เครื่องบิน “คองคอร์ด (Concorde)” ถือเป็นเครื่องบินโดยสารที่น่าทึ่ง

ดีไซน์โฉบเฉี่ยว บินเร็วกว่าเสียงถึงสองเท่า บินไปลอนดอนจากนิวยอร์กใช้เวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมง (ปกติต้องใช้เวลาประมาณ ​7 ชั่วโมง) เพราะฉะนั้นตอนที่เริ่มมีการทดสอบบินบนน่านฟ้าจริงๆ จึงกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

แต่โปรเจกต์การนำเครื่องบินคองคอร์ดมาใช้เป็นยานพาหนะขนส่งผู้โดยสารกลับเต็มไปด้วยปัญหา

อย่างแรกเลยคือเรื่องค่าใช้จ่าย

โครงการนี้เป็นการร่วมทุนกันระหว่างรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศส เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1962

ประเมินค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเอาไว้ที่ราวๆ 1,500 ล้านปอนด์ (คิดเป็นเงินในปัจจุบัน) แต่สุดท้ายใช้เงินไปมากกว่า 9,430 ล้านปอนด์ และผลิตเครื่องบินคองคอร์ดได้เพียง 20 ลำเท่านั้น

ในช่วงเริ่มต้นสายการบินหลายแห่งให้ความสนใจอยากจะซื้อ แต่สุดท้ายก็ถอยเพราะเจอประเด็นหลายอย่าง

- ใช้เชื้อเพลิงในปริมาณที่สูงกว่าเครื่องบินทั่วไป ถ้าจะใช้คองคอร์ดต้องปรับค่าตั๋วเพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ 30 เท่าของราคาตั๋วที่ขายกันปกติ
- ประเด็นเรื่องเสียงที่ดังมากๆ หากบินผ่านในเมืองจะเกิดเสียงรบกวนประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงจำกัดเส้นทางการเดินทางระหว่างประเทศบนมหาสมุทรเท่านั้น
- ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่สูงกว่าเครื่องบินทั่วไป และกลายเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัยตามมา

กว่าจะได้เครื่องต้นแบบและเริ่มบินได้จริงๆ ก็ปาเข้าไปปี 1976 หรือประมาณสิบกว่าปีจากวันที่รัฐบาลสองประเทศลงนามสัญญากัน และสุดท้ายกลายเป็นว่ามีเพียง Air France และ British Airways เพียงสองสายการบินเท่านั้นที่ซื้อและนำเครื่องบินคองคอร์ดไปใช้งาน

เมื่อเริ่มถูกนำมาใช้งานจริงๆ ค่าใช้จ่ายก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลทั้งสองประเทศก็แบกค่าใช้จ่ายไว้เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่ยาวนานถึง 27 ปี ตั้งแต่ 1976-2003

และที่ทำให้โครงการนี้ยุติลงก็เพราะ อุบัติเหตุเครื่องบินคองคอร์ดตกระหว่างออกตัวขึ้นในปี 2001 จนทำให้ผู้โดยสารรวมถึงเจ้าหน้าที่บนเครื่องกว่า 109 คนเสียชีวิตทั้งลำ (รวมถึงประชาชนทั่วไปอีก 4 คนที่อยู่ในโรงแรมที่คองคอร์ดบินไปชนด้วย) และประเด็นเรื่องการโดยสารที่เข้มงวดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ที่อเมริกา�

เมื่ออารมณ์ทำให้เรายึดติดกับต้นทุนที่เสียไปแล้ว

ถึงตรงนี้เราอาจจะเริ่มตั้งคำถามว่า “ทำไมรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสถึงลากโปรเจกต์นี้มานานหลายทศวรรษ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่น่ารอด เพราะมีปัญหามากมาย?” “ทำไมไม่หยุดใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อประคองโครงการนี้ให้เร็วกว่านี้ แล้วไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นที่จำเป็นมากกว่า?”

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “อคติของต้นทุนจม” หรือ Sunk Cost Fallacy ครับ (หลายคนเรียกว่า Concorde Fallacy)

ลองยกตัวอย่างง่ายๆ แบบนี้ก็ได้ครับว่าเราซื้อตั๋วหนังไป 200 บาท เข้าไปดูได้ประมาณ 1/3 ของเรื่องแล้วรู้สึกว่าไม่อยากดูต่อแล้ว เพราะไม่ใช่แนว ไม่ชอบเนื้อเรื่อง ฯลฯ แต่ก็ฝืนดูไป เพราะไม่อยากเสียดายเงินที่จ่ายไปแล้ว

หรือการประคับประคองความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้ว่าปลายทางยังไงก็จะเลิกกัน แฟนนอกใจครั้งแล้วครั้งเล่า พอถูกจับได้ก็ขอโทษ และดำเนินความสัมพันธ์นั้นต่อไป

คนที่ตกอยู่ในวังวนความคิดแบบนี้คือคนที่คิดว่า “เราลงทุนกับมันไปมากแล้ว ถ้าหยุดตอนนี้ก็เท่ากับว่าทุกอย่างที่ทำมานั้นเสียเปล่าไปหมดเลยสิ”

อคติอันนี้เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะมันสามารถกระทบกับเวลา ความสัมพันธ์ พลังงานชีวิต และเงินทองของเราได้เลยทีเดียว

ลองดูอย่างนักลงทุนก็ได้ เวลาจะขายหุ้น พวกเขาจะอ้างอิงจากราคาที่ซื้อมา อยากขายก็ต่อเมื่อหุ้นมันขึ้น ราคาสูงกว่าที่ตอนซื้อ แต่มันอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะสำหรับนักลงทุนแล้วราคาที่ซื้อหุ้นไม่ควรมามีบทบาทสำหรับการตัดสินใจขาย สิ่งสำคัญคือผลตอบแทนในอนาคตและทิศทางแนวโน้มที่หุ้นตัวนี้จะไปต่างหาก

ถ้าเรารู้ว่าหุ้นตัวนี้ไม่ดี บริษัทโกงบัญชี ผู้บริหารปั่นหุ้น หรือ วิเคราะห์แล้วว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมยังไงก็ไม่รอด การถือต่อไปไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่ดีเลย การยึดคติว่า ‘ไม่ขายไม่ขาดทุน’ อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะเราอย่าลืมว่าการไม่ขายก็ทำให้เราเสียโอกาสในการนำเงินตรงนั้น (แม้ถ้าขายแล้วจะไม่ได้เท่าเดิม) ไปลงทุนในช่องทางอื่นด้วย

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม การ ‘ตัดขาดทุน’ จึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับนักลงทุนทุกคนเมื่อรู้ว่ากำลังไปผิดทาง

อคติของต้นทุนจมเกิดขึ้นเมื่อเราปล่อยให้ต้นทุนที่ลงไปแล้วมากำหนด/กระทบการตัดสินใจของเราในวันนี้ ทั้งๆ ที่เงิน/ทุน/เวลา/ความรู้สึกที่ลงไปแล้ว ไม่สามารถเอากลับคืนมาได้อีกต่อไป

พูดอีกอย่างคือ สิ่งที่เสียไปแล้ว...ก็คือเสียไปแล้วนั่นแหละครับ

รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสคิดว่าพวกเขาลงทุนไปเยอะแล้ว ถ้าล้มเลิกกลางคันก็คือความล้มเหลว ยอมรับความพ่ายแพ้สิ

การคิดอย่างมีเหตุผลคือการชั่งน้ำหนักความน่าจะเป็นและวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่ามันจะออกมาทางไหน อารมณ์ที่ยึดติดกับต้นทุนที่เสียไปแล้วไม่ควรถูกนำมาเกี่ยวข้อง

เครื่องบินคองคอร์ดถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน

ในหนังสือ “The Art of Thinking Clearly” (52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม) โดย รอล์ฟ โดเบลลี (Rolf Dobelli) ยกตัวอย่างอีกอันคือสงครามเวียดนามที่ “อเมริกาเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนามชนิดถอนตัวไม่ขึ้นก็เพราะเหตุผลนี้ พวกเขาคิดว่า ‘เราเสียทหารไปแล้วตั้งมากมาย จะมายอมแพ้เอาตอนนี้ไม่ได้’”

(มีคนเปรียบเทียบสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ว่าตอนนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน(Vladimir Putin) ก็กำลังตกเป็นเหยื่อของอคติของต้นทุนจมเช่นเดียวกัน)

อคติทางความคิดนี้ทำให้ทุ่มต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ถ้าหยุดตรงนี้ ตอนนี้ที่แผลยังเล็กความเสียหายก็จะน้อยกว่า

มีคำกล่าวหนึ่งของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวยมากที่สุดคนหนึ่งของโลกที่บอกว่า

“เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังอยู่ในหลุม สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้คือหยุดขุดหลุมต่อไป”

แก้ไขยังไงดี?

แน่นอนครับว่าหลายๆ โปรเจกต์หรือสิ่งที่เราลงทุนไปนั้นต้องอาศัยเวลาเพื่อจะให้มันออกดอกออกผล ทุ่มเทให้กับมันเพื่อให้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา สิ่งที่เราต้องระวังคือการพยายาม ‘หาเหตุผลผิดๆ’ มาเข้าข้างการตัดสินใจผิดๆ ให้กับตัวเอง

สิ่งสำคัญคือไม่ว่าคุณจะลงทุนไปเท่าไหร่ ไม่สำคัญหรอก สำคัญแค่ว่าผลตอบแทนต่อจากนี้จะมากแค่ไหนต่างหาก

ลองถามตัวเองครับว่า

- เรากำลังมี โปรเจกต์/ความสัมพันธ์/งาน/การลงทุน อะไรไหมที่ยังทำต่อเพียงเพราะ ‘เราลงทุนกับมันมาเยอะแล้ว’ แต่ไม่มีโอกาสเลยที่มันจะเติบโตหรืองอกงามได้ในอนาคต?

- มี โปรเจกต์/ความสัมพันธ์/งาน/การลงทุน อันไหนที่เราต้องลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ แม้จะขาดทุนไปหลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตามไหม?

- ถ้าตัดต้นทุนทุกอย่างที่มีทิ้งไปจนหมด เราจะยังพร้อมลงทุนกับ โปรเจกต์/ความสัมพันธ์/งาน/การลงทุน อันนี้ต่อไปในอนาคตรึเปล่า?