การบริจาคเงินเพื่อการกุศลและการช่วยสังคมจากอภิมหาเศรษฐีช่วยแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมได้จริงหรือ?

“ไม่เท่าไหร่” นั่นคือคำตอบถ้าอ้างอิงจากการศึกษาชิ้นใหม่ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย บาธ (University of Bath) ที่อังกฤษพบว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริจาคทั้งหมดนี้คือ "ผู้ใจบุญ" เหล่านั้นเองมากกว่า การทำบุญโดยกลุ่มคนที่ร่ำรวยนั้นยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้ยืดยาวออกไปมากกว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยซ้ำ

ยิ่งกว่านั้น การศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่าการกระทำเพื่อการกุศลมักจะทำให้คนรวยมีอำนาจและมีอิทธิพลเหนือการเมืองและสังคมโดยรวมมากขึ้น

ทีมนักวิจัยร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จาก Newcastle University Business School ในระหว่างโครงการนี้ สรุปออกมาว่าการทำการกุศลโดยมหาเศรษฐีนั้นไม่สามารถช่วยเหลือประเทศยากจนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

“นี่เป็นเรื่องยากในการทำใจยอมรับ เราอาจจะบอกว่าการทำบุญใด ๆ ก็ตามล้วนเป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้นและมันก็เป็นแบบนั้นแหละหากมันเป็นการทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่เราค้นพบก็คือการบริจาคเพื่อทำบุญของคนร่ำรวยนั้นอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันยังคงอยู่ต่อไปด้วยการสนับสนุนแนวคิดของกลุ่มชนชั้นนำ เพิ่มอิทธิพลและอำนาจของอภิมหาเศรษฐี และทำให้คนทั่วไปชินชากับความไม่เท่าเทียมในสังคม” ศาสตราจารย์ไมรี แมคคลีน (Mairi Maclean) จากมหาวิทยาลัยบาธกล่าวในเอกสารที่เผยแพร่ของมหาวิทยาลัย

บริจาคเพียงเพื่อการยอมรับ?

นักวิจัยกล่าวว่าในหลายกรณี ความใจบุญสุนทานของกลุ่มคนที่ร่ำรวยนั้นสุดท้ายลงเอยโดยการเป็นประโยชน์แก่คนรวย ๆ มากกว่าใครเพื่อนเลย เมื่อคนกลุ่มนี้บริจาคเงินจำนวนมาก สาธารณชนก็มักจะยกย่องสรรเสิรญเชิดชู และสื่อก็พูดถึง ทำข่าวมากมาย ประเด็นก็คือว่าเศรษฐีใจบุญผู้ร่ำรวยส่วนใหญ่จะบริจาคเพื่อองค์กรการกุศลและสถาบันที่มีชื่อเสียง ซึ่งนักวิจัยพบว่าองค์กรเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อาจมีบทบาททำให้ความไม่เท่าเทียมกันที่เลวร้ายลงไปอีกด้วยซ้ำ

การเลือกที่จะโฟกัสที่องค์กรเหล่านี้จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นแต่กลับไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย นักวิจัยบอกว่ามีคนที่ร่ำรวยจำนวนน้อยนิดเท่านั้น (ไม่ใช่ไม่มี) ที่บริจาคเงินส่วนใหญ่ของตัวเองให้กับองค์กรการกุศล แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้เป็นแบบนั้น แมคคลีนบอกว่า

“ความจริงก็คือว่าคนร่ำรวยมหาศาลส่วนใหญ่มอบเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินของพวกเขาที่มีอยู่”

ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ ฮาร์วีย์ ผู้ร่วมวิจัยจาก Newcastle University Business School กล่าวเสริมว่า

“เงินส่วนใหญ่ก็อยู่กับตัวเองในประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นแหละ มูลนิธิ Bill and Melinda Gates เป็นหนึ่งในมูลนิธิเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดรับการพัฒนาในประเทศอื่น ๆ แต่ถึงแม้ในกรณีนี้ก็ตาม เงินส่วนใหญ่ที่ใช้ในงานวิจัยและพัฒนาก็เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น”

บริจาคเพื่อซื้อชื่อเสียง

เมื่อคนที่ร่ำรวยบริจาค ส่ิงที่นักวิจัยพบก็คือว่าพวกเขามักจะมีนัยสำคัญแฝงอยู่ในนั้นด้วยเสมอ อารมณ์ประมาณว่า “เราช่วยนาย นายช่วยเรานะ” มักจะใช้การบริจาคเพื่อการกุศลเพื่อวาระส่วนตัวและการเมือง ในบางกรณีสามารถสร้างเครือข่ายอิทธิพลต่อภาคส่วนของรัฐหรือสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงได้ด้วย

“มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ฮาร์วาร์ดและเยลในสหรัฐอเมริกา และอ็อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักรต่างพร้อมรับเงินเพื่อการกุศลก้อนโตอย่างไม่ลังเล ซึ่งทำให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และคงความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมต่อไป” แมคคลีนกล่าว

ในสหราชอาณาจักร คนที่ร่ำรวยบางคนบริจาคเงินจำนวนมหาศาลเพียงเพื่อจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็นอัศวิน และที่สำคัญคือคนที่ร่ำรวยเหล่านี้ยังได้รับประโยคจากเรื่องภาษีจากเงินที่บริจาคอีกด้วย

“ทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ผู้ใจบุญเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มขึ้นโดยสามารถใช้เงินบริจาคไปหักล้างกับภาษีที่ต้องจ่ายด้วย โดยผิวเผินแล้วดูเหมือนเป็นการส่งเสริมให้คนบริจาคเพิ่มขึ้น แต่มันก็หมายความว่าเงินเหล่านั้นสามารถถูกบริจาคไปยังสิ่งที่พวกเขามีความสนใจหรือต้องการมีอิทธิพลหรือเพื่อชื่อเสียงได้ด้วย พูดอีกอย่างคือพวกเขาตัดสินใจว่าควรใช้ภาษีของตนแบบไหนและตรงไหน แทนที่จะเป็นรัฐบาลนั่นเอง” ฮาร์วีย์รายงาน

แมคคลีนสรุปตอนท้ายว่า “มันง่ายที่จะตั้งคำถามกับเรื่องนี้ เรายอมรับว่าโลกนี้มีผู้ใจบุญจำนวนมากที่ทำเพื่อพัฒนาชีวิตของผู้อื่นอย่างจริงใจ แต่เพียงอยากจะชี้ให้เห็นว่าความใจบุญนั้นไม่ใช่เหตุผลเพียงอย่างเดียวที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของพวกเขา มีแนวโน้มมากที่การบริจาคเพื่อการกุศลของของคนที่ร่ำรวยนั้นจะให้ผลตอบแทนมากกว่าความพึงพอใจทางความรู้สึกของการทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวมและการวิจัยของเราก็แสดงให้หลักฐานในเรื่องนี้เช่นกัน”