หลังมีกระแสข่าวการจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ ในช่วงต้นปี 2567 ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่านี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกจุดสักเท่าไหร่ จนในที่สุดแนวทางนี้ก็ถูกยกไปเป็น ‘ทางเลือก’ สำหรับผู้ที่สมัครใจเท่านั้น

โดยปกติแล้วเรามักจะคุ้นชินกับการจ่ายเงินเดือนแบบครั้งเดียวต่อเดือน แต่ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วการจ่ายเงินเดือนสองครั้งต่อเดือนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และในต่างประเทศก็มีบริษัทไม่น้อยที่เลือกใช้การจ่ายเงินเดือนรูปแบบนี้ aomMONEY เลยอยากชวนทุกคนมาลองดูกันว่าหากวันหนึ่งเงินเดือนของเราต้องถูกหั่นออกเป็นสองก้อน จะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไรให้ไม่ต้องอยู่ในสภาวะ ‘ใกล้ตาย’ 2 รอบ เพราะไม่มีเงินพอใช้ แถมยังเหลือเงินเก็บออมด้วย มาดูกัน…

จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายดูก่อน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสการเข้าของรายได้ แต่กระแสของรายจ่ายในแต่ละเดือนไม่ได้เปลี่ยนตาม สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ การรวบรวมรายจ่ายทั้งหมดต่อเดือนว่ามีอะไรบ้าง มีกำหนดเดดไลน์วันจ่ายตอนไหน ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดอย่างการ ‘จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย’ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นสภาพการเงินโดยรวมของเราทั้งเดือนโดยไม่สับสน ซึ่งจะง่ายต่อการแจกแจงรายจ่ายต่างๆ ออกมา

แบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 2 ก้อน คือ “ต้นเดือน” และ “ปลายเดือน”

หลังจากที่เรารู้แล้วว่ารายจ่ายของเรามีอะไรบ้าง ต่อไปคือการสำรวจดูว่าแต่ละรายจ่ายมีกำหนดวันจ่ายอยู่ในช่วงไหนของเดือน แล้ว ‘รวมหนี้’ ที่มีวันจ่ายใกล้กันให้เป็นก้อนเดียวกัน โดยอาจทำได้แบบนี้

✔️ ช่วงครึ่งเดือนแรก > เคลียร์ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนต่างๆ
✔️ ช่วงครึ่งเดือนหลัง > เคลียร์ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่เหลืออยู่ และถ้าเงินเหลือสามารถใช้จ่ายอื่นๆ ได้

จะเห็นได้ว่า เมื่อเราแบ่งรายจ่าย หรือหนี้ต่างๆ ออกเป็นสองก้อน คือก้อนต้นเดือน และก้อนปลายเดือนแล้ว จากนั้นให้เราดูต่อว่าทั้งสองก้อนนี้อยู่ในระดับที่รายได้ยังครอบคุลมได้อยู่หรือไม่ และรายจ่ายส่วนไหนที่สามารถขยับย้ายไปมาได้บ้าง เพื่อไม่ให้ช่วงใดช่วงหนึ่งมีความตึงเครียด หรือกระจุกตัวมากเกินไป

ปรับสัดส่วนการออมใหม่

หลังจากที่พูดเรื่องการแบ่งรายจ่ายออกเป็นก้อนให้อยู่ในขอบเขตของรายได้กันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูการปรับสัดส่วนเงินออมใหม่ เพื่อให้เรายังสามารถสร้างรากฐานความมั่นคงทางการเงินได้ด้วย โดยปกติเรามักได้ยินคำแนะนำให้เก็บออม 30% ของรายได้ต่อเดือนกัน แต่เมื่อรายได้ของเราถูกหั่นเป็นสองก้อน การเก็บออม 30% ของรายได้ทันทีตั้งแต่ได้เงินมา อาจกลายเป็นภาระที่หนักเกินไปในช่วงต้นเดือนได้

เราจึงต้องมาดูก่อนว่า ก้อนรายจ่ายของเราครึ่งไหนที่มีสัดส่วนมากกว่า เช่น

หากค่าใช้จ่ายช่วงต้นเดือนเยอะกว่า เราอาจใช้วิธีนี้

✔️ ครึ่งเดือนแรก > เก็บเงินสัดส่วน 10% ของรายได้ต่อเดือน
✔️ ครึ่งเดือนหลัง > เก็บเงินสัดส่วน 20% ของรายได้ต่อเดือน

หรือสุดท้ายแล้วหากเราสามารถจัดการรายจ่ายทั้งสองก้อนให้มีสัดส่วนเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันได้ ก็สามารถเลือกแบ่งเก็บออม 15% ในทั้งสองช่วงเพื่อให้รวมแล้วสามารถเก็บเงินได้ 30% ของรายได้ต่อเดือนก็ไม่ผิดอะไรเช่นกัน

ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า ไม่ว่าเงินเดือนจะจ่ายเป็นกี่ครั้ง เพื่อวินัยทางการเงินที่ดีต้อง “ออมก่อนใช้” เสมอ

แม้การหั่นเงินเดือนออกเป็น 2 ก้อน อาจทำให้เราต้องวุ่นวาย และปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้เงินไปบ้าง แต่จะเห็นได้ว่าหากเรารู้ที่มาที่ไปของเงิน และวางแผนจัดสรรให้เหมาะสม การบริหารสภาพการเงินให้คล่องตัวในสถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย