ความมั่งคั่งสำหรับคุณคืออะไร?

หลายคนอาจจะมีตัวเลขสักตัวในหัวว่าถ้ามีทรัพย์สินมูลค่ารวม xxx บาท ก็ถือว่ามั่งคั่งแล้ว

แต่รายงานจาก Charles Schwab (ผู้ให้บริการการเงินและการลงทุนชื่อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปี 2023 มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าการ ‘รู้สึกว่ามั่งคั่ง’ นั้นไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมายเท่ากับตัวเลขมูลค่าสินทรัพย์ที่คิดเอาไว้เลยด้วยซ้ำ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเราสามารถรู้สึกว่าตัวเองมั่งคั่งได้ แม้มูลค่าทางทรัพย์สิน (ไม่ว่าจะเป็นเงินในบัญชี เงินลงทุน กองทุนเกษียณ ฯลฯ) จะมีไม่ถึงตัวเลข xxx แบบที่คิดก็ตาม

ความรู้สึกว่ามั่งคั่ง_ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ตัวเลขในบัญชีเพียงอย่างเดียว

โดยแบบสอบถามชื่อว่า “Modern Wealth Survey” (แบบสอบถามเกี่ยวกับความมั่งคั่งสมัยใหม่) ถูกจัดทำขึ้นในเดือนมีนาคม 2023 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,200 คน อายุตั้งแต่ 21 - 75 ปี เพราะฉะนั้นครอบคลุมทั้ง Gen Z, Millenials, Gen X และ Boomers เลย

คำถามหลัก 2 ข้อคือ

1. คุณคิดว่าต้องมีมูลค่าทางทรัพย์สินเท่าไหร่ถึงจะคิดว่ามั่งคั่ง?
2. คุณคิดว่าตอนนี้คุณรู้สึกว่าตัวเองมั่งคั่งรึเปล่า?

โดยเฉลี่ยคำตอบของคำถามแรกคือ 2.2 ล้านเหรียญ (ประมาณ 77 ล้านบาท) ไม่ได้น่าแปลกใจอะไร

แต่คำตอบของคำถามที่สองพบว่า คนที่ตอบว่าตัวเอง ‘รู้สึกว่ามั่งคั่ง’ นั้นมีมูลค่าทางทรัพย์สินเฉลี่ยเพียง 560,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 20 ล้านบาท) หรือประมาณ 1/4 ของคำตอบจากข้อแรกเท่านั้น

แบบสอบถามชิ้นนี้บ่งบอกว่า ‘ความรู้สึกว่ามั่งคั่ง’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ตัวเลขในบัญชีเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างมากที่เป็นส่วนประกอบของความรู้สึกมั่งคั่ง ทั้งเรื่องสุขภาพที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดี งานที่เติมเต็ม ไม่มีหนี้สินท่วมหัว และความรู้สึกมั่นคงทางด้านการเงิน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรารู้สึกมั่งคั่งได้แม้มูลค่าทางทรัพย์สินอาจจะไม่ได้มากเท่าไหร่นัก

การวางแผนการเงินเป็นสิ่งสำคัญ

โดยรวมแล้วกว่า 61% บอกว่าการมีเวลาในชีวิตสำคัญกว่าการมีเงินเยอะๆ และ 92% ของกลุ่มคนที่วางแผนการเงินของตัวเองเชื่อว่าจะไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางเอาไว้ การวางแผนทางการเงินหมายถึงการตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเงินเท่าไหร่ ลงทุนกับอะไร ใช้จ่ายแต่ละเดือนกับอะไรบ้าง จัดการหนี้ยังไง ทำประกันตรงไหนบ้าง ฯลฯ

การวางแผนการเงินช่วยเสริมความมั่นใจและปลอดภัยทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกมั่งคั่งในชีวิต แต่ที่น่าตกใจคือมีเพียง 35% เท่านั้นที่วางแผนการเงินอย่างจริงจัง ส่วนที่เหลือบางส่วนบอกว่ารายได้ไม่เยอะจึงไม่วางแผน ดูยุ่งยาก ไม่มีเวลา และไม่มีแผนจะทำอะไรใหญ่ๆ ในชีวิต ซึ่งสำหรับคนที่ยังไม่เคยวางแผนการเงินควรหันมาเริ่มกันตั้งแต่ตอนนี้

คุณ สุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย กรรมการอิสระและที่ปรึกษาทางการเงินเคยเขียนเอาไว้ว่า

“กระบวนของการวางแผนทางการเงินฟังดูแล้วอาจเป็นศัพท์ที่ยากและไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว การวางแผนทางการเงินก็คือการวางแผนชีวิต เราอยากมีชีวิตยังไง อยากใช้จ่ายเท่าไหร่ และมีเรื่องราวที่ต้องเตรียมพร้อมยังไงบ้าง”

“หลายคนอาจจะบอกว่าชีวิตมันไม่ได้มีโอกาสให้วางแผนหรอก เพราะทุกวันนี้มีอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะ ทุกอย่างเข้ามาปะทะจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ใช่ไหมคะ”

“จริงๆ การวางแผนทางการเงิน ไม่ใช่การวางแผนระยะยาวอย่างเดียวนะคะ แค่เราวางแผนสำหรับชั่วโมงหน้า หรือวางแผนสำหรับอาทิตย์นี้ ก็ถือเป็นการวางแผนทางการเงินทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าตัวเราต้องถามตัวเองว่าอยากได้แผนสำหรับอะไร”

“ทุกครั้งที่คุยเรื่องนี้ ทุกคนจะพูดถึงนิยามความรวยเสมอ แต่นิยามคำว่ารวยของเราไม่ได้วัดที่เม็ดเงิน แต่คือ การมีชีวิตในวันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ แล้วมีชีวิตในวันมะรืนที่ดีกว่าวันพรุ่งนี้ คือทุกวันขอให้ดีขึ้น ซึ่งคำว่าดีขึ้นไม่ได้วัดด้วยเงินเลยนะคะ ดีขึ้นอาจจะหมายถึงสุขภาพดีขึ้น มีเวลาในชีวิตมากขึ้น ได้ทำอะไรอย่างที่อยากทำมากขึ้น ได้ทำอะไรที่มีความหมาย หรือสร้างแรงบันดาลใจแก่คนอื่น”

หาเงินให้ได้เยอะๆ อาจไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

การวางแผนสำหรับช่วงวัยเกษียณถือว่าเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความมั่นคงให้กับช่วงบั้นปลายชีวิต ลองวาดภาพว่าชีวิตจะเป็นแบบไหน คำนวณออกมาว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ เก็บเงินอีกเท่าไหร่เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายตรงนั้นให้ได้

ระหว่างทางอย่าลืมเรื่องการทำประกันต่างๆ และอัปเดตพินัยกรรมเผื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันด้วย

จากข้อมูลตรงนี้เราเห็นได้เลยว่า การมุ่งแต่จะมีทรัพย์สินและเงินในบัญชีที่เยอะขึ้นนั้นอาจไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง ความรู้สึกมั่งคั่งนั้นเป็นอะไรที่มากกว่าแค่พยายามมีเงินให้มากที่สุดเท่านั้น แน่นอนว่าเงินยังคงเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ แต่ก็มีองค์ประกอบอื่นอีกมากมายที่มีส่วนร่วมทำเรารู้สึกพึงพอใจในทุกวันด้วย

ความมั่งคั่งที่แท้จริงนั้นมาจากความรู้สึกมั่นใจในสถานการณ์การเงินของตัวเอง ประสบการณ์ชีวิตที่มีความสุข ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดี สุขภาพที่แข็งแรงที่ทำให้คุณตื่นมาทำงานที่มีความหมายกับตัวเองและสังคม ตรงกับคุณค่าในชีวิต เพราะฉะนั้นอย่าตัดสินความมั่งคั่งในชีวิตด้วยตัวเลขในบัญชีเพียงอย่างเดียว