เวลาเรานั่งฟัง​ (หรืออ่าน) การวิเคราะห์งบการเงิน สัดส่วนตัวเลขทางธุรกิจที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ คือ “ROE”, “ROA” และ “ROI” ซึ่งบางครั้งหากเรายังไม่ได้เชี่ยวชาญก็จะเริ่มงงๆ ว่าแต่ละตัวมันหมายถึงอะไร? และตัวไหนสำคัญกว่ากันนะ?

ที่จริงแล้วทั้งสามตัวถือเป็นตัวเลขทางการเงินที่สำคัญหมด แต่มองคนละวัตถุประสงค์ สำคัญกันคนละแบบ

เราลองมาเจาะทีละตัวกัน

1. ROA คือ Return On Assets (หาได้จาก EBIT/สินทรัพย์รวม : EBIT = Earnings Before Interest and Taxes หรือกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี)

สะท้อนว่า..กิจการบริหารสินทรัพย์ให้เกิดกำไร หรือผลตอบแทนได้ดีแค่ไหน

ดังนั้น ตัวนี้หลักๆ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อดูประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ของกิจการ

ROA ที่สูง ควรมากกว่า 7% แต่ไม่เสมอไป ต้องดูธรรมชาติของธุรกิจด้วย

เพราะธรรมชาติของธุรกิจที่ต่างกันทำให้มี ROA ต่างกัน

ธุรกิจไหนที่มีสินทรัพย์หลักมาจาก สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนเยอะ เช่น ค่าความนิยม ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ หรือสินทรัพย์ที่แปลงเป็นรายได้ได้ช้า จะมี ROA น้อยกว่าธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 6%
ธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ ที่มักมีสินทรัพย์หลักจาก ค่าความนิยม และที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และจะมี ROA ประมาณ 3-5%

2. ROE คือ Return On Equity (หาได้จาก กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้น)

สะท้อนว่า..กิจการนำเงินทุนของผู้ถือหุ้นมาบริหารให้เกิดกำไรได้แค่ไหน..

ดังนั้น ตัวนี้จะเกี่ยวข้องกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นได้รับโดยตรง นักลงทุนส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับอัตราส่วนนี้เป็นระดับแรกๆ

ROE ที่สูง ควรมากกว่า 15% แต่ก็ไม่เสมอไป ต้องดูลักษณะธุรกิจและเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย

สิ่งที่ต้องระวัง คือ ROE ที่สูง อาจไม่ดี ถ้ามาจาก
1.กำไรที่เกิดขึ้นชั่วคราว
2.หนี้สินที่สูง (ก่อหนี้เยอะ ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อย)

3. ROI คือ Return On Investment (หาได้จาก EBIT/หนี้สินระยะยาว + เงินทุนส่วนของเจ้าของ)

สะท้อนว่ากิจการนำเงินลงทุนระยะยาวไปลงทุนแล้วสร้างผลตอบแทนได้ดีแค่ไหน หรือ ใช้เงินทุนได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน

โดยปกติส่วนนี้จะนิยมเทียบกับต้นทุนทางการเงิน หรือ WACC

ธุรกิจที่นำเงินไปลงทุนได้คุ้มค่า ควรมีค่า ROI มากกว่า WACC

สรุปคือ

ROA - บริษัทบริหารสินทรัพย์ให้เกิดผลตอบแทนได้เก่งแค่ไหน
ROE - บริษัทนำเงินผู้ถือหุ้นไปก่อให้เกิดผลตอบแทนได้ดีแค่ไหน
ROI - บริษัทนำเงินที่ได้จากการระดมทุนและก่อหนี้ไปลงทุนได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน

จะเห็นว่าทั้งสามอัตราส่วนสะท้อนวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน จึงต้องดูควบคู่กันไป นั่นเอง
ทั้ง ROA ROE หรือ ROI เราควรเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต ว่ามีผลตอบแทนที่ดีแบบสม่ำเสมอหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าดีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งดี

นอกจากนี้ ควรเปรียบเทียบกับเพื่อนที่ทำธุรกิจคล้ายกัน เพราะ แต่ละธุรกิจจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน
โดยดูว่าบริษัทที่เราสนใจมีความสามารถเหนือคู่แข่งหรือไม่

และทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เราสามารถเลือกหุ้นที่ดีที่สุดได้นั่นเอง

เขียนและเรียบเรียงโดย : พัทธนันท์ เตชะเสน (CISA2, Investment Frappe)