"ขอเป็นการลงทุนที่ไม่เสี่ยง แต่ได้กำไร หรือ ผลตอบแทนเยอะๆ!!"

แทบจะเป็นความคิดฝังหัวของคนส่วนใหญ่ ที่อยากจะลงทุนแต่ไม่อยากแบกรับความเสี่ยง บอกเลย Mindset แบบนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ กลายเป็นเหยื่อชั้นดีของเหล่ามิจฉาชีพ ที่หากินด้วยวิธีดั้งเดิมแบบ "แชร์ลูกโซ่"

➡️ "แชร์ลูกโซ่" คืออะไร?

พูดง่ายๆ คือ กลโกงที่มิจฉาชีพให้หลอกเหยื่อมาร่วมลงทุน ด้วยการขายฝันว่า ถ้านำเงินมาร่วมลงทุนแล้ว จะได้รับกำไรมหาศาล ในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผล ซึ่งตัวสินค้าที่นำมาหลอกก็จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน เงินตรา ข้าวสาร ทัวร์ญี่ปุ่น เครื่องสำอาง Forex-3D หรือเครื่องสำอางต่างๆ

ที่ผ่านมา คนไทยเป็นเหยื่อของ "แชร์ลูกโซ่" ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดนกันมานาน เป็นหลายสิบปี ก็ไม่รู้จักเข็ดหลาบ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยทำวิจัยเรื่องแชร์ลูกโซ่ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. พบว่า "ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ 85% รู้อยู่แล้วว่าเป็นการลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังลงทุน เพราะผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับสูงมาก บางคนคิดง่ายๆ ว่า เข้าเร็ว ออกเร็ว คงไม่เป็นไร ถ้าเข้าไปร่วมวงต้องแต่แรก ก็น่าจะหลบออกมาได้ทัน แต่พอความโลภบังตา สุดท้ายก็ไม่รอด

มีเพียง 15% เท่านั้นที่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าที่ตนเองนำเงินไปลงทุนเป็นการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

รู้ทั้งรู้ว่าเป็น "แชร์ลูกโซ่" แล้วไปยุ่งด้วยทำไม หากใช้เหตุผลทางจิตวิทยามาหาคำตอบ คงหนีไม่พ้น 4 เรื่องนี้

1. ความโลภ

คนที่หลวมตัวเข้าสู่วงโคจรแชร์ลูกโซ่ อาจเป็นเพราะกิเลสมันบังตา เพราะความโลภ มันไม่เข้าใครออกใคร พอเห็นผลตอบแทนเยอะๆ ดอกเบี้ยสูงๆ ซึ่งล่อตาล่อใจ สุดท้ายสติจึงถูกกิเลสครอบงำ สมองสั่งการเร็วกว่าจิตสำนึก กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็กระโจนเข้ากองเพลิงไปแล้ว

2. Halo effect

Halo คือ วงแหวนที่อยู่เหนือศีรษะของนักบุญ หรือ เทวดา

ดังนั้น Halo Effect จึงเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาสื่อถึงอคติทางความคิดของคนเรา พอเห็นอะไรที่ดูดี ก็มักจะคิดว่าเป็นของดี หรือ สิ่งที่ดีไปด้วย

จึงไม่แปลก ที่เวลามีดารา หรือ คนมีชื่อเสียง มาอวดอ้างว่าทำธุรกิจแบบนั้นแบบนี้ สามารถสร้างรายได้แบบกอบเป็นกำ สามารถปลดหนี้ เป็นเจ้าของเงินล้าน หลายคนจึงหลงเชื่อ พอเขามาชักชวนให้ลงทุน Halo Effect ก็ทำงาน คิดว่า ถ้านำเงินไปร่วมลงทุนกับเขา

ก็จะได้ผลตอบแทนสูงๆ แบบเขา ขาดการใช้สติ หรือ การพิจารณาถึงความเหมาะสม สุดท้ายกลายเป็นเหยื่อ สูญเงินเป็นจำนวนมาก

3. Availability Bias

เป็นอคติทางความคิดอีกรูปแบบ เกิดจากการที่คนเรามักเชื่อถือข้อมูลที่เรารู้สึกคุ้นเคยหรือเพิ่งประสบพบเจอมา จนอาจถูกชักจูงได้ง่าย ซึ่งในกรณีของแชร์ลูกโซ่นั้น ในการลงทุนครั้งแรก ผู้ลงทุนมักจะชั่งใจและทำการบ้านอย่างหนัก ก่อนตัดสินใจควักเงินจากกระเป๋าออกไปลงทุน แต่พอมิจฉาชีพแกล้งมอบผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าคาดหวังมาให้ คราวนี้ คือ แทนที่ผู้ลงทุนจะคิด ไตร่ตรองให้รอบคอบมากขึ้น หรือใช้ตรรกะการลงทุนแบบเดิม กลับทำแค่เปรียบเทียบเอาง่ายๆ ว่า ครั้งที่แล้วก็สำเร็จได้ คราวนี้ก็คงคงมีโอกาสสำเร็จได้เช่นกัน แต่แล้วก็เสียเงินลงทุนไปฟรี

4. Framing Bias

Framing แปลว่า การตีกรอบ Framing Bias จึงหมายถึง อคติทางความคิดที่เกิดจากการถูกตีกรอบ อาจเกิดจากการได้รับข้อมูลน้อย ไม่มีตัวเลือกอื่น ส่วนใหญ่ มักสื่อสารในด้านบวก พูดถึงแต่ข้อดี หลีกเลี่ยงข้อเสีย ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้พิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน

ตรวจสอบให้ดี ก็จะพบว่า Framing Bias มักเกิดขึ้น ตอนเริ่ม "วงแชร์" แน่นอนว่า คนที่เข้ามาสู่ธุรกิจก่อนได้มักผลกำไรงดงาม มิจฉาชีพ จึงมักจะยกเรื่องนี้ รวมไปถึง ผลกำไร หรือ สารพัดโอกาส มาดึงดูดเหยื่อ เช่น การันตีผลตอบแทน เช่น 20 - 30% ต่องวด ได้เงินปันผลจากสูง ยิ่งหาลูกข่าย หรือ ดาวน์ไลน์ได้ก็จะยิ่งได้เงินเพิ่ม โดยไม่ยอมพูดถึงโอกาสขาดทุน หรือ ความไม่สมเหตุสมผลที่มีอยู่

➡️ ทำยังไงล่ะถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ?

ก่อนอื่นต้องท่องให้ขึ้นใจเลยนะว่า โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ!! ปกติแล้วถ้าทำอะไรแล้วได้ผลดี เรื่องนั้นก็มักจะถูกเก็บไว้เป็นความลับโดยเฉพาะในแง่ของการทำมาหากิน การซื้อขาย รวมไปถึงการทำธุรกิจด้วย ดังนั้น พอได้ข้อมูลอะไรมา ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อถือ หรือ นำเงินออกจากกระเป๋าเพื่อนำไปลงทุน ต้องคิดแล้วคิดอีก คิดให้รอบคอบ ศึกษาข้อมูลให้ดี ชั่งน้ำหนักถึงข้อดีข้อเสีย ถ้าดูทรงเห็นท่าไม่ค่อยดี ก็ไม่ควรแม้แต่ละลอง ที่สำคัญอย่าโลภ เพราะจุดจบคงไม่สวยงามอย่างที่หวัง

แต่หากตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่แล้ว อย่าเพิ่งตกใจ ขอให้ตั้งสติให้ดี จากนั้นให้รวบรวมพยานหลักฐาน นำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ทั่วประเทศ หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 หรือ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ โทร.1359