ผ่านเส้นตายยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2565 กันไปแล้ว เข้าสู่เส้นทางของภาษีปี 2566 ที่ผ่านมาเห็นข่าวตามโซเชียลฯ หลายคนร้องจ๊าก ไม่ใช่แค่ค่าไฟแพง ยังต้องเสียภาษีแพงอีกด้วย ทำนองรายได้ยังหายาก กลับโดนซ้ำเติมด้วยค่าใช้จ่ายที่แพงมากด้วย ค่าไฟเราลดใช้ไฟ ก็พอยังลดได้บ้าง แต่ภาษี ให้เราลดรายได้ เราคงไม่ยอม งั้นทำยังไงดี

ก่อนอื่น เรามาดูกันก่อนนะ เราควรวางแผนภาษีมั๊ย มีคำกล่าวเกี่ยวกับเรื่องภาษีไว้ว่า “ที่ใดภาษีแพง ที่นั่นควรวางแผนภาษี” เพราะเรื่องของภาษีเป็นเรื่องของ “lose it or use it” คือ “เราจะยอมเสียภาษี หรือ เราจะทวงภาษีคืน”

ถ้าสมมติเราอยู่ในฐานภาษีสูงสุดที่อัตรา 30% คิดแบบง่ายๆ เราเหนื่อยหาเงิน 12 เดือน แทนที่เราจะใช้เงินที่เหนื่อยหามาได้เต็ม 12 เดือน เรากลับต้องเสียภาษีให้สรรพากรไป 30% ของ 12 เดือน เท่ากับ 3.6 เดือน เหลือเงินใช้แค่ 8.4 เดือนเท่านั้น

ก็มาคิดดูนะ จะยอมเสีย 3.6 เดือนให้สรรพากร หรือทวงกลับมาเป็นค่าเทอมลูก ค่าใช้จ่ายในครอบครัว อ้อ! ไว้จ่ายค่าไฟด้วย ถ้าเราเลือกที่จะทวงภาษีคืน เรามาวางแผนภาษีที่จะเสียภาษีน้อยๆ แต่ถูกกฎหมายกันนะครับ

“รู้เขา รู้เรา รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง” จะวางแผนภาษีได้ดี เราต้องรู้ก่อนว่าสรรพากรคิดภาษียังไง?

ภาษีเงินได้ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(ซึ่ง เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน)

ซึ่งสูตรคิดภาษีเงินได้ของสรรพากร จะคิดจากเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิยิ่งสูง ภาษีเงินได้ยิ่งแพง แถมอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย เป็นอัตราภาษีก้าวหน้า คือ เงินได้สุทธิยิ่งสูง อัตราภาษีเงินได้ยิ่งแพงมากขึ้นเป็นตัวเร่งไปอีก

ดังนั้นถ้าอยากประหยัดภาษี ก็ต้องทำเงินได้สุทธิให้ต่ำให้มากที่สุด ซึ่งทำได้หลักๆ 3 กลยุทธ์ คือ

(1) ทำลายเงินได้พึงประเมิน
(2) เพิ่มค่าใช้จ่าย
(3) เพิ่มค่าลดหย่อน

แต่จะให้ทำลายเงินได้พึงประเมินก็ดูยังไงๆ วิธีที่ง่ายที่สุด แถมใครก็ทำได้ ก็คือ กลยุทธ์การเพิ่มค่าลดหย่อน ค่าลดหย่อนหลักปี 2566 ก็เหมือนปีที่ผ่านมา แบ่งได้ง่ายๆ เป็น 6 กลุ่ม คือ

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

ค่าลดหย่อนส่วนตัว

60,000 บาท ผู้ที่ยื่นภาษีมีสิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวโดยอัตโนมัติ

ค่าลดหย่อนคู่สมรส

60,000 บาท ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้

ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท โดยใช้ใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน ใช้ได้ทั้ง รพ.รัฐและเอกชน กรณีที่สามีภรรยายื่นภาษีรวมกัน ให้คนที่ยื่นภาษีหลักเป็นคนได้ใช้สิทธิ แต่ถ้าสามีภรรยาต่างฝ่ายต่างยื่นภาษี คนที่ใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้ต้องเป็นภรรยาคนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าสามี ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ภรรยาเท่านั้นมีสิทธิลดหย่อน

ค่าลดหย่อนบุตร

ให้หักได้ทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย โดยให้หักได้คนละ 30,000 – 60,000 บาท ถ้าลดหย่อนเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมายลดหย่อนได้ไม่จำกัดคน แต่ถ้าจะลดหย่อนบุตรบุญธรรมด้วย จำนวนบุตรที่ลดหย่อนทั้งหมด(รวมบุตรบุญธรรม) ไม่เกิน 3 คนโดยมีรายละเอียด ดังนี้ลูกเกิดก่อนปี 2561 : ลดหย่อนแบบเหมาคนละ 30,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ก็ตาม

  • ลูกเกิดในปี 2561 - ปัจจุบัน : เฉพาะลูกคนแรกลดหย่อน 30,000 บาท ถ้าเป็นลูกคนที่ 2 ขึ้นไปลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

  • สำหรับ “แม่” ลูกจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอไม่ว่าแม่จะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม

  • สำหรับ “พ่อ” ลูกที่จะใช้สิทธิลดหย่อนได้ต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยบุตรจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เกิดจากการจดทะเบียนสมรสของบิดามารดา จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาให้เป็นบุตร (ต่างจากกรณีมรดกนะ บุตรนอกสมรส ถ้ามีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพ่อมีการอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้การศึกษาหรือให้ใช้นามสกุล ถือเป็นการรับรองโดยพฤติการณ์หรือโดยพฤตินัย เด็กก็จะมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของพ่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627)

ค่าลดหย่อนบิดามารดา หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีลูกกตัญญู”

ให้หักลดหย่อนพ่อแม่ของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาทและหักลดหย่อนได้สำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้อีกคนละ 30,000 บาท เงื่อนไขพ่อแม่ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่ต้องมีเงินได้ในปีที่ใช้สิทธิ ไม่เกิน 30,000 บาท ลูกที่จะสิทธินี้ได้ต้องเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อแม่เท่านั้น (บุตรบุญธรรมใช้สิทธินี้ไม่ได้) ถ้าพ่อแม่มีลูกหลายคน ใช้สิทธิได้แค่ลูกคนเดียว

ค่าอุปการะคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ

ไม่เกิน 60,000 บาท/คน เงื่อนไขบุคคลทุพพลภาพ หรือผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น

2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน

ประกันสังคม

อัตราเงินสมทบประกันสังคม ม.33 อยู่ที่ 5% ของเงินเดือน (เพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) เท่ากับเงินสมทบสูงสุด 750 บาท/เดือน หรือเท่ากับ 9,000 บาท/ปี แต่ถ้าเป็นผู้ประกันตน ม.39 อัตราเงินสมทบ 432 บาท/เดือน หรือเท่ากับ 5,184 บาท/ปี

เบี้ยประกันชีวิต

ลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท เงื่อนไข ประกันชีวิตที่จะลดหย่อนได้ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และทำประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น

เบี้ยประกันสุขภาพ

ลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท/ปี เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท/ปี

เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่

ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี แต่ไม่จำเป็นต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป

เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ

ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนกลุ่มเงินออมและการลงทุน

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

หักลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

ใช้ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ตามจ่ายจริง ไม่เกิน 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้ว ไม่เกิน 500,000 บาท

กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

ได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือกองทุนดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี

4. ค่าลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย และต้องเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากในประเทศ ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา

ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของยอดเงินบริจาค โดยรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอย่างอื่น

เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ

ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของยอดเงินบริจาค โดยรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอย่างอื่นแล้ว

เงินบริจาคทั่วไป

เช่น บริจาคเพื่อสาธารณกุศลให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ เป็นต้น ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอย่างอื่น และค่าลดหย่อนแบบจ่าย 1 ได้ 2 แล้ว

เงินบริจาคให้พรรคการเมือง

ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

6. ค่าลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

สิทธิลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน 2566 ผู้มีเงินได้สามารถนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566) มาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท

ทั้งๆ ที่เรื่องของภาษีบุคคล เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ น่าแปลกที่ทำไมถึงไม่มีการสอนในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อนๆ คิดว่าเป็นเพราะอะไรครับ