เมื่ออายุเริ่มเข้าเลข 5 (50+) เงินที่เก็บเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณควรจะพร้อมเรียบร้อย พูดง่ายๆ ถ้าเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ พอถึงอายุช่วงนี้ ก็สามารถมั่นใจได้ว่าจะมีเงินใช้เพียงพอจนถึงบั้นปลายชีวิต

อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่น้อยคนที่จะมีเงินเกษียณเป็นไปตามเป้าหมาย ซ้ำร้ายหลายคนยังเพิกเฉยเรื่องการเก็บเงินเพื่อเกษียณ แล้วแบบนี้ถ้าตระหนักได้แล้วต้องปัดฝุ่นและทบทวนอย่างรีบด่วนและรัดกุมว่าจะทำอย่างไร เพื่ออย่างน้อยๆ จะได้มีเงินเก็บ (สัก) ก้อนหนึ่ง เพื่อเอาไว้ใช้หลังเกษียณ  

แม้ว่าวัย 50+ ปี การเก็บเงินให้ได้มากๆ เหมือนผู้ที่เตรียมตัวกันมาตั้งแต่เนิ่นๆ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ไม่สายและมีโอกาสทำให้การเกษียณอายุมีความสะดวกสบาย (พูดง่าย ๆ เริ่มเก็บเงินตอนนี้ ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย) สำหรับเทคนิคการเก็บเงินฉบับเร่งรัดมี ดังนี้

1. สำรวจค่าใช้จ่าย

หลายคนอาจคิดว่าหากกำลังเริ่มต้นเก็บเงินเพื่อเกษียณตอนอายุ 50+ ปี อันดับแรกที่ต้องลงมือทำ คือ การเก็บเงิน แต่ความจริงแล้วควรสำรวจค่าใช้จ่ายของตัวเองก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายที่แท้จริง เริ่มต้นด้วยการจดบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละวันว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าค่าใช้จ่ายไหนที่จำเป็น และไม่จำเป็น จากนั้นก็ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด แล้วนำไปเก็บออมแทน

2. สำรวจหนี้สิน

โดยปกติแล้ว จำนวนมีหนี้สินมักจะลดน้อยถอยลงตามอายุที่มากขึ้น เช่น หากผ่อนบ้านตั้งแต่อายุ 30 ปี ก็จะปลดหนี้ได้ก่อนอายุ 50 ปี หรือไม่มีภาระต้องจ่ายค่าการศึกษาลูกอีกต่อไป (ลูกเรียบจบหมดแล้ว) อย่างไรก็ตาม หากคนวัย 50+ ปียังมีหนี้สินก็ต้องทำรายการหนี้สิน พร้อมวางแผนเคลียร์หนี้ให้หมดภายในระยะเวลารวดเร็ว โดยเฉพาะหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสูงๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย จากนั้นก็นำไปเก็บออมแทน

3. หารายได้เสริม

ด้วยวัย 50+ ปีที่ผ่านประสบการณ์จากการทำงานและเรียนรู้มายาวนาน ทำให้มีความถนัดเชี่ยวชาญ เช่น เก่งทำอาหาร ขนมหวาน ภาษาต่างประเทศ เล่นกีต้าร์ เขียนบทความ เป็นต้น ดังนั้น สามารถใช้ความถนัดดังกล่าวไปหารายได้เสริม จากนั้นก็นำรายได้ดังกล่าวไปเก็บออมและลงทุน

4. เก็บออม ลงทุนในมากขึ้น

ปัจจัยในการสร้างผลตอบแทนให้สูง คือ จำนวนเงินต้น x ระยะเวลา x อัตราผลตอบแทน หมายความว่า เมื่อเริ่มช้าก็ต้องเพิ่มจำนวนให้เงินต้นให้สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้เร็วยิ่งขึ้น

เช่น อายุ 55 ปี มีเป้าหมายเกษียณ 60 ปี (มีเวลาลงทุน 72 เดือน) สมมติว่าแบ่งเงินไปลงทุนเดือนละ 20,000 บาท ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% เมื่อถึงวันเกษียณจะมีเงิน 1,675,285 บาท แต่หากได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นปีละ 6% จะมีเงิน 1,728,177 บาท 

หากเพิ่มเงินลงทุนเป็น 25,000 บาทต่อเดือน ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% เมื่อถึงวันเกษียณจะมีเงิน 2,094,106 บาท และหากได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นปีละ 6% จะมีเงิน 2,160,221 บาท  

5. ยืดอายุเกษียณออกไป

อายุ 50+ ปีและเพิ่งเริ่มต้นเก็บเงินเพื่อเกษียณ ควรถามตัวเองว่าจะเกียณอายุเมื่อไหร่ สมมติว่ามีเป้าหมายหยุดทำงานอายุ 60 ปี ก็ตั้งคำถามต่อไปว่าสามารถเก็บเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณหรือไม่ ถ้ามั่นใจว่าทำได้ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าตอบว่าไม่ได้ ก็ควรหาทางออก ซึ่งวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ยืดอายุเกษียณออกไป เช่น เกษียณอายุ 65 ปี หรือ 70 ปี เพื่อทำให้มีรายได้ประจำต่อไป ที่สำคัญมีระยะเวลาเก็บเงินได้ยาวนานขึ้น

จากตัวอย่างข้อ 4 สมมติว่ายืดอายุเกษียณอายุไป 65 ปี หมายความว่าจะมีเวลาในการเก็บออม ลงทุน 11 ปี (132 เดือน) สมมติว่าแบ่งเงินไปลงทุนเดือนละ 20,000 บาท ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% เมื่อถึงวันเกษียณจะมีเงิน 3,510,113 บาท แต่หากได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นปีละ 6% จะมีเงิน 3,726, 453 บาท

หากเพิ่มเงินลงทุนเป็น 25,000 บาทต่อเดือน ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% เมื่อถึงวันเกษียณจะมีเงิน 4,387,642 บาท และหากได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นปีละ 6% จะมีเงิน 4,658,066 บาท

ดังนั้น แม้ว่าตอนนี้อายุปาเข้าไป 55 ปี และเพิ่งเริ่มต้นเก็บออม ลงทุน ไม่มีคำว่าสายเกิน ขอเพียงอย่าหมดกำลังใจ ให้เริ่มลงมือทำและมีวินัย รับรองก่อนถึงวันเกษียณอายุจะมีเงินใช้เพียงพอเมื่อถึงวันเกษียณแน่นอน