เป็นสิ่งที่แน่นอนเมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองหรือเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน สุดท้ายมันก็จะส่งผลต่อไปยังตลาดหุ้นเสมอ ไม่ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะอยู่ในเชิงบวกหรือลบก็ตาม แน่นอนว่าม็อบทางการเมืองก็ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน

วันนี้ทาง aomMoney ได้รวมเหตุการณ์ต่างๆหรือม็อบทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและผลกระทบของมันที่มีต่อตลาดหุ้นว่ามากน้อยเพียงใด

พฤษภาทมิฬ (17 พ.ค. 2535 - 20 พ.ค. 2535)

เหตุการณ์ที่มีนักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วงโดยมีสาเหตุมาจากคณะ รสช. ซึ่งมี พล.อ. สุจินดา คราประยูร ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า ประกอบกับความน่าสงสัยของการเลือกผู้นำประเทศในขณะนั้น และหลายคนต่างก็มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นไม่เป็นธรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ มีผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก

จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ส่งผลให้ดัชนี SET Index ร่วงลงไปถึง 10.88% จาก 732.89 จุด ลงไปที่ 653.13 จุด หลังจากเหตุการณ์ได้จบลง ผ่านไปประมาณ 4 เดือน SET Index ก็กลับมาปกติ และยังเป็นขาขึ้นอีกด้วย โดยจาก 700 จุด ขึ้นไปสูงสุดเกือบ 1,800 จุด ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี

แกนนำพันธมิตรฯบุกยึดท่าอากาศยาน (24 พ.ย. 2551 - 3 ธ.ค. 2551)

กลุ่มพันธมิตรฯได้บุกเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ และประกาศจะขับไล่รัฐบาล นายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกไปให้ได้ ส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมแล้วราว 290,000 ล้านบาท

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้นักลงทุนต่างขายหุ้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ตลาดหุ้นไทยลดลงจากระดับประมาณ 885 จุด มาทำจุดต่ำสุดของปีที่ระดับ 385 จุด ในเดือน พ.ย.51 หรือลดลง 500 จุด (57%) ภายในเวลา 6 เดือน

การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง (นปช.) ที่แยกราชประสงค์ (10 เม.ย. 2553 - 19 พ.ค. 2553)

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย โดยตอนนั้นมี พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมีการชุมนุมประท้วงอยู่หลายครั้ง จนนำไปสู่เหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือน พ.ค. 2553 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก

จากเหตุการณ์ถึงแม้จะไม่มีข่าวลบมากนัก แต่เมื่อถึงช่วงสลายการชุมนุม ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงไป 9.79% จาก 798.67 จุด ลงไปที่ 720.47 จุด ลดลงไป 78.2 จุด

กปปส. ม็อบนกหวีดสู่รัฐประหาร (29 พ.ย. 2556 - 22 พ.ค. 2557)

อีกหนึ่งการชุมนุมที่ยาวนานที่สุดร่วม 204 วัน โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยใช้สัญลักษณ์การชุมนุมเป็นการเป่านกหวีด

จากเหตุการณ์ส่งผลกระทบหลักๆแบ่งเป็น 2 ด้วยกัน

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่การชุมนุมมีระยะเวลายาวนานข้ามปี ส่งผลให้อัตราการท่องเที่ยวลดลง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงถึง 17% จาก 1,485 จุด ในเดือน ต.ค. 56 ลงไปที่ 1,230 จุด ในช่วงสิ้นปี

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่การชุมนุมมีความเข้มข้นมากขึ้นในเดือน พ.ค. 57 จนได้มีประกาศทำรัฐประหาร ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากจุดสูงสุด 1,426.52 จุด ถึงวันทำรัฐประหารลดลงอยู่ที่ 1,375.14 จุด ลงไป 51 จุด หรือประมาณ 3.58%

เยาวชนปลดแอก (19 ก.ย. 63)

กลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ รวมตัวชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อ คือ

1.ให้ยุบสภา
2. หยุดคุกคามประชาชน
3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สถานการณ์นี้ไม่ส่งผลกระทบการตลาดหุ้นมากนัก โดยวันที่ 19 ก.ย. 63 เป็นวันเสาร์ ซึ่งตลาดปิดอยู่ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 21 ก.ย. 63 ช่วงตลาดเปิด โดยดัชนีตลาดหุ้นลดลง 13.23 จุด (1.03%) จาก 1,295.35 จุด ลดลงอยู่ที่ 1,275.16 จุด

สำหรับนักลงทุนแล้วเราควรติดตามข่าวสารและตรวจสอบดูเสมอครับว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ของบ้านเมืองเป็นยังไงบ้าง การเมืองสงบพอรึยัง จังหวะไหนควรเข้า จังหวะไหนควรถือรอ เพราะช่วงที่บ้านเมืองยังผันผวน ความเสียหายกับการลงทุนก็อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดครับ