ทางการเมืองใดๆ เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ นั่นเพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เหล่าบรรดาทาสหมา-ทาสแมว ต่างก็อยากให้ “ลูก” ของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดนั่นเอง