“เรื่องเงิน” เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเสมอในความสัมพันธ์ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าประเด็นที่ทำให้คู่รักเถียงกันมากที่สุดอย่างหนึ่งคือเรื่องเงินนี่แหละ ประมาณ 19% บอกว่ารู้สึกกังวลกับเรื่องนี้ในความสัมพันธ์ ส่วนอีก 13% บอกว่ามันคือประเด็นที่ทำให้ทะเลาะกันเป็นประจำเลยทีเดียว

เรื่องหนึ่งที่ทำให้คู่รักทะเลาะกันบ่อย ๆ คือความไว้เนื้อเชื่อใจกันในเรื่องการเงิน เริ่มต้นทั้งคู่ก็เปิดใจ “สัญญา” ว่าจะดูแลเรื่องการเงินด้วยกัน ตั้งเป้าหมาย จะประหยัด เก็บเงินเพื่ออนาคต ฯลฯ ทุกอย่างก็ดูดีไปได้สักพัก

ไม่นานนักก็จะมีสักคนที่เถลไถลออกนอกลู่นอกทาง ใช้เงินเกินตัว เป็นหนี้ ติดเงินตรงนั้นตรงนี้ กลายเป็นประเด็นขึ้นมา คุณก็ไม่มีความสุข คู่รักของคุณก็ไม่มีความสุข ครอบครัวเริ่มระหองระแหง ทะเลาะกันเป็นประจำ ความแตกร้าวที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ถ้าไม่รีบแก้ไขทุกอย่างจะยิ่งบานปลายต่อไปเรื่อย ๆ

ความเชื่อใจในความสัมพันธ์ที่แตกร้าวไปแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะรักษาให้มันกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะเรื่องเงินทองแต่มันก็พอจะมีทางทำได้อยู่

เราต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องเงินสำหรับแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการหาเงิน ใช้เงิน เก็บเงิน หรือบริจาคเงิน นั้นมีรากมาจากระบบค่านิยมเกี่ยวกับเงินของบุคคลนั้น ๆ ว่าเขา/เธอให้คุณค่ากับอะไร สิ่งที่ทำให้คนสองคนทะเลาะกันเรื่องเงินก็เพราะว่าค่านิยมเรื่องเงินของทั้งคู่นั้นไม่ตรงกันนั่นเอง เมื่อค่านิยมนี้ไปในทางเดียวกันทุกอย่างก็โอเค แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็มีโอกาสที่จะทะเลาะกันอยู่บ่อย ๆ

เอาตัวอย่างง่าย ๆ ก็ได้ครับ เช่นว่าค่านิยมเกี่ยวกับเงินของเราคือการออมเงินเพื่อครอบครัว เพื่ออนาคต เป็นการกระทำที่มาจากความรัก เราแคร์ความสัมพันธ์นี้อยากให้มันอยู่มั่นคงยาวนาน แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับจ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ใช้เงินเหมือนมันงอกออกมาจากต้นไม้หลังบ้าน พฤติกรรมนั้นไม่เพียงแต่จะสร้างความแตกร้าวให้กับความสัมพันธ์เท่านั้น แต่คุณจะรู้สึกเจ็บข้างในใจลึก ๆ ด้วย

“คุณซื้อเครื่อง Playstation 5 มาทั้ง ๆ ที่เรากำลังต้องเก็บเงินเป็นค่าเทอมลูกเนี้ยนะ! คุณทำเรื่องงี่เง่าแบบนี้ได้ยังไงกัน! เจ้าเครื่องชิบXXXมันจะทำให้ลูกฉลาดขึ้นรึไง!!!!”

โอ้ววว...เราเคยเห็นหนังเรื่องนี้ฉายมาแล้ว อาจจะเป็นเวอร์ชันที่ต่างกันออกไป แต่ประเด็นคือความเห็นที่ไม่ตรงกันในการใช้เงินนั่นแหละครับ

แน่นอนว่า ‘ความใหญ่’ ของประเด็นเรื่องความไม่ซื่อสัตย์เรื่องการเงินนั้นต้องยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรักษาได้ด้วย ไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายไปใช้เงินซื้อกิน มีบ้านเล็กบ้านน้อย หรือ พาใครไม่รู้ไปดินเนอร์ใต้แสงเทียน อันนี้บ้านแตกครับ อาจจะไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกเลย

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องการใช้จ่ายเกินตัว เก็บเงินไม่ได้ นิสัยที่ไม่ดี วางแผนไม่เป็น หรือไม่สามารถจัดเรียงความสำคัญของการใช้เงินในชีวิตได้ อันนี้ยังพอจะมีทางแก้อยู่

1. เริ่มจากการคุยกันอย่างเปิดอกว่าเกิดอะไรขึ้นและมันกระทบกับคุณอย่างไร

ต้องเข้าใจก่อนว่าในความสัมพันธ์ในพื้นฐานของมันคือความรักที่คนสองคนมีต่อกัน ตั้งวางตรงนี้ไว้ก่อน เหตุผลในการคุยกันครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อขุดคุ้ยหรือหาคนผิด แต่เป็นการคุยกันเพื่อให้ความสัมพันธ์นี้ไปต่อได้

ต่อจากนั้นก็เริ่มต้นคุย ดึงอารมณ์ออกไปให้หมด อย่าตะโกนเสียงดัง คุยบอกให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าคุณรู้สึกยังไง ถ้าคุณเป็นฝ่ายผิดก็ต้องขอโทษอย่างจริงใจ เราอยากทำให้ดีขึ้น เราจะทำยังไงต่อไปกันได้บ้าง (แต่ถ้าบทสนทนาไม่กระเตื้องอาจจะต้องพบนักจิตวิทยาสำหรับคู่สมรสนะครับ)

การพูดกันเป็นก้าวแรก ถ้าไม่มีก้าวนี้จะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่การให้คุณค่ากับเงินที่ทั้งสองฝ่ายต้องมาเจอกันตรงกลางก่อน ใช้ความซื่อสัตย์และจริงใจ

2. ร่วมกันแก้ไขปัญหา การจัดสรรเงิน และวางแผนสำหรับอนาคตร่วมกัน

ถ้ามีหนี้ก็วางแผนการจัดการเงิน หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้นอกระบบ ก็คุยกันว่ามีอะไรบ้าง เงินที่จะเก็บไว้ตอนแก่เฒ่าหรือค่าเทอมลูกจะเก็บเดือนเท่าไหร่ มีเงินเข้าออกตรงไหนบ้าง สร้างบัญชีรายรับรายจ่าย กระแสเงินสดที่เข้ามาแล้วออกไปแต่ละเดือน วางแผนไว้ล่วงหน้าเลยสัก 6 เดือน หรือ 1 ปี ให้เห็นภาพที่ไกลขึ้น

เขียนไปเลยว่าค่าเช่าบ้านมีอะไร ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่านมลูก อันไหนที่ไม่จำเป็นอย่างค่าสตรีมมิ่ง 4-5 เจ้าลดลงได้ไหม ค่าเน็ตไปเปลี่ยนแพ็กเกจให้ถูกลงไหม ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง มีวิธีไหนบ้างที่จะประหยัดได้

วางแผนเก็บเงินเผื่อฉุกเฉิน ไว้สัก 6 เดือนหรือ 1 ปี เผื่อใครสักคนตกงาน ก็ยังจะไม่เดือดร้อนมาก แล้วก็ตั้งเป้าเก็บเงินเพื่อลงทุนสำหรับอนาคตด้วย หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการลงทุน หาหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเงินมาอ่าน

ระหว่างทางถ้าเกิดปัญหาอะไรก็รีบบอกกันจะได้ช่วยกันแก้ไข และแน่นอนต้องติดตามไปด้วยกัน อย่าปิดบังสิ่งที่เกิดขึ้น ในงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘Pooling Finances and Relationship Satisfaction’ (ความพึงพอใจในความสัมพันธ์และการรวมเงินเอาไว้ด้วยกัน) พบว่าการตัดสินใจเอาเงินมารวมกันหรือไม่ของคู่รักนั้นอาจจะเป็นตัวกำหนดได้เลยว่าความสัมพันธ์นั้นจะยืนยาวตลอดรอดฝั่งหรือไม่เลยทีเดียว

ทำให้เป็นประจำ อย่าโยนความผิดใส่กัน และสื่อสารให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเงิน ทำอาทิตย์ละครั้งก็ได้ ตรวจดูเงินในแต่ละบัญชีมีเท่าไหร่ ตรงไหนขาดเหลือต่าง ๆ นานา และที่สำคัญให้กำลังใจซึ่งกันและกันอยู่เสมอด้วยครับ

รอยแตกร้าวในความสัมพันธ์ที่มันไม่ได้รุนแรงมาก ก็ยังมีโอกาสกลับมาสมานได้อยู่ ยังมีโอกาส อย่าลืมว่าความสัมพันธ์นี้เริ่มต้นด้วยความรัก เพราะฉะนั้นคุยกันให้เคลียร์ วางแผนกันให้ดี บางทีเครื่อง Playstation 5 อาจจะมาอยู่ที่บ้านเป็นของขวัญวันวาเลนไทน์ก็ได้นะ