ในปี 2016 ด้วยวัย 35 ปี สตีฟ แอดค็อก (Steve Adcock) เดินทางมาถึงเป้าหมายอิสรภาพทางการเงินที่ตั้งใจเอาไว้ด้วยเงินเก็บราว ๆ 35 ล้านบาท เขาไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ทำงานประจำเหมือนกับเราทุกคนนี่แหละ

หลังจากนั้นเขาก็ลาออกจากงานแล้วหันมาใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองใฝ่ฝัน ทำงานที่อยากทำ ออกไปถ่ายรูปบ้าง บางครั้งก็เขียนบทความบนเว็บไซต์ของตัวเองชื่อ “Millionaire Habits” โดยมีเป้าหมายเพื่อมอบความรู้ด้านการเงินให้ผู้อ่านนำไปใช้เป็นเข็มทิศนำไปสู่อิสรภาพทางการเงินและการเกษียณตั้งแต่ยังหนุ่มเหมือนเขาบ้าง

ถึงแม้ว่าตอนนี้แอดค็อกจะมีเงินที่ถือว่าอยู่ได้ไม่ลำบาก แถมยังมีการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงเพื่อรองรับสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เขาก็ยังใช้ชีวิตแบบมัธยัสถ์แบบเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่สำหรับเขาแล้ว คำว่า “มัธยัสถ์” นั้นไม่ได้หมายความว่าต้องใช้เงินให้น้อยที่สุด ประหยัดทุกบาท ขี้เหนียวสุดๆ แต่มันคือการ “ใช้เงินอย่างฉลาด” กับสิ่งที่จะมาเติมคุณค่าให้กับชีวิตของคุณต่างหาก

“นั่นคือความแตกต่างระหว่างมัธยัสถ์กับขี้เหนียวนะ” เขากล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า 3 อย่างที่เขาจะไม่มีทางเสียเงินซื้อมีอะไรบ้าง

1. ลอตเตอรี่และการพนัน

เราเข้าใจได้ว่าการซื้อลอตเตอรี่ต่างๆ สำหรับหลายคนเป็นเหมือนการเสี่ยงโชคเพื่อซื้อความฝันและความหวัง แต่สำหรับแอดค็อกแล้วนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เขาจะไม่เสียเงินซื้อเลย เขาให้เหตุผลว่า

“ผมไม่เคยเล่นลอตเตอรี่เลย และปฏิเสธที่จะซื้อลอตเตอรี่ทุกครั้ง ผมได้ยินเหมือนกับคุณแหละว่า ‘ไม่เล่นก็ไม่ชนะ’ แต่เอาจริงๆ นะ แม้คุณจะเล่น คุณก็ไม่ชนะอยู่ดี”

ถ้าดูตามสถิติแล้วก็ต้องบอกครับว่าสิ่งทีแอดค็อกพูดก็ไม่ได้ผิดนัก

โอกาสที่จะถูกหวยรางวัลที่ 1 ประเทศไทยก็คือ 1 ในล้าน ส่วนรางวัลที่ 2 คือ 5 ในล้าน รางวัลที่ 3 คือ 10 ในล้าน รางวัลที่ 4 คือ 50 ในล้าน ส่วนรางวัลที่ 5 คือ 100 ในล้าน และเลขท้ายสองตัวคือ 10,000 ในล้าน

เรียกว่ารวมๆ กันแล้ว โอกาสถูก “รางวัลใดรางวัลหนึ่ง” ก็อยู่ที่ราวๆ 1.4% และนั่นหมายความว่า 98.6% จะไม่ถูกเลย

และการพนันอื่นๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่แอดค็อกสนใจเช่นกัน “ผมไม่เล่นพนันนะ ไม่เคยเลย มันมีหลายคนที่อาจจะหาเงินได้จากการพนัน แต่ผมจะไม่เสี่ยงแม้แต่สลึงเดียวด้วยซ้ำ” แล้วเงินที่จะไปซื้อลอตเตอรี่ “ผมก็เก็บแล้วเอาไปลงทุนแทนดีกว่า”

2. ขยายระยะเวลารับประกันสินค้า

อีกอย่างหนึ่งแอดค็อกจะไม่ซื้อเลยคือการขยายระยะเวลารับประกันสินค้า (Extended Warranty) ที่มาพร้อมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายในปัจจุบัน โดยเขาให้เหตุผลว่า

“คุณก็คงไม่ได้ใช้มันและมันก็ไปเพิ่มกำไรให้กับร้านค้ามากกว่า”

สำหรับหลายคนอาจจะเห็นต่างออกไปในข้อนี้ เพราะรู้สึกว่าการมีประกันที่ยาวขึ้น จะช่วยทำให้อุ่นใจในการใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นได้มากกว่า แต่แอดค็อกบอกว่าปัญหาของประกันเหล่านี้คือสุดท้ายแล้ว “มันไม่การันตีว่าคุ้มครองทุกอย่าง” มันจะมีข้อแม้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย สุดท้ายแล้วก็ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อจะซ่อมอยู่ดี

“คุณจะใช้เงินในการซื้อประกันมากกว่าที่จะได้รับคืนมานั่นเอง”

สิ่งที่เขาแนะนำคือแทนที่จะซื้อประกันเหล่านี้ ให้เก็บเงินเข้ากระเป๋าฉุกเฉินเผื่อไว้สำหรับการซ่อมแซมที่ไม่คาดคิดในอนาคต

“คุณสามารถเก็บเงินเดือนละนิดและนั่นก็เหมือนการซื้อประกันสินค้าของตัวเองขึ้นมาด้วย”

เมื่อมันเสียขึ้นมาก็เอาเงินที่เก็บนี่แหละไปซ่อม และถ้ามันไม่เสียก็จะได้เอาเงินไปใช้ทำอย่างอื่นแทน

3. สินค้าที่ถูกที่สุด....หรือแพงที่สุด

เมื่อซื้อของอะไรสักอย่าง แอดค็อกจะหลีกเลี่ยงของที่มีราคาถูกที่สุดเอาไว้ก่อน โดยแนวคิดคือ “มันมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าที่ของราคาถูกนั้นจะเสียก่อนที่มีราคาแพง”

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อของที่แพงสุดๆ เช่นกัน “ผมจะซื้ออันที่คิดว่าจะเหมาะกับตัวเองที่สุดและอยู่กับผมได้นานที่สุดด้วย มันอาจจะไม่ได้มีฟีเจอร์หรือความสามารถเหมือนกับรุ่นท็อป ผมจะหาของที่มันอยู่ตรงกลางๆ”

สิ่งที่เขาจะสนใจเป็นพิเศษคือสินค้าที่มีการันตี เครื่องมืออย่าง Craftsman หรือ Harbor Freight มีประกันตลอดชีพ ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

“คุณสามารถซื้อเครื่องมือที่ราคาแพงกว่านี้ได้ แต่ถ้าคุณซื้อแบรนด์พวกนี้ ถ้ามันเสียเขาก็เปลี่ยนให้ สำหรับผมคิดว่านั่นเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่าที่สุดแล้ว”