เรื่องราวหุ้น STARK ตอนนี้ถือว่าเป็นมหากาพย์การตบแต่งหุ้น (“Forge”) ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากบริษัทที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน งบการเงินสวยหรู น่าเชื่อถือ จนมีนักลงทุนมากมายเข้ามาร่วมซื้อหุ้นขอเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ที่ไหนได้ งบการเงินที่สวยหรูนั้นถูกตบแต่งขึ้นมา สร้างยอดขาย บริษัทที่จ่าย สินค้าคงคลัง ที่ไม่มีอยู่จริง เป็นกำไรปลอม ๆ ที่หลอกให้นักลงทุนหลงเชื่อจนสร้างความเสียหายระดับหมื่นล้านบาท

จนทำให้เกิดคำถามว่า “ทำไม STARK ถึงกล้า” ที่จะทำแบบนี้?

‘คุณอาร์ต-ชัชวนันท์ สันธิเดช’ นักลงทุน นักพูด นักเขียน นักแปล ด้านการลงทุน มีประสบการณ์ในการลงทุนกว่า 17 ปี ผู้ก่อตั้งแฟนเพจ ‘Club VI’ บอกว่า

“เพราะกฎหมายมันแค่ ‘เจอ จ่าย จบ’ นั่นเอง”

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อคนที่กระทำผิดถูกจับได้ ก็แค่โดนมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งเปิดช่องไว้ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) โดนปรับ ชดใช้เงิน จบแยกย้ายกันไป แต่ถ้าจับไม่ได้ก็รวยไปเลย เมื่อไม่โดนคดีอาญา คนก็กล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะลอง เพราะมันไม่มีต้องไปติดคุกและนั่นแหละคือปัญหาว่าทำไมความเสี่ยงในการลงทุนตลาดหุ้นไทยถึงยังค่อนข้างสูงมาก ๆ

“ยังมีหุ้นอีกหลายๆ ตัวในอดีต ที่เป็นกรณีตบแต่งบัญชีเช่นกัน นักลงทุนก็ไปลงกันเยอะ VI ก็ลง เจ็บกันไปเยอะ”

คุณอาร์ตกล่าวย้อนไปถึงหุ้นที่เคยเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นบ้านเรา
“แต่กับ STARK เลเวลมันใหญ่มาก มีคนเสียหายค่อนข้างเยอะ มูลค่าหลายหมื่นล้าน มันน่าตกใจมาก”

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ไปอยู่ไหน?

“มันต้องแยกเป็นสองกรณี คือกรณีปั่นหุ้น ใช้อินไซด์ อันนี้ กลต. ควรจะเข้ามาดูแลอย่างชัดเจน ส่วนกรณีที่สองคือตบแต่งงบ อันนี้เราจะโทษ กลต. อย่างเดียวก็ไม่ได้ อย่าลืมว่านี่คือผู้ตรวจบัญชี BIG4 ซึ่งมีความน่าเชื่อถือระดับโลก แต่นี่แหละยิ่งทำให้เราในฐานะนักลงทุนรายย่อยต้องกลับมาดูแลผลประโยชน์ของตัวเองให้ดี ๆ”

คุณอาร์ตชี้ให้เห็นว่าปัญหาเรื่องการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายใน หรือการใช้ข้อมูลเท็จในตลาดหุ้นบ้านเรานั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งเมื่อเทียบกับตลาดทุนที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ซึ่งบ้านเราตลาดหุ้นแม้จะเป็นตลาดหุ้นที่ขนาดไม่ใหญ่ แต่ก็ไม่เพิ่งเกิดมันไม่ควรเกิดขึ้นบ่อยขนาดนี้ เหตุผลก็เพราะว่าคนผิดแทบไม่เคยต้องติดคุกผู้กระทำผิดครั้งแรก ก็ยังมีกระทำผิดซ้ำได้อีก

กฎหมาย ‘เจอ จ่าย จบ’ หรือมาตรการลงโทษทางแพ่งไม่เพียงพอให้คนผิดยำเกรง โชคร้ายเลยตกอยู่กับนักลงทุน

เทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกฎหมายมันค่อนข้างเบา หน่วยงานอาจจะดูแลกำกับช้าเกินไป และกระบวนการพิสูจน์ทำได้ยาก (แถมยังมีเรื่องความโปร่งใสของหน่วยงานที่ตรวจสอบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกต่างหาก)

มันคือปัญหาของธรรมาภิบาลของผู้มีอำนาจในบริษัทขณะนั้น ซึ่งแน่นอนว่าวิธีแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่างการแก้กฎหมายให้เข้มงวด รัดกุม และมีการเอาผิดอย่างจริงจังมากขึ้น อาจจะเพิ่มค่าปรับทางแพ่งสูงขึ้นจาก 2 เท่าเป็น 5 เท่าของประโยชน์ที่ได้รับ (เทียบเท่ากับประเทศจีน) หรือเพิ่มโทษจำคุกขั้นสูงจาก 2 ปี เป็น 10 ปี (เทียบเท่าอินเดีย) หรือ 20 ปี (เทียบเท่าอเมริกา)

นอกจากนั้นควรมีกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ปรับปรุงกระบวนการแจ้งเบาะแสกับ กลต. และมอบเงินรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจก็น่าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้

แต่การแก้ไขที่ต้นตอเองก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน คุณอาร์ตบอกว่า “เราไม่รู้หรอกว่าเรื่องกฎหมายจะแก้ได้เมื่อไหร่ แต่เราก็ต้องมีความหวัง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์แบบนี้ด้วย”

โดยวิธีที่คุณอาร์ตแนะนำมีอยู่ 3 อย่าง

1. ตรวจสอบธรรมาภิบาลของผู้บริหารให้ดี

แม้มันจะตรวจสอบได้ยากสักหน่อย แต่ถ้าเราลงทุนหุ้นตัวไหนก็ควรศึกษาเกี่ยวกับผู้บริหารในตอนนั้นว่าเป็นไปเป็นมายังไง มีข่าวอะไรเสียหายรึเปล่า คอยติดตามอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะทำได้ยากหน่อยถ้าถือหุ้นหลายตัว

2. ให้กระจายความเสี่ยง

อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียว ซึ่งถ้าเกิดแจ็กพอตแตกมาเหมือน STARK ทุกอย่างสามารถพังได้เลย

3. กระจายไปลงต่างหุ้นต่างประเทศบ้าง

นี่ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ต้องเลือกตลาดที่มีข้อกฎหมายที่แข็งแกร่ง เอาผิดจริงและน่าเชื่อถือ อย่างอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่ว่ากรณีแบบ STARK จะไม่เกิด แต่มันเกิดได้ยากกว่า

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับนักลงทุนรายย่อยหลายคนที่เรื่องราวของ STARK อาจจะทำให้รู้สึกหมดศรัทธาในตลาดหุ้นไทย แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด แม้จะไม่ได้เป็นตลาดหุ้นที่ร้อนแรงเติบโตเพราะเศรษฐกิจก็ค่อนข้างเติบโตช้าและไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ แต่ก็ยังมีบริษัทดี ๆ หุ้นที่ดีอยู่ในตลาดอีกไม่น้อย แม้จะต้องเฟ้นหามากหน่อยก็ตาม

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่บอกว่า

“การตบแต่งตัวเลขนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์ สิ่งเดียวที่ต้องมีคือความต้องการอันแรงกล้าที่จะหลอกลวงคนอื่นเท่านั้น”

การตบแต่งงบบัญชีของ STARK ถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เป็นโจรในคราบนักธุรกิจ ตั้งใจหลอกลวงผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง คนที่ผิดควรได้รับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา สุดท้ายเราก็ได้แต่หวังว่านักลงทุนที่โชคร้ายจะได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ไม่มากก็น้อย

ปล. ตอนนี้มีการรวมตัวกันของผู้เสียหายเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม นักลงทุนรายย่อยผู้ถือหุ้นสามัญที่ตกเป็นเหยื่อผู้เสียหายจากหุ้น STARK กรอกแบบฟอร์มออนไลน์ https://forms.office.com/Pages/ResponsePage.aspx?id=aJ9E3Ee9S0OiOxK7CpqamjI1gLgEUbBAlZJsmC7nqsNUQlFYMThKMDMwQUJQT1pIOFNBSFlLT1c2UyQlQCNjPTEu&fbclid=IwAR2-coJswSQDlhV1t_OQGQUIY2dBUl8sFiQRePj9JnF2ndT02op0G8OBNm0 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อนำไปสู่กระบวนการเรียกร้องความยุติธรรม