คนไทยจำนวน 86.68% มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท เฉลี่ยเงินออมต่อหัวเพียง 4,754 บาทเท่านั้น

หากมองย้อนไปช่วงก่อนโควิดระบาด ในปี 2562 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ระบุผลสำรวจจากคนไทยผู้ประกอบอาชีพ จำนวน 35 ล้านคน พบว่า ราว 80% มีเงินออมสำรองฉุกเฉินไม่พอใช้สำหรับ 6 เดือน โดยเกือบครึ่งหนึ่งเลือกที่จะ “ใช้เงินก่อน แล้วค่อยออม” ส่วนอีก 13% คิดว่า “ยังไม่ต้องออมก็ได้”

นอกจากนี้ ก็ยังชี้ชัดเจนว่า ปัญหาการออมเงิน “ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับรายได้” เพราะ 70% ของคนที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ก็มีปัญหาเงินออมไม่พอเช่นกัน

ซึ่งนักวางแผนการเงิน มักจะบอกเสมอว่า เราควรออมอย่างน้อย 10% ของรายได้ หรือถ้าใครมีรายได้มาก และไม่มีภาระ ก็ควรออม 30-40% ขึ้นไป

คำถามคือ แล้วในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ คนที่รายได้น้อยควรทำอย่างไร?

ถ้าเปรียบการออมเงิน เป็นการออกกำลังกาย พอเข้าช่วงปีใหม่ทีไร หลายคนก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “ปีนี้ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโล!” คนที่ทำได้ก็อาจจะทรมานตัวเองอย่างหนัก ออกกำลังกายแบบหักโหม หักดิบงดข้าวเย็น แต่ aomMONEY เชื่อว่า ส่วนใหญ่พอเอาเข้าจริงก็ทำงานยุ่ง จนไม่มีเวลาเสียมากกว่า

ดังนั้นการออกกำลังกายแม้เพียง 10 นาที ให้ร่างกายได้ขยับเคลื่อนไหวบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

การออมเงินก็เช่นกันครับ หากตอนนี้เรามีภาระเยอะ ค่าใช้จ่ายตึงมือ แต่ก็ยังมีเป้าหมายใหญ่ในชีวิต ที่อยากจะมีเงินใช้ตอนแก่ ดังนั้นการออมแม้เพียง 1% ของเงินเดือน อาจฟังดูน้อยนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ออมเลย

ตัวอย่างเช่น เราเป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท

การออม 1% ก็เพียงแค่หักออกมา 300 บาทเท่านั้น

พอสิ้นปีเราก็จะมีเงินออม 3,600 บาท สามารถนำไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนให้เงินงอกเงย สร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งเดี๋ยวนี้การซื้อกองทุนส่วนใหญ่ ก็เริ่มต้นแค่เพียง 500 บาทเท่านั้น

สรุปแล้วก็คือ แม้ในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง แผนการออมเงินเพื่อเกษียณ เก็บไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิต ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อยากให้คนไทยละทิ้งไป ดังนั้นหากออมได้เพียงสัก 1% ของเงินเดือนก็ยังดี แล้วเมื่อเราเริ่มมีรายได้มากขึ้น ก็ค่อยขยับขยายแผนการออมต่อไปครับ