ในปี 2016 สตีฟ แอดค็อก (Steve Adcock) ได้เดินทางมาถึงเป้าหมายอิสรภาพทางการเงินที่ตั้งใจเอาไว้ด้วยเงินเก็บราว ๆ 900,000 เหรียญ

เขาตัดสินใจลาออกจากอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์แล้วเกษียณด้วยวัย 35 ปี

หลังจากนั้นไม่กี่ปีความมั่งคั่งของเขาก็ไปแตะ 1,000,000 เหรียญ หรือประมาณ 35 ล้านบาท

ไม่ได้มากแต่ก็เพียงพอให้เขาใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างอิสระตามที่ตัวเองต้องการ

แอดค็อกช่วงวัยเด็กก็ไม่ได้เรียนเก่งกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในชั้น ต้องเรียนหนักกว่าคนอื่นด้วยซ้ำเพราะเขามีภาวะบกพร่องเรื่องการเรียนรู้ ครอบครัวก็ธรรมดาไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่ได้ถูกหวย และที่สำคัญคือเขาก็หาเงินจากการเป็นพนักงานประจำเหมือนกับคนปกติทั่วไปนั่นแหละ

เขาก็บอกว่าภาระความรับผิดชอบและเป้าหมายในชีวิตของทุกคนก็ต่างกันออกไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการมีอิสรภาพทางการเงินในวัยนี้ก็ทำไม่ได้ซะทีเดียว เขาใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์ ลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญเขาบอกว่าถ้าอยากที่จะไปถึงเป้าหมายเกษียณเหมือนกับเขา เราอาจจะต้อง ‘แหกกรอบความเชื่อการเงินทางสังคม 6 ข้อ’ นี้

1. แหกกรอบความเชื่อเรื่อง ‘อย่าเห็นแก่ตัว’

แอดค็อกเรียกความเห็นแก่ตัวในมุมนี้ว่า “ความเห็นแก่ตัวที่ดี” หมายถึงการให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเองทั้งเรื่องสุขภาพกายและจิตใจ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองพร้อมรับมือกับเรื่องต่างๆในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มันหมายถึงการบอกปฏิเสธกับเรื่องที่เรารู้สึกไม่สบายใจ บางครั้งเพื่อนชวนไปดื่มหลังเลิกงาน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองอยากทำหรือบางทีเรามีเป้าหมายทางการเงินที่ใช้ฟุ่มเฟือยไม่ได้ ต้องรู้จักการปฏิเสธให้เป็น

“ผมจะปฏิเสธการชวนไปสังสรรค์หรือบางครั้งก็เดินออกมาจากการประชุมถ้าจำเป็นต้องทำงานของตัวเอง หรือจะไม่รับสายคนอื่นเลยถ้าจังหวะนั้นยังไม่พร้อมที่จะคุย” แอดค็อกกล่าว

เวลาว่างส่วนใหญ่เข้าจะไปออกกำลังกาย เข้ายิมทุกวัน เหมือนเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองแล้วคิดเรื่องในหัว และทุกครั้งหลังจากที่ออกกำลังกายเสร็จก็จะมีแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเสมอ

2. แหกกรอบความเชื่อเรื่อง ‘ตามแพสชันของตัวเอง’

แพสชันเอามาใช้ซื้ออาหารไม่ได้ แต่สิ่งทักษะและงานที่เราทำได้ดีสามารถหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้

แพสชันสำหรับคนส่วนใหญ่อยู่ในสายครีเอทีฟ ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งครับว่ามันหางานหรือหาเงินได้ค่อนข้างยากสักหน่อย แอดค็อกเล่าว่า

“พาสชันของผมคือการถ่ายรูป แต่ผมเลือกสายอาชีพในวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพราะผมทำได้ดี และงานสายเทคโนโลยีมักจะจ่ายเงินมากด้วย”

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทิ้งแพสชันไปหรอกนะครับ

“ผมเก็บแพสชันไว้สำหรับกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์ และผมก็ไม่เคยรู้สึกกดดันที่จะต้องใช้มันเพื่อหาเงินเดือนแบบฟูลไทม์ เพราะแบบนั้นมันเลยยังเป็นแพสชันของผมอยู่”

3. แหกกรอบความเชื่อเรื่อง “อย่าสร้างปัญหา”

เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำงานกับคนอื่นๆ เรามักจะไม่อยากถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา คล้อยตามคนอื่นไปเรื่อยๆ เพราะไม่อยากถูกมองว่าแตกต่างแปลกแยก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป

แอดค็อกบอกว่า “ผมมักแสดงความคิดเห็นเสมอ โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าธุรกิจกำลังไปในทางที่ผิด ชี้ให้เห็นว่าทำตรงไหนทีมถึงจะพัฒนาได้ ทำให้ผมได้ขึ้นเป็นหัวหน้าทีม ถ้านั่งอยู่ในที่ประชุมเฉยๆ ก็คงไม่ได้เลื่อนขั้นในหน้าที่การงานหรือเงินเดือนที่เยอะขึ้นอย่างรวดเร็ว”

การสร้างปัญหาในบริบทนี้ไม่ใช่การไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน นินทา หรือกล่าวร้าย หรือการไม่ฟังคนอื่นๆ ในทีม แต่มันคือความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นเมื่อรู้สึกว่าจะเป็นและไม่กลัวที่จะแตกต่างหากเราไม่เห็นด้วย

4. แหกกรอบความเชื่อเรื่อง “ทำงานยุ่งตลอด 24/7”

การทำงานหนักแล้วเบิร์นเอาต์จะไม่ช่วยทำให้คุณประสบความสำเร็จมากขึ้น การพักผ่อนหรือหยุดไปเที่ยวบ้างเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อการทำให้สมองกลับมาปลอดโปร่งและคิดงานใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

ออกไปอยู่กับธรรมชาติ ดูหนัง ฟังเพลง ผ่อนคลายบ้างถ้าทำงานมาหนักๆ

“เวลาที่เรามอบให้กับตัวเองจะช่วยทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” แอดค็อกกล่าว

เขาเองก็ใช้การดู Netflix เพื่อผ่อนคลายเช่นเดียวกับคนอื่นๆ มันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องกำหนดและควบคุมเวลาของตัวเองให้ได้

5. แหกกรอบความเชื่อเรื่อง “ทำงานตามขอบเขตหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น”

การทำงานตามขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง (Job Description) เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าทำตามแบบเป๊ะๆ ไม่มีการยืดหยุ่นหรือลองทำอะไรนอกเหนือจากขอบเขตงานของตัวเองเลยเราอาจจะเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้งานใหม่ๆ หรือความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานด้วย

“เมื่อสิบปีก่อน ผมมีโอกาสที่จะกระโดดขึ้นไปสองขั้นระดับบริหาร เป็นงานใหญ่เลย ผมไม่ได้รู้สึกพร้อมมากเท่าไหร่ แต่ก็รับทำอยู่ดี ก็เรียนรู้ไปด้วยระหว่างทางนั่นแหละ”

แอดค็อกเล่าต่อว่าการลองทำอะไรใหม่ๆ นอกจากจะสร้างฐานเงินเดือนที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้เขาเองมีความมั่นใจในทักษะของตัวเองด้วย เพิ่มความรับผิดชอบ ได้โตขึ้นในสายงาน เขาแนะนำว่า

“กล้าสักหน่อยและลองทำดู มันอาจจะทำให้คุณได้เงินเดือนเยอะขึ้น โปรโมชัน หรือโอกาสที่จะสร้างรายได้ในอนาคตได้”

6. แหกกรอบความเชื่อเรื่อง ‘อย่าเป็นคนดีถ้าอยากชนะ’

“ความเป็นมิตรเปิดประตูโอกาสมากมาย ความสำเร็จของผมส่วนใหญ่ก็มาจากนิสัยและการวางตัวของผมในออฟฟิศนั่นแหละ ทุกคนจะบอกว่าผมเป็นคนที่ทำงานด้วยง่าย ทำให้ฝ่ายบริหารมีแนวโน้มที่จะขอให้ผมช่วยทำงานในโปรเจกต์ใหญ่ๆ ด้วย”

ความเชื่อที่ว่าถ้าอยากเอาชนะ ต้องเหยียบคนอื่นเพื่อให้ตัวเองขยับขึ้นไปสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นไม่เป็นเรื่องจริง การทำงานเป็นทีมก่อให้เกิดโอกาสมากมายที่ทุกคนจะเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน ถ้ามีโอกาสได้เป็นหัวหน้า อย่านำด้วยความกลัว แต่จงใช้ความเห็นอกเห็นใจกันดีกว่า