การที่ต้องพยายามข่มตานอนในขณะที่ในหัวมีแต่ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้สิ่งที่ตามมาคือ การพักผ่อนที่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ยังคงต้องตื่นมาใช้ชีวิตในวันถัดไปเหมือนเดิม

แถมยังมีความตรึงเครียดจากความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางเศษรฐกิจ สังคม การเมือง ประกอบกับการใช้ชีวิตอยู่บนความเร่งรีบในสังคมแห่งการแข่งขัน ยิ่งบีบบังคับให้เราไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่

แล้วใครจะคิดว่าปัญหาการนอนไม่หลับของคน จะเป็นช่องว่าอันหอมหวานที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับการนอน อย่าง “Sleep Economy” ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามองในยุคนี้ และคาดการณ์ว่าในปี 67 ที่จะถึงนี้ มูลค่าของธุรกิจดังกล่าวจะสูงถึง 585,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20 ล้านล้านบาท

Sleep Economy คืออะไร ทำไมถึงน่าจับตามอง

ตลาด “Sleep Economy” หรือ “Sleep-Health Economy” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนอนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ แอปพลิเคชัน เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการทางการแพทย์ หรือกลุ่มเทคโนโลยีที่ช่วยให้การนอนของเรามีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงธุรกิจที่ดูแลด้านสุขภาพและบำบัดอีกด้วย

หากใครยังคิดไม่ออกว่ามีอะไรบ้าง เอาที่เราคุ้นเคยกัน เวลาไปเดินห้างสรรพสินค้าแล้วพบเจออยู่บ่อยๆ อย่าง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริม เครื่องดื่มที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ชุดนอนที่ใส่สบาย ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมที่มีกลิ่น-ส่วนผสมช่วยผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า และสเปรย์ช่วยการนอน

โดยคาดการณ์มูลค่า Sleep Economy ปี 2562 – 2567 เติบโตขึ้นทุกปี เนื่องจากผู้คนเริ่มสนใจสุขภาพการนอนเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเปิดโอกาสให้ธุรกิจพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้ที่กำลังประสบปัญหาการนอนไม่หลับ เพื่อให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรม Sleep Economy คาดว่ามีมูลค่าตลาด 30,000 – 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ตัวอย่าง ในปี 2562 อุตสาหกรรมที่ช่วยเรื่องการนอนไม่หลับในตลาดโลก มีมูลค่า 432,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น

💰 “กลุ่มเครื่องนอน” มูลค่า 194,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนราว 45% ของทั้งหมด
💰 “กลุ่มเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอน” มูลค่า 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนราว 25% ของทั้งหมด
💰 “ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และบริการทางแพทย์” มูลค่า 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนราว 13% ของทั้งหมด
💰 “กลุ่มเทคโนโลยีการนอน บริการ แอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ และอื่นๆ” มูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนราว 10% ของทั้งหมด
💰 “กลุ่มชุดนอน” มูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 7% ของทั้งหมด

เช่นเดียวกับประเทศไทย ถือเป็นตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการ ที่จะสามารถนำสมุนไพรไทยมาใช้ อาทิ ใบบัวบก ขิง มะนาว มะลิ ฟ้าทะลายโจร และมะเฟือง ที่สามารถนำวัตถุดิบจากไทยเราเองมาพัฒนาให้เป็นสินค้าที่สามารถช่วยให้การนอนหลับ นับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองสำหรับเศรษฐกิจไทย

แค่ปัญหาการนอน แต่กลับส่งผลกระทบโดยตรงต่อ GDP ของประเทศ

หากถามใครต่อใคร ก็คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากนอนให้ครบ 7-9 ชั่วโมง จะได้ตื่นมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริง การนอนให้เพียงพอนั้นกลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทั้งๆ ที่เราทราบกันดีว่าการนอนไม่หลับส่งผลมากมาย ไม่ว่าจะ สุขภาพ ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานก็น้อยลงไปด้วย

แถมการนอนไม่หลับไม่ใช่แค่ส่งผลเสียต่อตัวบุคคล แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการนอนไม่หลับ ทำให้เราตื่นมาใช้ชีวิตแบบไม่สดชื่น คิดงานไม่ได้ คิดงานไม่ออก ใช้ชีวิตแบบเฉื่อยชา

ทำให้สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานให้ลดลง นำไปสู่การขาดงาน เนื่องจากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพ ร้ายแรงไปถึงการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ในแต่ละปีองค์กรต่างๆ ต้องสูญเสียวันทำงานไป

นอกจากเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขแล้ว ยังส่งผลถึง GDP ของประเทศเช่นกัน โดยพบว่า กระทบต่อ GDP ประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ในทางตรงกันข้ามประเทศไหนที่ประชาชนนอนหลับอย่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นๆ ได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประชากรไทยเองก็ประสบปัญหาภาวะความเครียดและนอนไม่หลับ อัตรามากถึง 8 ใน 10 คน

รายงานวิจัยจาก Mintel โดยคุณวิลาสินี ศิริบูรณ์พิพัฒนา นักวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์อาวุโส มินเทล รีพอร์ทส์ ประเทศไทย เผยว่า ผู้บริโภคไทยประมาณ 8 ใน 10 คน พบเจอกับปัญหาด้านสุขภาพจิตในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา

โดยอาการ 3 อันดับแรกที่พบเจอมากที่สุดคือ ความเครียด (46%), การนอนไม่หลับ (32%) และ ความวิตกกังวล (28%)

จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทย 30% หรือประมาณ 21 ล้านคน นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

ช่วงแรกปัญหาการนอนไม่หลับของคนไทย มักพบในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ตอนที่เริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มของคนทำงานและกลุ่มวัยรุ่น (18-40 ปี) ที่กำลังประสบปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอ

เหตุผลที่ว่าคนไทยมักสละเวลานอนของตัวเองไปกับการทำงานเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งงานที่เราทำไม่เสร็จระหว่างวัน ก็นำกลับมาทำต่อในช่วงเวลากลางคืน จนทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน

เพราะคิดว่ายิ่งทำงานหนัก ยิ่งทำให้การงานเข้าหน้า ยอมอดหลับอดนอน เพื่อให้งานออกมาสำเร็จตามเป้าหมาย แต่อีกมุมนึง คือจะยิ่งทำให้เรานั่งทำงานด้วยสติที่ไม่ครบ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ร่างการอ่อนเพลีย

จากปัญหาการนอนไม่หลับ สู่ธุรกิจ Sleep Economy ที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าติดตาม เพราะปัญหาเรื่องการนอนยังเป็นอะไรที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนแสวงหาผลิตภัฒน์ที่ทำให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

รวมถึงตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกำลังเติบโต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและผ่อนคลายความเครียด จึงเป็นโอกาสของไทยต่อตลาด Sleep Economy ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทย