เมื่อพูดถึงคำว่า “หนี้” กับคำว่า “จน” ทีไร
มักจะเกิดคำถามตามมาว่า “เพราะจนถึงต้องมาเป็นหนี้”
หรือมาจากเหตุผลที่ว่า “เพราะเป็นหนี้เลยต้องจน”

คำว่า “เพราะว่าจนถึงต้องมาเป็นหนี้” นั้นหมายถึง การที่เรามีรายได้ไม่พอเพียงต่อค่าใช้จ่าย จนสุดท้ายต้องหาทางกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่ายไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เลยตกอยู่ในวังวนแห่งหนี้ ในขณะที่คำว่า “เพราะว่าเป็นหนี้เลยต้องจน” นั้นกลับหมายถึงว่า การมีหนี้ทำให้เรามีภาระที่ต้องจ่ายไปเรื่อยๆ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้

จากบทความของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้ข้อสังเกตเรื่องนี้ในหัวข้อ “คนเป็นหนี้คือคนจน” ไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้ครับ

เมื่อเปรียบเทียบ ‘โอกาสเป็นหนี้’ ระหว่างคนจนกับคนไม่จน พบว่า “คนไม่จน” มีโอกาสเป็นหนี้มากกว่า “คนจน”

แล้ว “คนที่มีปัญหาหนี้สินจริงๆ คือ คนแบบไหน” ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะได้คำตอบในใจแล้วว่า ไม่ใช่คนจน คนไม่จน คนรวย แต่คือ “คนที่ไม่มีวินัยการเงินที่ดี” ต่างหาก เพราะบางครั้ง การที่เราเป็นหนี้นั้น มันไม่ได้แปลว่าชีวิตของเราจะเลวร้ายหรือผิดพลาด แต่มันอาจจะเป็นหนทางในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในชีวิตต่างหาก

และตัวอย่างที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้ คือ เรื่องของการเป็นหนี้ที่เรียกว่า สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และสมมติเงื่อนไขการสมัครดังนี้…

สัญชาติไทย มีอายุ 21 ปีขึ้นไป (รวมระยะเวลาผ่อนชำระแล้วไม่เกิน 60 ปี)
มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป และมีอายุงานตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป สำหรับพนักงานบริษัท
ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันอย่างน้อย 2 ปี สำหรับเจ้าของกิจการ

โดยผู้ที่กู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคลนี้จะได้รับ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน โดยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมใดๆ เมื่อรวมกันแล้วสูงสุดไม่เกิน 28%

สมมุติว่า นาย A กับ นาย B เป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน และต้องการที่จะกู้ยืมเงินในวงเงินสูงสุด 100,000 บาท เพื่อไปจ่ายชำระหนี้บัตรเครดิตที่ค้างอยู่ โดยกำหนดระยะเวลาชำระที่แตกต่างกัน คือ นาย A เลือกผ่อนในระยะเวลา 30 เดือน ส่วน นาย B เลือกผ่อนในระยะเวลา 60 เดือน

จากการคำนวณพบว่า นาย A จะต้องจ่ายเงินเดือนละ 4,672 บาท แทนการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาทต่อเดือน (จำนวนจ่ายขั้นต่ำของหนี้บัตรเครดิตเดิม) ทำให้ประหยัดไปได้เดือนละ 5,328 บาท ซึ่งนาย A สามารถนำเงินก้อนนี้มาหมุนเวียนใช้จ่ายได้สะดวกสบายกับชีวิตมากขึ้น โดยเงินทั้งหมดที่นาย A จ่ายสำหรับหนี้ก้อนนี้ คือ 140,160 บาท (4,672x30) ซึ่งคิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 40,160 บาทจากเงินกู้ตั้งต้นจำนวน 100,000 บาทครับ

ในขณะที่ นาย B จะจ่ายเงินเดือนละ 3,114 บาท แทน 10,000 บาทต่อเดือน ทำให้ประหยัดไปได้เดือนละ 6,886 บาท (ประหยัดได้มากกว่านาย A) แต่เงินทั้งหมดที่นาย B ต้องจ่ายคือ 186,840 บาท (3,114x60) คิดเป็นดอกเบี้ย 86,840 บาทจากเงินกู้ตั้งต้นจำนวน 100,000 บาทครับ

จากการคำนวณในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เราจะเห็นว่ายิ่งระยะเวลากู้นานเท่าไร เราจะยิ่งประหยัดรายจ่ายต่อเดือนมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็แปลว่าเราจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วยเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างการคำนวณข้างต้นนี้ คือ วิธีการเลือกที่จะบริหารการเงินของนาย A และนาย B เพื่อการจัดการชีวิตที่มีหนี้สินและภาระที่ต้องชำระเดือนละ 10,000 บาท ให้ลดลงเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ถึงแม้ว่าอาจจะต้องเสียดอกเบี้ยในระยะยาวที่มากหน่อยก็ตาม แต่ถ้ามองลึกลงไปถึง “โอกาส” ในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าแบบสั้นๆให้สามารถมีชีวิตผ่านไปได้ครับ เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ใช่ไหมครับ

ดังนั้นในวันที่เรามีปัญหาด้านการเงิน การเลือกที่จะเป็นหนี้อาจจะถือเป็นหนึ่งในทางออกที่จะต่อยอดชีวิตเราต่อไปได้ในอนาคต แม้จะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเป็นหนี้ คือ เราต้องมั่นใจว่า เรามีวินัยในการใช้หนี้ในระยะยาว เพราะมิฉะนั้นดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นพอกพูนยิ่งกว่าเงาตามตัวอย่างแน่นอนครับ

ผมมีความเชื่อนะครับว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเป็นหนี้แบบผิดๆ จะทำให้ชีวิตพังต่างหาก และผมขอเป็นกำลังใจให้คนทุกคนที่เป็นหนี้สามารถผ่านพ้นวิกฤตของชีวิตได้อย่างรวดเร็วที่สุดนะครับ

และสุดท้ายนี้.. ไม่ว่าเราจะจนเพราะเป็นหนี้ หรือเป็นหนี้เพราะจน
ผมอยากฝากย้ำไว้อีกคำหนึ่งว่า “ต่อให้จะเป็นหนี้แค่ไหน อย่าลืมใช้ให้หมด” ด้วยนะครับ